เผยข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ อธิบายปรากฏการณ์นกกระยางบินเหนือพระเมรุมาศ ค่ำคืนวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9
เมื่อค่ำคืนวันที่ 26 ตุลาคม 2566 ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้เกิดปรากฏการณ์ชวนน่าอัศจรรย์ใจขึ้น เมื่อมีกลุ่มนกกระยางขาวบินวนเหนือพระเมรุมาศ ในเวลา 22.00 น. ตามกำหนดถวายพระเพลิงพระบรมศพจริง โดยมีผู้บันทึกทั้งภาพและคลิปวิดีโอได้มากมาย ซึ่งก่อนหน้านี้ นักวิชาการยังให้คำตอบไม่ได้... ทุกคนต่างเชื่อว่า เป็นพระบารมีของในหลวง รัชกาลที่ 9 และนกฝูงนี้มาเพื่อรับเทวดากลับสรวงสวรรค์
สำหรับเรื่องนี้ วันที่ 28 ตุลาคม 2560 เฟซบุ๊กเพจ Drama-addict ได้แชร์บทความน่าสนใจจากเพจ พันศาสตร์พันภาษา ที่ได้อธิบายเกี่ยวกับปรากฏการณ์ผูงนกกระยางขาวดังกล่าว ตามหลักวิทยาศาสตร์และธรรมชาติของนก ในมุมมองของนักชีววิทยา โดยระบุว่า จากเหตุการณ์ที่นกสีฃาวบินผ่านพระเมรุมาศในช่วงหมายกำหนดการถวายเพลิงพระศพเมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม 2560 จากการให้ความคิดเห็นของนักดูนกในพื้นที่ลานพิธีที่พบเห็นนกสีขาวบินนั้น พบว่ามีสองฝูง ฝูงแรกมี 10 ตัว และฝูงที่สองมี 12 ตัว และหลายท่านให้ความเห็นว่า น่าจะเป็น นกยางควาย ชนิดย่อยบูรพา Bubulcus ibis (Linnaeus, 1758) subspecies coromandus (Boddaert, 1783) ซึ่งพบในนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และ ทางใต้และตะวันออกของเอเชีย นกยางชนิดนี้ เป็นนกยางที่แปลกกว่านกยางชนิดอื่น เพราะมักหากินใกล้สัตว์สี่เท้า อย่างวัวควาย ช้างม้า เพื่อจับแมลงที่กระโดดหนีจากการย่ำของสัตว์สี่เท้าเหล่านี้ ต่างจากนกยางอื่นๆ ที่หากินริมน้ำ หรือแหล่งน้ำตื้นเพื่อหาปลา และสัตว์น้ำอื่นๆ และนกยางควายมักหากินเวลากลางวัน และเกาะคอนนอนเวลากลางคืน
เมื่อพิจารณาถึงฝูงนกสีขาวที่บินผ่านพระเมรุมาศ ถึงความเป็นไปได้ว่า นกบินไปไหน และบินมาทำไมตอนนี้ มีอะไรที่ผิดปกติหรือไม่ เสียงปืนมีผลต่อนกฝูงนี้อย่างไร สมมติฐานที่มีคนอธิบายก่อนหน้านี้ คือ นกยางควายบูรพาที่อาศัยหากินและหลับนอนในพระตำหนักสวนจิตรลดารโหฐาน เมื่อมียิงปืนสลุตเฉลิมพระเกียรติ ทำให้นกแตกฝูงจากคอนนอน และบินมุ่งหน้ามาท้องสนามหลวง
เมื่อวิเคราะห์สมมติฐานนี้พบว่ามีจุดบกพร่องอยู่คือ หนึ่ง การยิงสลุต มีทั้งวัน ถ้านกที่อยู่พระตำหนักจิตลดา จะตกใจบินหนีไป ทำไมไม่บินตั้งแต่กลางวัน แต่อาจจะมีคนแย้งกว่า กลางวันเสียงเดินทางได้ระยะสั้นกว่า กลางคืนเสียงเดินทางได้ไกลและดังชัดเจนกว่า แต่มีข้อสงสัยมาก ๆ ที่ตอบไม่ได้คือ ถ้านกยางตกใจเสียงปืนสลุต จากลานพระเมรุมาศ และตกใจบินหนี ทำไมไม่บินหนีไปทิศตรงข้ามกับเสียงปืนใหญ่นั้น แต่กลับบินเข้าหาและบินผ่านไป หรือจะบอกว่านกยางบินมาดูเสียงก็คงไม่ได้ ดังนั้น สมมติฐานนี้น่าจะตกไป
ตั้งสมมติฐานใหม่โดยการจำแนกชนิดตามนักดูนกที่เห็นนกด้วยตาตัวเองว่าเป็นนกยางควายบูรพา โดยตั้งสมมติฐานต่อว่า นกสองฝูงนี้ กำลังอพยพหนีหนาวลงใต้ และเผอิญผ่านมาทางลานพระเมรุมาศพอดี ขั้นต่อไปวิเคราะห์สมมติฐาน และหาหลักฐานและข้อมูลสนับสนุน โดยปกตินกยางควายบูรพา ในภาคกลางของประเทศไทย เป็นนกประจำถิ่น คือจะทำรังวางไข่เลี้ยงลูก และเจริญเติบโตอยู่ในที่ราบลุ่มภาคกลางรอบกรุงเทพมหานครนี้ ไม่ได้หนีหนาวไปไหน เพราะภูมิอากาศบ้านเราไม่ได้หนาวเย็น และไม่ได้แห้งแล้งจนไม่มีแมลงให้นกยางควายหากิน (อ้างอิง ๑ Lekagul & Round, (1991); ๒ Robson, (2000) และ ๓ Kushlan & Hancock, (2005)
คำถามต่อไปคือ แล้วนกยางควายบูรพาเหล่านี้มาจากไหน จาก Kushlan & Hancock, (2005) ให้ข้อมูลไว้ว่านกที่อพยพมาในไทย น่าจะมาจากจีนตอนกลางหรือจีนตะวันตกเฉียงใต้ แถบมณฑลยูนนานและใกล้เคียง รวมถึงตอนเหนือของพม่า และตะวันออกของรัฐอัสสัมของอินเดีย คำถามต่อไปคือ ทำไมนกยางจึงอพยพมาช่วงนี้ จาก Kushlan & Hancock, (2005) ให้ข้อมูลว่านกยางควายส่วนใหญ่จะทำรังวางไข่ในช่วงหน้าฝนของพื้นที่นั้น เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหาร และให้ข้อมูลไว้ว่า อินเดียตอนเหนือ นกยางควายทำรังช่วงเดือนมิถุนายน ถึงสิงหาคม คำถามว่าแถบยูนนานพม่าเหนือ และอัสสัม จะเป็นช่วงเดียวกันหรือไม่ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวอยู่ห่างไกลทะเล จึงจะต้องมีพายุผ่านเข้าไปจึงจะฝนในปริมาณมากได้ ซึ่งจากรายงานข่าวในปีนี้ ก็จะเห็นว่ามีฝนเข้าจีนตอนใต้ในช่วงเดือนนั้นมากพอสมควร รวมถึงพายุจากมหาสมุทรอินเดียด้วย จึงมีความเป็นไปได้ที่นกยางควายในแถบยูนนานจะเริ่มทำรังวางไข่ราวเดือนกรกฎาคม ใช้เวลาฟักไข่ 21 ถึง 26 วัน และใช้เวลาอีก 30 วัน ก่อนจะมีขนขึ้นเต็มที่และพร้อมจะโผบินออกจากรังในช่วงปลายเดือนกันยายน ซึ่งในช่วงนี้ลูกนกยังหัดบิน และพ่อแม่ยังป้อนลูกนกอยู่ในยูนนานก่อน
ถามว่าอะไรทำให้นกอพยพลงใต้ ก็น่าจะเป็นลมหนาวที่เริ่มพัดลงมา ซึ่งฤดูหนาวในยูนนานก็คงไม่ได้ต่างจากประเทศไทยนัก จากประกาศการเข้าสู่ฤดูหนาวของกรมอุตุนิยมวิทยาของไทยปีนี้ ที่ได้ประกาศว่าประเทศไทยได้เข้าฤดูหนาวตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2560 แต่คนไทยภาคกลางหลายคนอาจจะไม่เห็นด้วยนัก แต่ในยูนนานคงจะหนาวมากแล้ว และนกน่าจะเริ่มอพยพ วันที่ 23 เป็นอย่างช้า เพราะจากเอกสารอ้างอิงกล่าวว่า นกยางควายมักจะอพยพก่อนที่บริเวณนั้นจะเข้าฤดูหนาวเต็มตัว โดยน่าจะแวะพักรายทางเป็นระยะ ลงใต้ลงมาเรื่อยๆ จนบังเอิญ ที่ฝูงนกยางควายสองฝูงนี้ได้บินผ่านกรุงเทพมหานคร มาในเขตพระเมรุมาศพอดี ในวันที่ 26 ตุลาคม 2560
ภาพและข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก พันศาสตร์พันภาษา