นักวิจัยญี่ปุ่นคิดค้น ผิวเทียมอัจฉริยะ นวัตกรรมสุดล้ำ เมื่อแปะแล้ว สามารถบันทึกข้อมูลสุขภาพ และวัดการเต้นหัวใจได้ ช่วยให้หมอสื่อสารกับคนไข้ได้อย่างง่ายดาย
เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561 เว็บไซต์อาซาฮีชิมบุน รายงานว่า ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยโตเกียว พร้อมด้วย ทีมนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัยและพัฒนา บริษัท ได นิปปอน ปริ้นท์ติ้ง ได้ร่วมกันคิดค้นและพัฒนา ผิวเทียมอัจฉริยะ (Electronics skin) ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่อยู่ในรูปแบบของแผ่นแปะยืดหยุ่นสูง ภายในมีการติดตั้งแถบแสดงผลแอลอีดีขนาดเล็ก 400 จุด วิธีการใช้คือนำมันแปะลงไปบนหลังมือ ซึ่งแปะแล้วจะแทบไม่รู้สึกอะไร เนื่องจากมีความบางเพียง 1 มิลลิเมตรเท่านั้น
ผิวเทียมที่ถูกนำมาแสดงนั้น เผยให้เห็นว่ามันมีความทนทาน ยืดหยุ่นสูง สามารถบิดงอ และดึงให้ยืดได้โดยไม่ฉีกขาด โดยมันผ่านการทดสอบประสิทธิภาพความยืดหยุ่นมาแล้วกว่า 10,000 ครั้ง นอกจากแปะบนหลังมือแล้ว มันยังสามารถแปะลงไปบนส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ ไม่ว่าจะเป็นหลังมือ หรือบริเวณหน้าอก ใกล้ ๆ กับหัวใจ
นายทาเคโอะ โซเมยะ ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียว กล่าวถึงนวัตกรรมนี้ ขณะอภิปรายในงานสัมมนาสมาคมอเมริกันเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ว่า ทีมนักวิจัยได้คิดค้นผิวเทียมดังกล่าว โดยมีจุดประสงค์ให้เป็นอุปกรณ์ง่าย ๆ ที่ช่วยให้แพทย์สามารถสื่อสารกับคนไข้ได้อย่างสะดวกง่ายดายมากยิ่งขึ้น แพทย์สามารถตรวจรักษาอาการของคนไข้ได้แม้อยู่ในที่ห่างไกล โดยอาศัยระบบอินเทอร์เน็ต ผิวเทียมนี้สามารถตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจ และอุณหภูมิของร่างกาย โดยไม่รบกวนผู้ป่วย อีกทั้งยังบันทึกข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยคนนั้น ๆ และเมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้น ก็จะสามารถรับรู้ได้ทันที
อุปกรณ์นี้เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกลจากสถานพยาบาล หรือผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ผู้ดูแลจะสามารถรับรู้อาการของผู้ป่วยได้ง่ายขึ้น ลูกหลานที่อยู่ห่างไกลก็สามารถตรวจดูสุขภาพของคุณตาคุณยายของพวกเขาได้เช่นกัน นอกจากนี้แล้ว ฮิโรกิ มาเอดะ หนึ่งในสมาชิกทีมวิจัย กล่าวว่า เทคโนโลยีนี้ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับวงการกีฬาได้เช่นกัน
ภาพจาก mynavi.jp, t.u-tokyo.ac.jp
ข้อมูลจาก China Xinhua News