x close

20 มีนาคม 2561 เป็นวันวสันตวิษุวัต-วันเปลี่ยนฤดูกาล กลางวันยาวเท่ากลางคืน


วันวสัตนวิษุวัต

วันวสันตวิษุวัต

          สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผย 20 มีนาคม 2561 เป็นวันวสันตวิษุวัต หรือวันเปลี่ยนฤดูกาล ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตร กลางวันยาวเท่ากลางคืน

          สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยว่า ในวันที่ 20 มีนาคม 2561 ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตร ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ทำให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืน เรียกว่า วันวสันตวิษุวัต ถือเป็นวันเปลี่ยนฤดูกาล ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง
วันวสันตวิษุวัต

          โดย ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยว่า ในวันที่ 20 มีนาคม นี้ ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรโลก ภาษาสันสกฤตเรียกว่า วันวสันตวิษุวัต แปลเป็นภาษาไทยว่า ราตรีเสมอภาค สำหรับประเทศไทยในวันดังกล่าวดวงอาทิตย์ขึ้นเวลาประมาณ 06.22 น. และจะตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 18.28 น.

          เนื่องจากแกนหมุนของโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับระนาบตั้งฉากวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกจึงได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณต่างกัน ทำให้มีอุณหภูมิต่างกัน รวมถึงมีระยะเวลากลางวันและกลางคืนที่ต่างกันด้วย เป็นเหตุให้เกิดฤดูกาลขึ้น จะสังเกตได้ว่า ฤดูร้อนเวลากลางวันจะยาวกว่ากลางคืน ดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า ส่วนฤดูหนาวเวลากลางคืนจะยาวนานกว่า ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว

          ทั้งนี้การที่แกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของดวงอาทิตย์ ใน 1 ปี ที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ จะเกิดปรากฏการณ์สำคัญ ดังนี้

วันวสันตวิษุวัต

          1. วันวสันตวิษุวัต (วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ- วัด) (Vernal Equinox) ตรงกับวันที่ 20 หรือ 21 มีนาคม เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือเข้าย่างสู่ฤดูใบไม้ผลิ ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง

          2. วันครีษมายัน (ครีด-สะ- มา-ยัน) (Summer Solstice) ตรงกับวันที่ 21 หรือ 22 มิถุนายน เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปี สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ช่วงกลางวันจะสั้นที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว

          3. วันศารทวิษุวัต (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) (Autumnal Equinox) ตรงกับวันที่ 22 หรือ 23 กันยายน เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือเข้าย่างสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ

          4. วันเหมายัน (เห-มา-ยัน) (Winter Solstice) ตรงกับวันที่ 21 หรือ 22 ธันวาคม เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุดและตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันสั้นที่สุดและกลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี หรือที่คนไทยเรียกว่า "ตะวันอ้อมข้าว" สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือนับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ ช่วงกลางวันจะยาวที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน

วันวสันตวิษุวัต

ภาพและข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
20 มีนาคม 2561 เป็นวันวสันตวิษุวัต-วันเปลี่ยนฤดูกาล กลางวันยาวเท่ากลางคืน อัปเดตล่าสุด 20 มีนาคม 2561 เวลา 10:39:23 11,169 อ่าน
TOP