รวมเรื่องสำคัญที่ควรรู้ ก่อนเข้าคูหาเลือกตั้ง เลือกพรรคที่ใช่ คนที่ชอบ 24 มีนาคม 2562 มีวิธีนับคะแนนเลือกนายกคนต่อไปอย่างไร
หลังจากที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ประกาศปลดล็อกทางการเมือง อนุญาตให้ประชาชน
และพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างเต็มที่
พร้อมกำหนดให้มีการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562 เชื่อว่าขณะนี้หลายคนอาจมีพรรคการเมืองในใจ ที่มีนโยบายเด็ด ๆ โดนใจกันแล้ว
แต่ก่อนที่จะไปใช้สิทธิ์เลือกคนที่ใช่ พรรคที่ชอบนั้น สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ
เราจะต้องรู้รายละเอียดและกติกาของการเลือกตั้งในครั้งนี้ให้ชัดเจนเสียก่อน
เราจึงขอชวนทุกคนมาเตรียมความพร้อมก่อนเลือกตั้ง
ว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่เราต้องรู้ก่อนจะเข้าคูหาไปใช้สิทธิ์กัน
1. วันเวลา เปิด-ปิด หีบเลือกตั้ง เอกสารที่ต้องใช้ในการเลือกตั้ง อายุ 18 ปี นับอย่างไร
ในการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีระยะเวลาในการเปิดคูหาให้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. และต้องอย่าลืม เตรียมบัตรประจำตัวประชาชน หรือเอกสารอื่น ๆ ของทางราชการที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชน มาด้วยเพื่อใช้ในการยืนยันตน
โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จะมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ ในวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 หรือเกิดก่อนวันที่ 24 มีนาคม 2544 สามารถตรวจสอบสิทธิ์ด้วยการตรวจเอกสารที่นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจะจัดส่งหนังสือแจ้งเจ้าบ้านเพื่อแจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงก่อนวันเลือกตั้ง 20 วัน
2. ได้บัตรมาหนึ่งใบกาช่องไหน โหวตโนได้ไหม หมายเลข ส.ส. ทุกเขตเหมือนกันหรือไม่
การเลือกตั้งครั้งนี้ จะมีบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว สำหรับเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขต เท่านั้น จากนั้นคะแนนเสียงที่เราเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขต จะถูกนำไปใช้คำนวณจำนวนที่นั่ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ ของพรรคนั้น ๆ
ผู้สมัครแต่ละเขตจะมีหมายเลขแตกต่างกัน ไม่ได้ใช้เบอร์เดียวกันทั้งประเทศ โดยผู้สมัครจะได้รับหมายเลขเรียงตามลำดับการสมัครรับเลือกตั้ง ไล่ลำดับไปเรื่อย ๆ จนถึงผู้สมัครคนสุดท้าย และหากเราไม่ชอบผู้สมัครในเขตเราสักคนเดียว ก็สามารถกาช่อง "ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด" ได้อีกด้วย และหากคะแนนเสียงไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด มากกว่าคะแนนเสียงของผู้สมัครที่ชนะ เขตเลือกตั้งนั้นก็ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง โดยผู้สมัครรายเดิมจะไม่มีสิทธิ์รับสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งใหม่
3. ไม่ว่าง ติดธุระ ไป ตปท. แต่อยากเลือกตั้ง ทำอย่างไร
ในวันเลือกตั้งหากเราไม่สะดวกกลับบ้าน ติดธุระสำคัญ แต่อยากเลือกตั้งนอกเขต สามารถให้ยื่นขอลงทะเบียนกับนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นในเขตเลือกตั้งที่เรามีสิทธิ หรือเขตที่เราจะไปขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งก็ได้ โดยสามารถไปยื่นด้วยตนเอง ทางไปรษณีย์ หรือลงทะเบียนออนไลน์ ที่นี่ ในวันที่ 28 มกราคม - 19 กุมภาพันธ์ 2562 จากนั้นให้ไปลงคะแนนล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้งในวันที่ 17 มีนาคม 2562
ส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อาศัยอยู่นอกประเทศไทย สามารถขอลงทะเบียนใช้สิทธิ์เลือกตั้งในประเทศที่ตนอยู่ได้ โดยสถานทูตและสถานกงสุลจะเป็นผู้จัดสถานที่ลงคะแนน หรืออาจจะให้มีการออกเสียงลงคะแนนด้วยวิธีอื่น ๆ
ทั้งนี้
การเลือกตั้งครั้งนี้จะมี ส.ส.แบบเขต 350 คน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน
และ ส.ว. ที่มีการสรรหาจากรัฐบาลอีก 250 คน รวมทั้งหมด 750 คน โดยคะแนนที่ได้จากการเลือกทั้งหมด
จะถูกนำไปนับทั้งแบบเขตและบัญชีรายชื่อให้พรรคการเมือง ส่วนพรรคที่มีจำนวน
ส.ส. น้อยกว่า 25 คน จะไม่มีสิทธิ์เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี
และการเลือกนายกรัฐมนตรีนั้นจะต้องมีเสียงในสภามากกว่า 376 เสียง จาก 750 เสียง แบ่งเป็นเสียงจาก ส.ส. 500 คน และเสียงจาก ส.ว. 250 คน
ข้อมูลจาก ilaw.or.th, พรรคไทยรักษาชาติ