เผยลำดับพิธี จัดทำ น้ำอภิเษก ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

          กระทรวงมหาดไทย เตรียมพร้อมการจัดทำน้ำอภิเษก ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562 เผย พิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 6 เม.ย. พิธีทำน้ำอภิเษก 8 เม.ย.

        เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562 เฟซบุ๊ก เฟซบุ๊ก กระทรวงมหาดไทย PR รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับพิธีจัดทำน้ำอภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก  ว่า กระทรวงมหาดไทย ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานจัดทำน้ำอภิเษก โดยพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มอบนโยบายในการประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนพิธีการต่าง ๆ และได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามความพร้อม ในการเตรียมการจัดทำน้ำอภิเษกของทุกจังหวัดให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และสมพระเกียรติ โดยในทุกจังหวัดมีความพร้อมในการจัดพิธีดังกล่าว


สำหรับกำหนดการจัดทำน้ำอภิเษก มีกำหนดดังนี้

        - วันเสาร์ที่ 6 เมษายน เป็นพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ฤกษ์เวลา 11.52 - 12.38 น.

        - วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พิธีทำน้ำอภิเษก ฤกษ์เวลา 17.10 - 22.00 น. ณ สถานที่ตามที่จังหวัดกำหนด

        - วันจันทร์ที่ 9 เมษายน พิธีเวียนเทียนสมโภชน้ำอภิเษก เวลา 10.00 - 12.00 น.

        - วันพุธที่ 10 เมษายน การเชิญคนโทน้ำอภิเษกของจังหวัดมาเก็บรักษาไว้ที่กระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่เวลา 06.00 - 18.00 น.

        - วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน เป็นการเชิญคนโทน้ำอภิเษกจากกระทรวงมหาดไทยไปยังวัดสุทัศนเทพวราราม ใน เวลา 07.00 น. และในเวลา 17.19 น. เป็นการประกอบพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์รวม ณ พระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม โดยมี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส

        - วันศุกร์ที่ 19 เมษายน เวลา 06.30 น. เป็นการเชิญคนโทน้ำอภิเษกจากวัดสุทัศนเทพวรารามไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
สำหรับแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์สำหรับใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ

        ส่วนที่ 1 น้ำเพื่อใช้ในการพระราชพิธีสรงมุรธาภิเษก ได้แก่ แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ 5 สาย เรียกว่า "เบญจสุทธคงคา" ได้แก่ แม่น้ำบางปะกง, แม่น้ำป่าสัก, แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำราชบุรี, แม่น้ำเพชรบุรี และจากสระศักดิ์สิทธิ์ 4 สระ ได้แก่ สระเกษ, สระแก้ว, สระคงคา และสระยมนา ที่ จ.สุพรรณบุรี

        ส่วนที่ 2 น้ำเพื่อใช้เป็นน้ำอภิเษกจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 76 จังหวัด มี 107 แหล่งน้ำ และกรุงเทพมหานคร
1 แหล่งน้ำ รวม 108 แหล่ง


          ด้านการจัดทำคนโทน้ำอภิเษก กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการจัดทำเรียบร้อยแล้ว โดยใช้วัสดุเซรามิก มีความสูง 40 เซนติเมตร กว้าง 20 เซนติเมตร ช่วงท้องเป็นรูปทรงกลม พร้อมฝาปิดลวดลายกระจังเป็นลายน้ำทอง เคลือบสีขาวทั้งใบ ด้านหน้ามีตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ด้านหลังมีภาพเครื่องหมายราชการจังหวัด และจัดทำขันน้ำสาครพร้อมที่ตักน้ำ เพื่อใช้ในพิธีพลีกรรมตักน้ำสำหรับทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ซึ่งทุกจังหวัดได้รับคนโทน้ำและขันน้ำสาครเรียบร้อยแล้ว

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
          ส่วนการเตรียมริ้วขบวนเชิญคนโทน้ำอภิเษกและพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ ในวันที่ 18-19 เมษายน นี้ กระทรวงมหาดไทยได้จัดเตรียมริ้วขบวนเชิญคนโทน้ำอภิเษก ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูง ผู้ว่าราชการจังหวัด

          ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และข้าราชการของกระทรวงมหาดไทย วงดุริยางค์ กำลังพลกองอาสารักษาดินแดน (อส.) จำนวน 500 คน พร้อมด้วยรถเชิญคนโทน้ำอภิเษก จัดเตรียมและปรับปรุงเส้นทางการเดินขบวนเชิญคนโทน้ำอภิเษก จากกระทรวงมหาดไทยไปยังวัดสุทัศนเทพวราราม และจากวัดสุทัศนเทพวรารามไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยจะมีการซ้อมใหญ่เดินริ้วขบวนในวันที่ 11 เมษายน นี้



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก เฟซบุ๊ก กระทรวงมหาดไทย PR


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เผยลำดับพิธี จัดทำ น้ำอภิเษก ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อัปเดตล่าสุด 4 เมษายน 2562 เวลา 14:22:44 12,616 อ่าน
TOP