x close

อ.เจษฎา ไขปมหมึกเรืองแสง ไม่ใช่หมึกปลอม แต่เป็นหมึกติดเชื้อแบคทีเรีย อย่ากินดิบ

          อ.เจษฎา ไขข้อสงสัย หลังคนแชร์ภาพหมึกปลอมเรืองแสง เผยไม่ใช่ของปลอมแต่เป็นหมึกติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นจุลินทรีย์ที่เรืองแสงได้ คล้ายกรณี ลูกชิ้นปลาเรืองแสง ข่าวดังเมื่อปี 2557 เตือนอย่ากินดิบ
หมึกเรืองแสง
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          วันที่ 18 พฤษภาคม 2562 มีรายงานว่า รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ให้ความรู้กรณีโซเชียลแชร์ภาพหมึกในถุงพลาสติกสามารถเรืองแสงได้ ทำให้สงสัยว่าน่าจะเป็นหมึกปลอม

          โดยระบุว่า "หมึกเรืองแสง ไม่ใช่หมึกปลอม แต่เป็นหมึกติดเชื้อโรคครับ" เคสอาหารปลอมคราวนี้เป็นเรื่องหมึกปลอม ซึ่งแปลกกว่าเดิมที่อ้างว่าเจอหมึกเนื้อแข็ง ๆ แล้วกลัวว่าจะทำจากยางหรือพลาสติก แต่เคสนี้เป็นหมึกเรืองแสง ซึ่งมันไม่ใช่หมึกปลอมแต่ว่าเป็นหมึกที่มีเชื้อแบคทีเรียอยู่ ซึ่งเชื้อจุลินทรีย์มันเรืองแสงได้

          กรณีนี้จะคล้ายกับเรื่อง "ลูกชิ้นปลาเรืองแสง"  ที่เคยเป็นข่าวเมื่อปี 2557 โดยทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) ได้เคยอธิบายว่า อาจเกิดจากการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์แบคทีเรียประเภท Photobacterium phosphoreum ซึ่งสามารถผลิตสารเรืองแสงได้ และถ้าอาหารทะเลนั้น ถูกทำให้สุกด้วยความร้อนแล้ว ก็จะสามารถทำลายแบคทีเรียเหล่านี้ได้ แต่ถ้ายังดิบอยู่หรือไม่ได้ฆ่าเชื้อให้หมด ประกอบกับการเก็บรักษาที่อุณหภูมิไม่เหมาะสม (ควรต่ำกว่า 4 องศาเซลเซียส) ก็จะทำให้จุลินทรีย์เพิ่มจำนวนขึ้นได้อีกเช่นกัน จนทำให้อาหารทะเลนั้นเรืองแสงได้

          อย่างไรก็ตาม เชื้อจุลินทรีย์พวกนี้ อาจจะเป็นเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคด้วย จึงต้องระมัดระวังในการนำมารับประทาน เพราะอาจมีอันตรายต่อสุขภาพ

หมึกเรืองแสง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อ.เจษฎา ไขปมหมึกเรืองแสง ไม่ใช่หมึกปลอม แต่เป็นหมึกติดเชื้อแบคทีเรีย อย่ากินดิบ โพสต์เมื่อ 18 พฤษภาคม 2562 เวลา 11:41:46 15,541 อ่าน
TOP