ทีมสัตวแพทย์ส่งตัว ลูกพะยูน ยามีล ผ่าตัด เอาก้อนหญ้าที่อุดตันในกระเพาะออก หลัง ลูกพะยูน ยามีล ลำไส้หยุดทำงาน แก๊สสะสมในลำไส้ ชักเกร็ง ยังต้องเฝ้าระวัง
ภาพจาก เฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
วันที่ 22 สิงหาคม 2562 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยทีมสัตวแพทย์ ศูนย์วิจัย ทช. ทะเลอันดามัน รายงานอาการของลูกพะยูน ยามีล ช่วงเช้ามีการสะสมของแก๊สในกระเพาะอาหารและบริเวณลำไส้ มีอัตราการเต้นหัวใจสูง และชักเกร็งเป็นบางครั้ง จึงให้ยาช่วยลดอาการปวดและยาซึม ส่วนผลการ x-ray พบว่าอาหารส่วนที่เป็นของเหลวสามารถเคลื่อนที่ผ่านระบบทางเดินอาหารได้ แนวทางการรักษาในวันนี้จะพยายามนำอาหาร ซึ่งเป็นหญ้าทะเลที่ค้างในกระเพาะออกมา เพื่อลดการหมักหมม และให้สารน้ำและเกลือแร่ผ่านทางท่อให้อาหาร ร่วมกับการใช้ยาปฏิชีวนะ สถานะยังคงเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
ภาพจาก เฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ภาพจาก เฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ภาพจาก เฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ต่อมาในเวลา 17.00 น. กรม ทช. โดยศูนย์วิจัย ทช. ทะเลอันดามัน ร่วมกับทีมแพทย์นำตัว ยามีล ส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลวิชระภูเก็ต เพื่อผ่าตัดโดยใช้กล้อง Endoscope นำก้อนหญ้าทะเลที่อัดแน่นในบริเวณกระเพาะอาหารออก โดยการอัดแน่นของหญ้าทะเล เกิดจากสภาวะลำไส้หยุดทำงาน ซึ่งพบได้ในเด็ก (คน) เป็นอาการที่ลำไส้ไม่มีการเคลื่อนตัว
ทำให้อาหารในระบบทางเดินอาหารไม่เคลื่อนที่ เป็นสาเหตุให้เกิดการสะสมและเกิดการสร้างแก๊สขึ้นในระบบทางเดินอาหาร โดยแก๊สที่เกิดขึ้นทำให้ผนังลำไส้บางลง เกิดการแตกของเส้นเลือดฝอยและเกิดภาวะการติดเชื้อตามมา นอกจากนี้แก๊สที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบไปดันบริเวณปอดทำให้เกิดการหายใจติดขัดด้วย