อหิวาตกโรค โรคระบาดสมัยรัชกาลที่ 2 มีวิธีรักษาอย่างไร ย้อนดูพระราชพิธีโบราณ อาพาธพินาศ กระบวนแห่สวดขับไล่โรคระบาด ใช้คนนับพัน พระสงฆ์เกินครึ่งร้อย สุดท้ายตายเป็นเบือ พระสงฆ์ขาดใจตายกลางกระบวนแห่
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563 เฟซบุ๊ก โบราณนานมา เผยแพร่เรื่องราวจาก เว็บไซต์ ศิลปวัฒนธรรม เกี่ยวกับพระราชพิธี "อาพาธพินาศ" พระราชพิธีโบราณสมัย รัชกาลที่ 2 เป็นพิธีกระบวนแห่ขับไล่โรคระบาด ที่สมัยนั้นเชื่อว่าเป็นฝีมือของภูติผีปีศาจ มาทำร้ายมนุษย์ให้เจ็บป่วยล้มตายกันเป็นเบือ จนวัดต่าง ๆ เผาศพไม่ทัน ถนนหนทางก็ไม่มีคนเดิน ตลาดไม่ได้ออกซื้อขายกัน ต่างคนต่างรับประทานแต่ปลาแห้งกับเกลือเท่านั้น น้ำในแม่น้ำก็กินไม่ได้ เพราะมีศพลอยเต็มไปหมด
ดังนั้น รัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้จัด "พระราชพิธีอาพาธพินาศ" ขึ้นครั้งแรกในวันจันทร์ เดือนเจ็ด ขึ้น 11 ค่ำ ยิงปืนใหญ่รอบพระนครจนเช้า แล้วเชิญพระแก้วมรกต พระบรมธาตุ ทั้งพระราชาคณะออกแห่โปรยทรายประน้ำปริตทั้งทางบก ทางเรือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงศีล รวมถึงพระราชวงศานุวงศ์ ข้าราชการฝ่ายหน้า ฝ่ายใน ก็โปรดสั่งให้งดกิจราชการ ให้ตั้งใจทำบุญสวดมนต์ให้ทาน แต่โรคระบาดดังกล่าวกลับยังไม่ซาลงแถมทวีความรุนแรงขึ้น
ต่อมา ในวันแรม 15 ค่ำ เวลาเช้า มีการจัดพระราชพิธีอาพาธพินาศอีกครั้ง โดยอัญเชิญพระแก้วมรกต มาตั้งที่พระมณฑลพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีสรงพระมรุธาภิเศกที่ด้านตะวันออกของพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย แล้วแบ่งพระสงฆ์เป็นกลุ่ม มีกระบวนแห่พระพุทธรูปในฝั่งตะวันออก 3 กระบวนด้วยกัน คือ กระบวนพระแก้ว, กระบวนพระไชย, กระบวนพระห้ามสมุท ข้ามไปฝั่งตะวันตก ให้กรมพระราชวังหลังเป็นผู้จัดกระบวน แต่ละกระบวนมีแห่คล้าย ๆ และพระราชาคณะประน้ำมนต์โปรยทราย รวมทั้งกระบวนใช้คน 1,143 คน และพระสงฆ์ 64 รูป
ทว่า เกิดเหตุการณ์น่าสะพรึง เมื่อคนที่เข้ากระบวนแห่รวมถึงพระสงฆ์เกิดล้มลงกลางทางขาดใจตายกันจำนวนมาก อีกทั้งหลายคนกลับมาถึงบ้านก็ล้มตายอีกเป็นเบือ ซึ่งตั้งแต่มีพิธีดังกล่าวก็ยิ่งทำให้โรคระบาดหนักขึ้น รุนแรงขึ้น ทำให้ผู้คนเชื่อว่าพิธีอาพาธพินาศสู้ผีไม่ได้ ผีมีกำลังกล้ากว่า ก็เป็นอันเลิกกันไม่ได้ทำอีกต่อไป...