เคยเห็นไหม 10 เมฆรูปร่างแปลกประหลาดทั่วโลก

          วันนี้กระปุกดอทคอมเลยขอนำปรากฏการณ์เมฆแปลก ๆ 10 แบบ ที่เว็บไซต์ listverse เขารวบรวมไว้มาให้ชมกัน ไหนลองไปดูกันสิว่าคุณเคยเห็นรูปร่างแบบไหนกันมาบ้าง

          1.  เมฆนาครีอุส (Nacreous Clouds) หรือบางครั้งก็ถูกเรียกว่า "ไข่มุกแห่งมวลเมฆ" มีความงดงามแปลกตาตรงที่มีสีเหลือบสีรุ้งอยู่ในตัว พบได้มากทางแถบขั้วโลกทั้งสอง และในช่วงหน้าหนาวของประเทศที่อยู่ในละติจูดสูง ๆ อาทิ อลาสก้า สแกนดิเนเวีย ตอนเหนือของแคนาดา

          2. เมฆแมมมาตุส (Mammatus Clouds) มีลักษณะห้อยย้อยเป็นลูก ๆ ดูเหมือนมีเม็ดตะปุ่มตะป่ำเต็มท้องฟ้า มันถูกเข้าใจไปกับความเชื่อผิด ๆ ว่า เมฆลักษณะนี้เป็นสัญญาณถึงพายุทอร์นาโดกำลังก่อตัว แต่ที่จริงแล้วเรามักเห็นมันได้หลังจากพายุฝนฟ้าคะนองผ่านไปต่างหาก

          3. เมฆแมงกะพรุน (Altocumulus Castelanus) มีรูปร่างการก่อตัวของมันเป็นก้อน ๆ พุ่ม ๆ แล้วมีหางยาว ๆ ออกมาเหมือนกับหนวดของแมงกะพรุนนั่นเอง โดยการก่อตัวลักษณะนี้เกิดจากอากาศที่มีความชื้นจากเหนือพื้นที่กระแสน้ำอุ่น ถูกพัดเข้ามากักไว้ในชั้นบรรยากาศที่แห้งกว่านั่นเอง

          4. เมฆน็อคติลูเซนต์ (Noctilucent Clouds) หรือในทางอุตุนิยมวิทยาเรียกว่า "เมฆสี" และมีการตั้งชื่อเรียกสวย ๆ ว่า "เมฆทีปราตรี" เป็นปรากฏการณ์เมฆที่ไม่พบเห็นได้บ่อยนัก เมฆนี้มีสีเรืองรองสะท้อนจากตัว อันเกิดจากแสงที่สะท้อนมาจากดวงอาทิตย์ที่อยู่อีกฝั่งของโลกนั่นเอง

          5. เมฆเห็ด (Mushroom Clouds) มีรูปร่างคล้ายดอกเห็ด อันเป็นเมฆที่เกิดจากการระเบิดของนิวเคลียร์ หรือวัตถุระเบิดขนาดใหญ่ กลุ่มก๊าซความหนาแน่นต่ำพวยพุ่งขึ้นจากด้านล่าง จนเมื่อแตะระดับที่บรรยากาศมีความหนาแน่นเท่ากันจึงแผ่ออกโดยรอบ เกิดเห็นรูปทรงคล้ายเห็ดอย่างที่เห็น 

          6. เมฆเซอร์รัส เคลวิน-เฮล์มโฮล์ทซ์ (Cirrus Kelvin-Helmholtz) ขึ้นชื่อว่าเป็นเมฆที่ก่อตัวในระดับสูง คือที่ระดับ 5,000 เมตร แถมยังพบเห็นได้ยาก เพราะเมื่อก่อตัวแล้วมักสลายไปในเวลาเพียงไม่นาน ฉะนั้นใครได้เห็นเมฆลายริ้วเหมือนเกลียวคลื่นซัดอยู่บนท้องฟ้าก็ถือว่าโชคดีไม่น้อยเลยล่ะ 

           7. เมฆเลนคิวลาร์ (Lenticular Clouds) มีรูปทรงเหมือนกับเลนส์แว่นขยาย ก่อตัวในระดับสูง และมักเกิดขึ้นในองศาที่ได้ระดับกับทิศทางลม คุณยังสามารถพบเห็นเมฆเลนติคิวลาร์เป็นรูปเลนส์คว่ำครอบอยู่บนยอดเขาได้ อันเนื่องมาจากความชื้นบนนั้นที่คงที่และกระแสลมที่พัดผ่านทำให้เมฆรูปเลนส์นี้ก่อตัวขึ้นมา ในบางสภาพภาวะที่เหมาะสมเมฆเลนติคิวลาร์ยังก่อตัวเป็นเลนส์หลายชั้นซ้อนกันด้วย

          8. เมฆม้วน (Roll Clouds) ลักษณะเป็นแท่งโรลกลม ๆ ทอดเหยียดยาวออกไป แถมยังก่อตัวในระดับต่ำจนอาจทำให้คุณตระหนกตกใจ แต่ที่จริงมันก็เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นเมื่อมวลอากาศเย็นหน้า พายุพุ่งลงพื้นอย่างรวดเร็ว และแยกตัวออกจากกลุ่มเมฆพายุ กลายเป็นคลื่นกรรโชกไหลผ่านใต้ชั้นอากาศที่อุ่นกว่า อากาศที่อุ่นกว่าซึ่งอยู่ด้านบนจึงเกิดการควบแน่น กลายเป็นก้อนเมฆที่แน่น ๆ และมีลักษณะเป็นทางยาวดังที่เห็น

          9. เมฆเชลฟ์ (Shelf Clouds) เป็นเมฆอีกชนิดที่ก่อตัวในระดับต่ำ เกิดจากมวลอากาศเย็นหน้าพายุเช่นเดียวกับเมฆม้วน แต่ยังไม่แยกตัวออกจากกลุ่มเมฆพายุ รูปร่างเมฆก่อตัวเป็นแนวยาว ตัวเมฆดูเป็นมวลแน่น ส่วนพื้นของกลุ่มเมฆเป็นขอบฟุ้งขึ้นอยู่กับกระแสลม 

          10. เมฆสตราโตคิวมูลัส (Stratocumulus Clouds) จัดว่าพบเห็นได้บ่อย มีลักษณะเป็นก้อนปุกปุยเรียงตัวเป็นริ้ว ๆ บนท้องฟ้า และอาจพบมันในรูปแบบถูกลมและมวลอากาศบีบให้กลายเป็นเส้นริ้วเป็นแนวยาวขนานกันไปได้ด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก listverse.com
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เคยเห็นไหม 10 เมฆรูปร่างแปลกประหลาดทั่วโลก โพสต์เมื่อ 2 มิถุนายน 2563 เวลา 16:04:40 22,335 อ่าน
TOP
x close