รู้จัก ใหลตาย ภัยเงียบคร่าชีวิตบีม ปภังกร ใครเสี่ยง - ป้องกันอย่างไร โรคนี้ไม่ตายทุกคน


            รู้จักอาการใหลตายที่คร่าชีวิตบีม ปภังกร ใครบ้างมีความเสี่ยง และไม่ได้ตายทุกคน พร้อมวิธีรักษาหรือป้องกันความเสี่ยง

โรคใหลตาย

            ข่าวการเสียชีวิตของบีม ปภังกร ฤกษ์เฉลิมพจน์ นักแสดงวัยรุ่นชื่อดัง ในวัย 25 ปี นับเป็นความสูญเสียที่หลายคนคาดไม่ถึง เพราะยังหนุ่มยังแน่น และการตายเกิดขึ้นระหว่างที่นอนหลับไปเฉย ๆ ซึ่งอาการนี้เรียกว่าการใหลตาย อาการนี้เป็นภัยเงียบที่น่ากลัวมาก ทำให้ผู้เสียชีวิตแทบไม่มีโอกาสได้ร่ำลาคนรอบข้าง ลาโลกไปแบบไม่รู้ตัว

 อ่านข่าว : ช็อก ! บีม ปภังกร พระเอกซีรีส์ เคว้ง เสียชีวิตในวัย 25 ปี เบื้องต้นยังไม่ทราบสาเหตุ

          ล่าสุด วันที่ 24 มีนาคม 2565 พญ.ชญานุตย์ สุวรรณเพ็ญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ มีการเขียนบทความเกี่ยวกับโรคดังกล่าวไว้ดังนี้

บีม ปภังกร ใหลตาย
ภาพจาก Instagram thebeamishere

ใหลตายคืออะไร


          ใหลตาย หรือ sudden unexplained (unexpected) nocturnal death syndrome (SUND) คือการเสียชีวิตที่เกิดจากหัวใจห้องล่างเต้นพลิ้ว มักพบในขณะหลับ ทำให้เกิดอาการคล้ายหายใจไม่สะดวก อาจมีเสียงคล้ายละเมอก่อนเสียชีวิต โรคนี้มักเกิดในผู้ชายวัยหนุ่มที่ปกติแข็งแรงดีก่อนเข้านอน แต่มาเสียชีวิตในตอนเช้า

          อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาในกลุ่มผู้รอดชีวิต พบว่า ใหลตายมีความสัมพันธ์ผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจลักษณะบรูกาดา ไม่มีการพบความผิดปกติของโครงสร้างและการทำงานส่วนอื่น ๆ ของหัวใจ ฉะนั้น แพทย์จึงเรียกกลุ่มอาการนี้ว่า กลุ่มอาการบรูกาดา

อาการของการใหลตาย


          อาการนี้เกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรงที่สุด ทำให้ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะสมองได้ เมื่อสมองขาดออกซิเจนอาจแสดงอาการชักเกร็ง หายใจไม่สะดวกคล้ายการนอนละเมอไม่รู้ตัว อาการมักเกิดขึ้นในช่วงนอนหลับ ถ้าหากอาการนี้เกิดขึ้นนานพอก็จะเสียชีวิต แต่บางคนก็รอดชีวิตได้ กรณีที่อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะหยุดเอง หรือได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม เช่น การช็อกหัวใจหรือการปั๊มหัวใจ

          นอกจากนี้ อาการใหลตาย มักพบได้ตอนตื่นเช่นกัน โดยอาการที่เกิดขึ้นคือ ใจสั่นช่วงสั้น ๆ หรือวูบเป็นลมหมดสติได้

บีม ปภังกร ใหลตาย
ภาพจาก Instagram thebeamishere

วิธีเช็กว่า มีความเสี่ยงต่อการใหลตายเมื่อใด


          - ผู้ที่เคยรอดชีวิตจากอาการใหลตายมาก่อน

          - ผู้ที่มีญาติสายตรงเสียชีวิตฉับพลัน ที่อาการเข้าได้กับการใหลตาย เนื่องจากพบว่า การใหลตายมีความสัมพันธ์กับความผิดปกติในหน่วยพันธุกรรมหรือยีน ที่มีผลต่อการควบคุมประจุไฟฟ้าในเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ และความผิดปกตินี้อาจส่งไปให้ญาติสายตรงของผู้ป่วย

          - ผู้ที่ตรวจพบความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดบรูกาดา แม้ไม่มีประวัติการใหลตายในครอบครัวก็ตาม

วิธีรักษาอาการใหลตาย


          ยังไม่มีการรักษาใดที่สามารถป้องกันหรือหยุดการเต้นผิดจังหวะของหัวใจได้ทั้งหมด ดังนั้น การรักษาคือ การมุ่งหวังให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะน้อยครั้งที่สุด และระยะเวลาที่หัวใจเต้นผิดจังหวะแต่ละครั้งสั้นที่สุด ก่อนที่ผู้ป่วยจะหมดสติหรือเสียชีวิต มีวิธีการดังนี้

          - หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ภาวะตึงเครียดของร่างกาย เช่น พักผ่อนไม่เพียงพอ ออกกำลังกาย การทำงานหนัก การรับประทานอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลปริมาณมาก

          - ใส่เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (AICD)

          - การจี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง (RFA)

บีม ปภังกร ใหลตาย
ภาพจาก Instagram thebeamishere

ใครบ้างที่ควรใส่เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (AICD)


          - ผู้ที่รอดชีวิตจากการใหลตาย

          - ผู้ที่มีคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดบรูกาดาผิดปกติ และเคยมีหลักฐานการตรวจว่า มีหัวใจห้องล่างเต้นพลิ้ว

          - ผู้ที่มีคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดบรูกาดาผิดปกติ ร่วมกับมีประวัติคนในครอบครัวเสียชีวิตจากการใหลตาย หรือวูบจากอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ

          อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดบรูกาดาผิดปกติจากการกระตุ้นด้วยยา หรือผู้ที่มีคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดบรูกาดาผิดปกติ แต่ไม่มีประวัติครอบครัวเสียชีวิตจากการใหลตายหรือวูบ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงอย่างละเอียดในการใส่เครื่อง AICD

เมื่อไหร่จะใช้การจี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง (RFA)


          RFA สามารถช่วยลดจำนวนครั้งของการเกิดหัวใจห้องล่างเต้นพลิ้วได้ แต่จะทำในผู้ป่วยที่เกิดการกระตุกของเครื่อง AICD บ่อยครั้ง เนื่องจากมีหัวใจห้องล่างเต้นพลิ้วบ่อย ๆ เพื่อช่วยยืดอายุการทำงานของ AICD

บีม ปภังกร ใหลตาย
ภาพจาก Instagram thebeamishere

บีม ปภังกร ใหลตาย
ภาพจาก Instagram thebeamishere


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้จัก ใหลตาย ภัยเงียบคร่าชีวิตบีม ปภังกร ใครเสี่ยง - ป้องกันอย่างไร โรคนี้ไม่ตายทุกคน อัปเดตล่าสุด 24 มีนาคม 2565 เวลา 09:18:42 82,036 อ่าน
TOP
x close