ไขปริศนา ลมหนาวสะท้านเดือนเมษายน เย็นวูบวาบชุ่มชื่นใจ
ปรากฏการณ์นี้แท้จริงเกิดจากอะไร กรมอุตุฯ แจงไม่ใช่เพราะกระแสลมวนขั้วโลก (Polar Vortex) แต่เพราะมวลอากาศเย็นจากจีน ชี้ยังหนาวขึ้นอีก
นับเป็นปรากฏการณ์ที่หลาย ๆ คนแทบไม่อยากเชื่อว่าจะได้สัมผัสด้วยตัวเอง
สำหรับลมหนาวในเดือนเมษายน ซึ่งในเช้าวันนี้หลาย ๆ
พื้นที่ก็คงได้สัมผัสกับอากาศหนาวกันบ้างแล้ว
และก็คงอยากรู้กับว่าสภาพอากาศเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
โดยวันนี้ (3 เมษายน 2565) นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว "วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ Weerasak Kowsurat" อธิบายถึงที่มาของอากาศที่ลงในไทยแบบวูบวาบนี้ เป็นผลจากภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ climate change ที่เกิดจากอุณหภูมิภายในขั้วโลกทั้งสอง เกิดอาการหนาวน้อยลงในบางจุดหรือบางจุด มาจากไออุ่นนอกพื้นที่เบียดรุกเข้าสู่แดนขั้วโลก
โดยวันนี้ (3 เมษายน 2565) นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว "วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ Weerasak Kowsurat" อธิบายถึงที่มาของอากาศที่ลงในไทยแบบวูบวาบนี้ เป็นผลจากภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ climate change ที่เกิดจากอุณหภูมิภายในขั้วโลกทั้งสอง เกิดอาการหนาวน้อยลงในบางจุดหรือบางจุด มาจากไออุ่นนอกพื้นที่เบียดรุกเข้าสู่แดนขั้วโลก
พร้อมกันนั้นยังมีการอธิบายไปถึงปรากฏการณ์ Polar Vortex และตบท้ายว่า ปีนี้เราคงได้เห็นสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่จะเป็นผลตามมา
กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศฉบับ 9 ชี้สภาพอากาศยังเย็นขึ้นอีก
บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวอุณหภูมิจะลดลงกับมีลมแรง โดยภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิจะลดลงอีก 1-3 องศาเซลเซียส
ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย
อนึ่ง หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณอ่าวไทย ประกอบกับลมฝ่ายตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้มีกำลังแรง ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้
สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยบริเวณอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย
จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
กรมอุตุฯ ชี้แจง อากาศเย็นช่วงฤดูร้อน ไม่ใช่เพราะ Polar Vortex
อย่างไรก็ตาม ต่อมา กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศชี้แจงถึงสาเหตุที่อุณหภูมิทั่วไทยลดลง อากาศแปรปรวนหนาวเย็น - ฝนตก หรืออากาศหนาวเย็นช่วงฤดูร้อน เดือนเมษายน 2565 ยืนยันว่าไม่ได้มาจากอิทธิพลของกระแสลมวนขั้วโลก (Polar Vortex)
โดยระบุว่า
"ตามที่มีสื่อสังคมออนไลน์ ได้มีการเผยแพร่ข้อความและภาพ ถึงสาเหตุที่อุณหภูมิทั่วไทยลดลง อากาศแปรปรวน หนาวเย็น ฝนตกหรืออากาศหนาวเย็นช่วงฤดูร้อนเดือนเมษายน 2565 ผู้เชี่ยวชาญได้ชี้ว่าเป็นผลจาก "ปรากฏการณ์ Polar Vortex" ทำให้เย็นวูบวาบ กระแสลมโลกเบี่ยงทิศ ผลพวงปัญหาโลกร้อนที่ต้องเร่งแก้ไข" นั้น
กรมอุตุนิยมวิทยา ขอเรียนชี้แจงว่า ความแปรปรวนของสภาพอากาศในช่วงวันที่ 1-3 เมษายน 2565 เป็นผลมาจากอิทธิพลของความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูร้อน (กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูร้อน วันที่ 2 มีนาคม 2565)
ซึ่งโดยทั่วไป อุณหภูมิบริเวณประเทศไทยตอนบนในช่วงกลางวันอากาศร้อนถึงร้อนจัดในบางวัน และมักจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ส่วนความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่เคยปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ในช่วงฤดูหนาวจะอ่อนกำลังลง และถอยกลับไปปกคลุมบริเวณประเทศจีน แต่ยังมีบางช่วงที่มีมวลอากาศเย็นดังกล่าว แผ่ลงมาปกคลุมได้เป็นระยะ ๆ ขึ้นอยู่กับความแรงของมวลอากาศ
หากมวลอากาศเย็นดังกล่าว มีกำลังแรงแผ่ลงมาปกคลุมถึงภาคใต้ตอนบน มักจะทำให้ประเทศไทยตอนบน มีสภาพอากาศแปรปรวน โดยมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในระยะแรก ๆ ส่วนใหญ่มักจะเริ่มเกิดขึ้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน หลังจากนั้น อุณหภูมิจะลดลง และมีลมแรง
ซึ่งปรากฎการณ์ดังกล่าวนี้เคยเกิดขึ้นในอดีต เช่นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2559 เป็นช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นในฤดูร้อน แต่จะเป็นระยะเวลาสั้น ๆ 2-3 วันเท่านั้น
ส่วนปรากฏการณ์ Polar Vortex ที่อ้างถึงดังกล่าว มักจะไม่มีผลกระทบถึงประเทศไทย เพราะกระแสลมวนที่ไหลเวียนจากทางด้านตะวันตกไปตะวันออก จะมีเทือกเขาสูงกีดขวางเป็นอุปสรรค คือ เทือกเขาหิมาลัย ซึ่งเป็นเทือกเขาที่สูง ทำให้ทิศทางลมของกระแสลมวนที่ไหลเวียนลงมาเปลี่ยนทิศทางไป โอกาสที่นำความหนาวเย็นจากขั้วโลก เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา เกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก
ดังนั้นอุณหภูมิที่ลดลงในระยะนี้ จึงไม่ได้มาจากอิทธิพลของกระแสลมวนขั้วโลก (Polar Vortex) ดังกล่าวแต่อย่างใด
ภาพจาก เฟซบุ๊ก กรมอุตุนิยมวิทยา
* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุด วันที่ 3 เมษายน 2565 เวลา 17.15 น.