สภานิสิต มหาวิทยาลัยบูรพา ประกาศยกเลิกการใช้คำนำหน้าระบุเพศ นาย นาง นางสาว เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมในองค์กร งานนี้คนถกกันสนั่นทั้งเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ประชดก็มีเหมือนกัน

ในตอนนี้กระแสเรื่องความเท่าเทียมทางเพศกำลังมาแรงตามกระแสสังคมโลก คนในสังคมเริ่มมองว่า เพศชาย เพศหญิง หรือเพศอื่น ๆ ล้วนมีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน และจากกระแสดังกล่าว กำลังทำให้สภานิสิต มหาวิทยาลัยบูรพา กำลังมีไวรัลดังอยู่ในขณะนี้
วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 เฟซบุ๊ก สภานิสิต มหาวิทยาลัยบูรพา มีการออกประกาศฉบับที่ 1 เรื่อง การยกเลิกการใช้คำนำหน้าในการระบุเพศ (นาย นาง นางสาว) เพื่อเป็นการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศภายในองค์กรสภานิสิต และพร้อมที่จะเป็นต้นแบบให้หน่วยงานอื่น ๆ ภายในมหาวิทยาลัยต่อไป
โดยก่อนหน้านี้ ทางสภานิสิตมหาวิทยาลัยบูรพา ได้ริเริ่มผลักดันเรื่องความหลากหลายทางเพศมานานแล้ว โดยให้นิสิตสามารถแต่งกายตามเพศวิถีได้ รวมถึงสวมชุดครุยตามเพศวิถีได้ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ คาดว่ากระแสการไม่ใช้คำนำหน้าที่ระบุเพศ มาจากกระแสโลกที่ไม่ต้องการผลักคนอื่นให้เป็นคนชายขอบ ซึ่งจะเห็นว่านิสิตนักศึกษาบางคน แม้จะแปลงเพศแล้ว แต่ยังต้องใช้คำนำหน้าเป็นนาย หรือ นางสาว อยู่
ความเห็นชาวเน็ต แตกต่างหลากหลายมุม เห็นด้วย คัดค้าน เป็นกลาง ประชด
สำหรับความคิดเห็นชาวเน็ต ต่างมองในหลาย ๆ ประเด็น มุมหนึ่งคือ เห็นด้วยกับประกาศดังกล่าว นับเป็นประกาศที่ล้ำสมัย ทุกคนล้วนมีความเท่าเทียมกัน เป็นการดีที่จะเริ่มต้นในส่วนเล็ก ๆ ก่อน
ขณะที่บางความเห็นก็โพสต์แนวประชด บอกว่า สภานิสิตควรผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นวาระระดับโลก ให้มหาวิทยาลัยดัง เช่น ฮาวาร์ด เคมบริดจ์ ที่ล้าหลังใช้คำว่า MR., Mrs. เปลี่ยนมาใช้ตามเราด้วย และเราจะได้เป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกเสียที
ความเห็นอีกส่วนหนึ่งมองว่า ถึงแม้จะมีประกาศยกเลิกการใช้คำนำหน้าระบุเพศออกมา ก็ต้องยอมรับด้วยว่า มีบางคนอาจจะอยากใช้อยู่ ก็ขอให้สภานิสิตอย่าไปแบ่งแยกคนพวกนี้ เพราะเราต้องยอมรับความแตกต่างกันให้ได้
ส่วนในมุมคนที่ไม่เห็นด้วย มองว่า การยกเลิกคำนำหน้าระบุเพศ ไม่ได้ช่วยให้มีความเท่าเทียมทางเพศ แต่สิ่งที่ทำให้เท่าเทียมคือ การเลือกระบุเพศตัวเองได้ และสุดท้าย ความเท่าเทียมยังไงก็ไม่มีจริง เพราะเวลาเข้าห้องน้ำ เรายังต้องระบุเพศอยู่ดี คงไม่สามารถเข้าห้องน้ำเดียวกันได้ทุกเพศ



