รวบ นารา เครปกะเทย เครือข่ายอาหารเสริม ผสมสารอันตราย - เจ้าตัวลั่นไม่มีเอี่ยว

         นารา เครปกะเทย โดนบุกจับ ร่วมเครือข่ายหลอกขายอาหารเสริม ผสมสารอันตราย ชี้แม้ปฏิเสธไม่ได้เกี่ยวกับการผลิต แต่ปฏิเสธความรับผิดชอบต่อสังคมไม่ได้

นารา เครปกะเทย

         วันที่ 27 กันยายน 2565 เดลินิวส์ออนไลน์ รายงานว่า ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) พล.ต.ต. อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. พร้อมเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงผลการจับกุมเครือข่ายผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผสมวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 (2-ไดเฟนนิลเมทิลโพโรลิดีน) หลังปฏิบัติการเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย 7 จุด ในพื้นที่ จ.ราชบุรี จ.มหาสารคาม และ จ.พระนครศรีอยุธยา

         โดยสามารถจับกุม นายอนิวัต ประทุมถิ่น อายุ 23 ปี หรือ "นารา เครปกะเทย" เน็ตไอดอลชื่อดัง รวมถึง นายเมธากร จันทวงศ์ อายุ 39 ปี และ น.ส.นิชกานต์ แก้วมีสี อายุ 28 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ในข้อหาร่วมกันจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 (2-ไดเฟนนิลเมทิลโพโรลิดีน) โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการกระทำทางการค้า

         โดย พ.ต.อ. เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. เผยว่า การจับกุมนี้สืบเนื่องจากมีการสุ่มนำตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่จำหน่ายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ และ TikTok มาตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จนพบว่าผลิตภัณฑ์ ชาร์มาร์ กลูต้า มีส่วนผสมของสารวัตถุออกฤทธิ์ไดเฟนนิลเมทิลไพโรลิดีน (desoxy-D2PM) ซึ่งจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2565

นารา เครปกะเทย

         จากการสืบสวนขยายผลพบว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ทางบริษัท ชาร์มาร์เพอร์เฟค จำกัด ของ น.ส.นิชกานต์ ได้ว่าจ้างให้โรงงานสิรินดา คอสเมติกส์ เป็นผู้ผลิต และจ้างให้ นารา เครปกะเทย เป็นอินฟลูเอนเซอร์หลักในการโฆษณาและขายสินค้า โดยรายได้จากการจำหน่ายจะถูกโอนเข้าบัญชีของนายเมธากร ซึ่งเป็นญาติของ น.ส.นิชกานต์  

         ทั้งนี้ ผู้ต้องหาทั้ง 3 คนให้การปฏิเสธ แต่เจ้าหน้าที่มั่นใจในพยานหลักฐานที่มีอยู่ ขณะที่ นารา เครปกะเทย แม้จะปฏิเสธว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต แต่การเป็นอินฟลูเอนเซอร์ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบต่อสังคมได้


         ด้าน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เผยว่า สารไดเฟนนิลเมทิลไพโรลิดีน มักถูกลักลอบนำมาใส่ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเหมือนไซบูทรามีน โดยผู้ใช้สารดังกล่าวจะมีอาการประสาทหลอน หวาดระแวง หรือมีพฤติกรรมรุนแรง ม่านตาขยาย และเกิดภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติได้

         ส่วนไซบูทรามีน จะมีอาการตั้งแต่ท้องผูก ปากแห้ง นอนไม่หลับ คลื่นไส้ หลอดเลือดขยาย ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น สับสน อ่อนแรง ปวดหัว ซึ่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นประชาชนต้องตรวจสอบข้อมูลให้ดีก่อนจะซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาบริโภค

ขอบคุณข้อมูลจาก เดลินิวส์ออนไลน์


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รวบ นารา เครปกะเทย เครือข่ายอาหารเสริม ผสมสารอันตราย - เจ้าตัวลั่นไม่มีเอี่ยว อัปเดตล่าสุด 28 กันยายน 2565 เวลา 17:14:13 11,060 อ่าน
TOP
x close