x close

กยศ. แอบส่องบัญชี คนเบี้ยวหนี้ไม่ยอมจ่าย เห็นตัวเลขแล้วอึ้ง บางคนมีกว่า 5 ล้านบาท !


          เปิดสถิติชวนอึ้ง เด็กเบี้ยวหนี้ กยศ. มีเงินเก็บ 5 ล้านบาทหลายคน ข้องใจทำไมไม่ยอมจ่ายปิดหนี้ แม้ว่าจะปรับลดดอกเบี้ยยังไงก็ไม่ยอมจ่าย ขณะที่หลายส่วนก็มีปัญหาเรื่องการเงินจริง

กยศ.

          ปัญหาโลกแตกของวงการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ก็คือ ลูกหนี้ไม่ยอมใช้หนี้คืนจำนวนมาก ทำให้กองทุนประสบปัญหาในการทวงเงินคืนอย่างยากลำบาก จนต้องไปถึงขั้นตอนฎีกายึดทรัพย์ ดังที่เคยเกิดกับหนุ่มรายหนึ่ง ติดหนี้ กยศ. 3 แสนบาท แต่ถูกสั่งยึดคอนโดมูลค่า 3 ล้าน จนนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มาช่วยไกล่เกลี่ยจนลดหนี้ได้ และมีโอกาสได้คอนโดคืน ซึ่งหลายคนก็มองว่า กรณีดังกล่าวไม่ควรช่วยเหลือ

          ล่าสุด วันที่ 18 ธันวาคม 2565 ฐานเศรษฐกิจ รายงานว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีการเปิดรายงานเรื่อง กยศ. ซึ่งในตอนหนึ่งของการวิจัย พบว่า ทางหน่วยงานพบปัญหาเด็กกู้ยืมเงินที่ขาดวินัยทางการเงิน ผิดนัดชำระหนี้จำนวนมาก เนื่องจาก ลูกหนี้มักนำเงินไปจ่ายชำระหนี้ที่เป็นดอกเบี้ยสูงก่อน เช่น หนี้รถยนต์ หนี้บ้าน และละเลยหนี้ กยศ. ที่มีดอกเบี้ยต่ำเพียง 1% ต่อปี

กยศ.

พบลูกหนี้เบี้ยวนัด มีหลายคนมีเงินเก็บมากกว่า 5 ล้าน


          ขณะที่อีกส่วน ลูกหนี้ตั้งใจที่จะไม่ชำระหนี้ แม้จะมีความสามารถในการจ่าย โดยจากการสืบทรัพย์ที่จะมีการบังคับคดีในปี 2563 พบว่า ลูกหนี้ 9,000 ราย มีเงินฝากในบัญชีมากกว่า 50,000 บาท และเมื่อเจาะรายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับจำนวนเงิน ยิ่งมีข้อมูลที่น่าตกใจ

          - ลูกหนี้ 40 ราย มีเงินฝาก 5 ล้านบาทขึ้นไป

          - ลูกหนี้ 431 ราย มีเงินฝาก 1-5 ล้านบาท

          - ลูกหนี้ 637 ราย มีเงินฝาก 5 แสนบาท - 1 ล้านบาท


          จากข้อมูลดังกล่าว จึงพอสรุปได้ว่า ลูกหนี้เหล่านี้ขาดความรับผิดชอบ แม้ กยศ. จะมีมาตรการกระตุ้นให้ชำระหนี้อย่างต่อเนื่องก็ตาม เช่น ลดปรับเบี้ยสำหรับผู้ปิดบัญชี, ขอความร่วมมือกับนายจ้างในการหักเงินเดือนเพื่อมาชำระหนี้

          แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คนที่ผิดนัดชำระหนี้ ก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่จะมีเงิน เพราะบางส่วนก็ประสบปัญหาหรือวิกฤตต่าง ๆ จริง เช่น ตกงาน ไม่มีงานทำ ต้องใช้จ่ายดูแลครอบครัว ซึ่งในช่วงโควิด 19 ลูกหนี้ กยศ. ประสบปัญหามาก ทำให้ยอดชำระหนี้ลดลง 10.7% ในปี 2563

ข้อเสนอแนะจาก สศช. ในการแก้ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้


          กยศ. ต้องดำเนินการเชิงรุกมากขึ้น นำลูกหนี้มาเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ และไกล่เกลี่ยหนี้ก่อนฟ้องคดี ถึงแม้จะมีการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือนร่วมกับกระทรวงยุติธรรม แต่ลูกหนี้ส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงหรือไม่รับรู้เท่าที่ควร เพื่อแก้ปัญหาหนี้เสีย ทำให้กองทุนมีเสถียรภาพ มีรายได้ให้กู้กับนักเรียน นักศึกษา รุ่นใหม่ต่อไป

          การแก้ปัญหา ยังไงห้ามใช้วิธีการยกหนี้หรือปรับให้กองทุนปลอดดอกเบี้ยและค่าปรับผิดนัดชำระหนี้

          เรื่องนี้ สศช. มองไว้ 3 เหตุผล นั่นคือ

          1. การดำเนินการแบบนี้จะไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริง

          2. เหมือนสนับสนุนให้คนไม่มีวินัยทางการเงิน

          3. เป็นการลดโอกาสการเข้าถึงการศึกษาของคนรุ่นใหม่


ขอบคุณข้อมูลจาก ฐานเศรษฐกิจ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กยศ. แอบส่องบัญชี คนเบี้ยวหนี้ไม่ยอมจ่าย เห็นตัวเลขแล้วอึ้ง บางคนมีกว่า 5 ล้านบาท ! อัปเดตล่าสุด 18 ธันวาคม 2565 เวลา 14:19:49 19,804 อ่าน
TOP