ลูกสาวโพสต์เศร้า พ่อป่วยติดเตียงบัตรประชาชนหมดอายุ อำเภอย้ำต้องให้แบกไปเท่านั้น ชี้บัตรคนพิการก็เช่นกัน ได้บัตรเสร็จ อีกวันพ่อเสียชีวิต
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้
วันที่ 28 มิถุนายน 2566 ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์เล่าเรื่องราวที่คุณพ่อป่วยติดเตียง แต่บัตรประชาชนหมดอายุ ต้องการทำบัตรใหม่เพื่อใช้เบิกจ่ายและรับสิทธิจากทางโรงพยาบาล โดยพบว่าทางอำเภอยืนยันว่า ให้แบกพ่อมาทำบัตรที่อำเภอเท่านั้น บัตรคนพิการ ถ้าหมดอายุก็ต้องทำใหม่ที่ศาลากลางจังหวัดเหมือนกัน หลาย ๆ คนก็ต้องแบกไปทำ พบว่าเมื่อพาพ่อไปทำก็มีขั้นตอนแค่เพียงถ่ายรูป ที่เหลือใช้ข้อมูลเดิม และที่น่าเศร้า คือพ่อเสียชีวิตในวันต่อมา
เจ้าของโพสต์ ระบุว่า บัตรประชาชนคุณพ่อหมดอายุ แต่คุณพ่อติดเตียง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และอาการไม่ดีมาตลอด ถามแล้วถามอีกว่า มีวิธีอื่นไหมที่จะไม่ต้องแบก ผู้ป่วยมา มันทุลักทุเลมาก เพราะคุณพ่อช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย ย้ำแล้วว่าช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย มีเอกสารมอบอำนาจมาได้ไหม อาจให้คุณพ่อปั๊มนิ้วมือมา หรือมีเจ้าหน้าที่ทางอำเภอไปตรวจสอบที่บ้าน
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้
ทางอำเภอในจังหวัดปทุมธานี ยืนยันว่า ต้องแบกผู้ป่วยมา จะติดเตียง อาการหนัก ใส่รถเข็น รถนอน เดินไม่ได้ ใส่สายมากมาย หรือเครื่องช่วยหายใจ ก็ต้องมาทำบัตรที่อำเภอ ต้องมาให้รถพยาบาลไปแบกมา บัตรคนพิการ ถ้าหมดอายุก็ต้องมาทำใหม่ แบกไปที่ศาลากลางจังหวัดเหมือนกัน หลาย ๆ คนก็ต้องแบกไปทำ
สรุป แบกคุณพ่อมาทำบัตรประชาชนใหม่ วันที่ 7 มิถุนายน 2566 คุณพ่อเสียชีวิต วันที่ 8 มิถุนายน 2566 มาแค่ถ่ายรูป จบ ที่เหลือใช้ข้อมูลเดิม ถามว่าทำไมต้องทำบัตรใหม่ เนื่องจากคุณพ่อยังต้องใช้เบิกจ่ายตรงและรับสิทธิ์จากทาง โรงพยาบาลที่คุณพ่อรับยาต่าง ๆ รักษาอยู่ (เบิกหลวงเพราะพี่ชายเป็นทหาร)
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้
"อะไรคือระบบราชการไทย แล้วบัตรประชาชนใหม่ของพ่อ จะใช้ตอนไหนดี ในเมื่อวันนี้พ่อไม่อยู่แล้ว ถามว่าจะต้องแบกกันไปอีกกี่เคส ? แล้วต้องเสียชีวิต อีกกี่คน ? น่าหดหู่ใจสิ้นดี"
เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 29 มิถุนายน 2566 รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ช่อง 3 สอบถาม คุณปรางทอง เจ้าของโพสต์ เล่าว่า เธอสอบถามไปทางอำเภอว่า จะทำบัตรประชาชนให้พ่อป่วยติดเตียง ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เลย ทางอำเภอยืนยันว่าต้องแบกคุณพ่อมา เธอจึงย้ำไปว่า พ่อช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และต้องใส่สายปัสสาวะด้วย ทางเจ้าหน้าที่ก็ยืนยันว่ายังไงก็ต้องแบกมา แม้กระทั่งคนพิการก็แบกมาหลายเคสแล้ว พอให้ต้องนั่งรถเข็น ใส่สายปัสสาวะ เครื่องช่วยหายใจก็ต้องแบกกันมา
วันดังกล่าวเธอต้องติดต่อรถกู้ชีพให้ช่วยทำพ่อมาที่อำเภอ เป็นเรื่องที่ทุลักทุเลมาก สุดท้ายพ่อเสียชีวิตตอนประมาณ 03.00 น. ของวันถัดมาเลย ซึ่งทั้งพยาบาลที่ดูแลและทุก ๆ คน พูดตรงกันว่า ไม่ควรจะเคลื่อนย้ายพ่อ ซึ่งเธอทราบมาว่าการเคลื่อนย้ายกับรถกู้ชีพ ถ้าใช้สิทธิฟรีกับ อบต. หรือ อบจ. ก็จะต้องรอคิวมองว่าถ้าจะให้รอก็ทำได้ แต่ในมุมของคนป่วยระหว่างนั้นจะแย่ก่อนหรือไม่ ส่วนใหญ่จึงต้องเลือกเสียเงินแทน อยากถามว่ามันคุ้มแล้วใช่ไหม ที่จะต้องใช้เบี้ยคนชรา คนพิการ ไปจ่ายค่ารถกู้ชีพ เพื่อไปอำเภอ
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้
สุดท้ายนี้ เธอยืนยันว่าเคยเห็นในข่าวที่ออกว่ามีเจ้าหน้าที่บางเขตเข้ามาดูแลและทำเรื่องให้ผู้ป่วยติดเตียง มองว่าควรจะปฏิบัติแบบนี้เหมือนกันทั้งหมด เรื่องแบบนี้ต้องแก้ไขได้แล้ว
ขณะเดียวกัน มีการรายงานข้อมูลเรื่องบริการจัดทำบัตรประชาชนกรณีเป็นผู้ป่วยติดเตียง คนชรา ผู้พิการเคลื่อนย้ายไม่ได้ สามารถทำได้ 3 ช่องทาง คือ กรณีพื้นที่ กทม. ให้ติดต่อขอรับบริการจากสำนักงานเขต ถ้าต่างจังหวัดให้ติดต่ออำเภอหรือเทศบาล หรือติดต่อสอบถามศูนย์บริการ โทร. 1548