ข้อมูลเผยเหตุ เครื่องบินเจแปนแอร์ไลน์ส ได้รับอนุญาตให้ลงจอด ก่อนชนเครื่องบินหน่วยยามฝั่ง จนระเบิดไฟลุกไหม้
ภาพจาก RICHARD A. BROOKS / AFP
จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญ เมื่อวันที่ 2 มกราคม ที่ผ่านมา เครื่องบินแอร์บัส A350 ของสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ส เที่ยวบิน JL516 ได้ชนเข้ากับเครื่องบินเล็กของหน่วยยามฝั่งญี่ปุ่น ขณะลงจอดที่สนามบินฮาเนดะ ในกรุงโตเกียว จนเป็นเหตุให้เกิดระเบิดและไฟลุกไหม้ ผู้โดยสารและลูกเรือทั้ง 379 ชีวิต สามารถหลบหนีออกมาได้ทันและปลอดภัยทั้งหมด ในขณะที่ลูกเรือของเครื่องบินของหน่วยยามฝั่งเสียชีวิต 5 ราย และกัปตันบาดเจ็บสาหัส
วิดีโอและภาพที่แชร์บนโซเชียลมีเดียเผยให้เห็นผู้โดยสารตะโกนอย่างหวาดกลัวภายในห้องโดยสารที่เต็มไปด้วยควันภายในเครื่องบินภายหลังจากเกิดเพลิงไหม้ ก่อนที่จะหลบหนีออกมาอย่างรวดเร็วโดยใช้สไลด์อพยพฉุกเฉิน ในขณะที่เปลวเพลิงก็โหมกระหน่ำลุกท่วม จนในที่สุดผู้โดยสาร 367 ราย และลูกเรือ 12 ราย สามารถอพยพออกมาได้ปลอดภัย แม้ว่าจะมีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ 14 ราย แต่ไม่รุนแรงหรือเป็นอันตรายถึงชีวิต
เท็ตสึโอะ ไซโตะ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของญี่ปุ่น แถลงการณ์ระบุว่า เครื่องบินของสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ส กำลังพยายามลงจอดตามปกติบนรันเวย์ ก่อนที่จะชนเข้ากับเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเล Dash-8 ของหน่วยยามฝั่ง ซึ่งกำลังมุ่งหน้าไปยังทางฝั่งตะวันตกของญี่ปุ่น เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวรุนแรงก่อนหน้านั้น โดยยืนยันว่า ลูกเรือของเครื่องบินหน่วยยามฝั่ง 5 รายเสียชีวิต ส่วนกัปตันวัย 39 ปี สามารถหลบหนีออกมาได้ แต่ได้รับบาดเจ็บรุนแรง ทั้งนี้ ไม่มีรายงานเกี่ยวกับเครื่องยนต์หรือปัญหาอื่น ๆ บนเครื่องบินก่อนที่จะลงจอด
ภาพจาก STR / JIJI PRESS / AFP
ตามข้อมูลจากบันทึกติดตามการสื่อสารของสนามบิน เที่ยวบินดังกล่าวออกเดินทางจากสนามบินนิวชิโตเสะ เมื่อเวลา 16.27 น. และมาถึงสนามบินฮาเนดะเวลา 17.43 น ขณะนั้นทางนักบินของสายการบินเจแปนแอร์ไล์ส ได้รับอนุญาตจากทางเจ้าหน้าที่หอบังคับการการบินให้ลงจอดที่รันเวย์ 34R หรือที่เรียกว่า รันเวย์ C ทว่าหลังจากนั้นไม่ถึง 3 นาที เครื่องบินแอร์บัส A350 ก็ชนเข้ากับเครื่องบินเล็กของหน่วยยามฝั่ง ซึ่งในการบันทึกของศูนย์ควบคุมจราจรทางอากาศ ยังไม่มีการเปิดเผยแน่ชัดว่า เครื่องบินยามชายฝั่งได้รับอนุญาตให้อยู่บนรันเวย์หรือไม่
ทั้งนี้ รายงานระบุว่า เครื่องบินพาณิชย์ในปัจจุบันจำเป็นต้องสามารถอพยพได้อย่างสมบูรณ์ภายในเวลาไม่เกิน 90 วินาที โดยใช้สไลด์ฉุกเฉิน ซึ่งทางลูกเรือของสายการบินดังกล่าวสามารถปฏิบัติได้ตามหลักสูตร และดูเหมือนว่าจะไม่มีผู้โดยสารคนใดห่วงสัมภาระแบกกระเป๋าใบใหญ่ของพวกเขาติดตัวมาด้วย ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การอพยพประสบความสำเร็จ และรอดพ้นจากโศกนาฏกรรมมาได้
ติดตามอ่าน ข่าวต่างประเทศ ที่น่าสนใจได้ที่นี่
ขอบคุณข้อมูลจาก straitstimes, japantoday, BBC