มข. ยกย่อง เทพ โพธิ์งาม เป็นศิลปินมรดกอีสาน ขอถามคำเดียว อีสานตรงไหน ไม่เคยแสดงผลงานให้เห็นแม้แต่นิดเดียว เวลาพูดก็พูดภาษากลาง ขนาดหมอลำกลอนชื่อดัง ยังไม่ได้ - หม่ำ จ๊กมก เหมาะสมกว่า
ทั้งนี้ รางวัลดังกล่าวแบ่งเป็น 3 สาขา ได้แก่ สาขาทัศนศิลป์, สาขาวรรณศิลป์ และสาขาศิลปะการแสดง ซึ่งบุคคลที่ได้รับรางวัลส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับธรรมเนียมประเพณีอีสาน และจะมีการมอบโล่เชิดชูเกียรติศิลปินมรดกอีสาน ในวันอังคารที่ 2 เมษายน 2567 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
อย่างไรก็ตาม มีชื่อของนายสุเทพ โพธิ์งาม หรือเทพ โพธิ์งาม นักแสดงตลกชื่อดังอยู่ในกลุ่มสาขาศิลปะการแสดงด้วย ทำให้การคอมเมนต์และแชร์หลักพันครั้ง และหลายคนได้ออกมาตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในครั้งนี้
ทั้งนี้ ได้มีคอมเมนต์ว่า เทพ โพธิ์งาม แม้จะเกิดที่ จ.ร้อยเอ็ด แต่เขากลับไปเติบโตที่ จ.นราธิวาส และ สงขลา และที่ผ่านมากลับไม่มีผลงานที่เชื่อมโยงกับความเป็นอีสานเลยแม้แต่นิดเดียว โดยเฉพาะการแสดงก็ไม่เคยใช้ภาษาอีสานในการแสดง การแสดงตลกที่เป็นอาชีพหลัก เทพ โพธิ์งาม ก็ใช้ภาษากลางในการแสดง แม้กระทั่งการให้สัมภาษณ์ต่าง ๆ ก็ไม่ได้มีการใช้ภาษาอีสาน รวมถึงการเชิดชูคุณค่าวัฒนธรรมแบบอีสาน ทั้งหมอลำ การรำ การแต่งกาย และแม้ว่าเทพ โพธิ์งาม จะเป็นคนอีสาน แต่เทพแทบจะไม่แสดงตัวหรือแสดงออกถึงความภาคภูมิใจในการเป็นคนอีสาน เหตุใด มข. ถึงเอามาเชิดชูว่าเป็นศิลปินมรดกอีสาน
นอกจากนี้ บางคนยังบอกว่ามีหลายคนมากมายที่เหมาะสมกว่าเทพ โพธิ์งาม เช่น ถ้าหากต้องการนักแสดงตลก หม่ำ จ๊กม๊ก ยังเหมาะสมกว่า เพราะนอกจากหม่ำจะแสดงตลกโดยใช้ภาษาอีสานแล้ว ผลงานของหม่ำหลายชิ้น เช่น แหยม ยโสธร ที่พูดอีสานทั้งเรื่อง, ส้ม ปลา น้อย, อีกทั้งคนอื่น ๆ เช่น แม่บานเย็น ศรีวงษา หมอลำกลอนคนดัง บางคนถึงกับบอกว่าควรเอารางวัลไปให้ยายจึ้น ยายแหลม นักแสดงตลกแห่งคณะเสียอีสานด้วยซ้ำ หรือกระทั่ง ใหญ่หน้ายาน แห่งวงเพชรพิณทอง
ในขณะที่บางคน ก็เรียกร้องมหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้เปิดเผยเกณฑ์การตัดสินว่าใครสมควรได้รับรางวัล มีการทวงถามถึงผลงานของป๋าเทพ และบอกว่าป๋าเทพไม่เคยอยู่ในใจประชาชน มิหนำซ้ำยังมีทีท่ายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีก
สำหรับผู้ได้รับรางวัลทั้งหมด มีดังนี้
สาขาทัศนศิลป์ มีผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติ 3 ท่าน ได้แก่
1. นางสาวจินตนา เปี่ยมศิริ (จิตรกรรมร่วมสมัย)
2. นายพงษ์ชยุตน์ โพนะทา (หัตถกรรม)
3. นายภัฎ พลชัย (ประติมากรรม)
สาขาวรรณศิลป์ มีผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติ 2 ท่าน ได้แก่
1. นายปรีดา ปัญญาจันทร์ (วรรณกรรมเยาวชน)
2. นายไชยา วรรณศรี (วรรณกรรมร่วมสมัย)
สาขาศิลปะการแสดง มีผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติ 10 ท่าน ได้แก่
1. นายบุญชื่น บุญเกิดรัมย์ (การแสดง)
2. นายบุญเสริม เพ็ญศรี (หมอลำกลอนทำนองอุบล)
3. นายสุเทพ โพธิ์งาม (นักแสดงตลก)
4. นางทองวัน ตรีสูน (หมอลำกลอนทำนองพุทไธสง)
5. นายศรชัย เมฆวิเชียร (นักร้องลูกทุ่ง)
6. นายบุญจัน ชูชีพ (หมอลำกลอนทำนองพุทไธสง)
7. นายเรืองยศ พิมพ์ทอง (เรียบเรียงเสียงประสาน)
8. นายธงชัย ประสงค์สันติ (ผู้จัดละคร)
9. นายพงษ์สิทธิ์ คำภีร์ (นักร้องเพลงเพื่อชีวิต)
10. นางเพชราภรณ์ กาละพันธ์ (หมอลำกลอนประยุกต์)
ภาพจาก เฟซบุ๊ก ขนมเปี๊ยะขั้นเทพ