x close

เปิดแอร์ที่ 35 องศากับ 41 องศา ทำไมค่าไฟต่างกันบานเบอะในเดือนเมษายน มีคำตอบ


          กระทรวงพลังงานเผยข้อมูล เปิดแอร์ที่ 35 องศากับ 41 องศา ทำไมค่าไฟต่างกันบานเบอะ มีคำตอบ พร้อมวิธีการช่วยประหยัดไฟมากขึ้น

          เมื่อเข้าสู่เดือนเมษายนของทุกปี อากาศที่แสนร้อนอบอ้าวมาพร้อมกับค่าไฟที่พุ่งกระฉูดจนหลายคนบ่น สืบเนื่องจากการเปิดแอร์ดับร้อน ซึ่งหลายคนอาจจะไม่รู้ว่า อากาศที่ร้อนขึ้น มีผลต่อค่าไฟแพงไม่มากก็น้อย

เปิดแอร์ ค่าไฟแพง

          วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เฟซบุ๊ก กระทรวงพลังงาน มีการลงผลการทดสอบเครื่องปรับอากาศ ขนาด 12,000 BTU โดยเทียบกับอุณหภูมิภายนอก 2 ระดับ ระหว่าง 35 องศาเซลเซียสกับ 41 องศาเซลเซียส ว่าค่าไฟแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน ภายใต้เงื่อนไขดังนี้

          - แอร์ขนาด 12,000 BTU

          - เปิดที่ 26 องศาเซลเซียส 8 ชั่วโมงต่อวัน

          - คำนวณจากค่าไฟเฉลี่ย 3.90 บาทต่อหน่วย

ผลการทดสอบ


          ทั้งนี้ ผลการทดสอบ ระบุไว้ดังนี้

1. อุณหภูมิภายนอก 35 องศาเซลเซียส

          - เปิดแอร์ 1 ชั่วโมง จะใช้ไฟชั่วโมงละ 0.69 หน่วย

          - คิดเป็นเงิน 2.69 บาท/ชั่วโมง

          - เปิดแอร์ 8 ชั่วโมง/วัน ใช้ไฟ 5.52 หน่วย/วัน

          - คิดเป็นเงิน 21.52 บาท/วัน

          - ค่าไฟต่อเดือน (30 วัน) จะอยู่ที่ 645.60 บาท

2. อุณหภูมิภายนอก 41 องศาเซลเซียส

          - เปิดแอร์ 1 ชั่วโมง จะใช้ไฟชั่วโมงละ 0.79 หน่วย

          - คิดเป็นเงิน 3.08 บาท/ชั่วโมง

          - เปิดแอร์ 8 ชั่วโมง/วัน ใช้ไฟ 6.32 หน่วย/วัน

          - คิดเป็นเงิน 24.64 บาท/วัน

          - ค่าไฟต่อเดือน (30 วัน) อยู่ที่ 739.20 บาท

          ผลการทดสอบ ระบุได้ว่า อุณหภูมิภายนอกที่สูงขึ้น ทำให้ค่าไฟสูงขึ้นตามไปด้วย และถ้าไม่ต้องการให้ค่าไฟสูงเกินไป สามารถทำได้ด้วยการปรับแอร์ที่อุณหภูมิ 26 องศาเซลเซียสแล้ว อาจเปิดพัดลมช่วย และปิดม่านบังแสงแดด ซึ่งจะช่วยให้แอร์ทำงานได้ดียิ่งขึ้น

เปิดแอร์ ค่าไฟแพง
ภาพจาก เฟซบุ๊ก กระทรวงพลังงาน

ปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เดือนเมษายนค่าไฟแพง


          เฟซบุ๊ก กระทรวงพลังงาน ยังมีการระบุถึง 3 เหตุผลสำคัญที่ทำให้เดือนเมษายนมีค่าไฟแพง ทั้งที่ใช้ไฟเท่าเดิม มีสาเหตุดังนี้

1. เด็กปิดเทอม

          เด็ก ๆ อยู่บ้านมากขึ้น เปิดแอร์ ตู้เย็น ทีวี พัดลม มากกว่าเดือนอื่น ๆ ทำให้มีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้นกว่าปกติ

2. แอร์ทำงานหนัก

          สภาพอากาศที่ร้อนจัดกว่าเดือนอื่น ๆ ทำให้แอร์ทำงานหนักขึ้น ทั้งที่เปิดอุณหภูมิและเวลาใช้งานเท่าเดิม จนส่งผลให้ค่าไฟสูงกว่าปกติ

3. ค่าไฟอัตราก้าวหน้า

          ไทยคิดค่าไฟรูปแบบอัตราก้าวหน้า ยิ่งใช้ไฟมากขึ้น ค่าไฟต่อหน่วยก็จะแพงขึ้นตามไปด้วย

เปิดแอร์ ค่าไฟแพง
ภาพจาก เฟซบุ๊ก กระทรวงพลังงาน

เทคนิค 5 ป. ช่วยลดค่าไฟ


          หนึ่งในวิธีแก้ปัญหา ทางกระทรวงพลังงานแนะนำให้ลองใช้เทคนิค 5 ป. ได้แก่

          1. ปิด - ปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็น

          2. ปรับ - ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้อยู่ที่ 26 องศา หากยังร้อนอยู่ให้ใช้พัดลมช่วย

          3. ปลด - ปลดปลั๊กเมื่อไม่ใช้งาน

          4. เปลี่ยน - เปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5

          5. ปลูก - ปลูกต้นไม้ สร้างร่มเงา รักษาสิ่งแวดล้อม



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดแอร์ที่ 35 องศากับ 41 องศา ทำไมค่าไฟต่างกันบานเบอะในเดือนเมษายน มีคำตอบ อัปเดตล่าสุด 3 พฤษภาคม 2567 เวลา 13:51:16 9,560 อ่าน
TOP