x close

หมดกัน ! วัดดังโบกปูนทับยักษ์ล้านนา อายุ 500 ปี ไม่เหลือแล้วสภาพโบราณวัตถุ

          หมดกัน ! วัดดังโบกปูนทับยักษ์ล้านนา อายุ 500 ปี ไม่เหลือแล้วสภาพโบราณวัตถุ เรียกร้องคนที่บูรณะกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แสดงความรับผิดชอบ
 วัดดังโบกปูนทับยักษ์ล้านนา อายุ 500 ปี
ภาพจาก ช่อง 3

          วันที่ 8 มิถุนายน 2567 ข่าวช่อง 3 รายงานว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยจังหวัดเชียงใหม่ เข้าร้องเรียนผู้สื่อข่าวกรณีพบยักษ์โบราณเก่าแก่อายุ 500 ปี ถูกโบกปูนให้กลายเป็นของใหม่อย่างน่าเสียดาย โดยต้องการเรียกร้องให้ผู้ที่ตัดสินใจบูรณะยักษ์ดังกล่าวออกมาแสดงความรับผิดชอบ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 
          โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรชัย จงจิตงาม อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ที่วัดอุโมงค์สวนพุทธธรรม เชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ มีการซ่อมแซมประติมากรรมปูนปั้นภาพยักษ์ขนาดใหญ่ ด้วยการปั้นพอกจนกลายเป็นของใหม่

          สำหรับประติมากรรมปูนปั้นยักษ์ดังกล่าว เป็นปูนปั้นขนาดใหญ่ สูงราว 2 เมตร เป็นรูปยักษ์ในศิลปะล้านนา พบอยู่ภายในวัดอุโมงค์มาตั้งแต่ยังเป็นวัดร้างอยู่กลางป่าหลายร้อยปี โดยคณะสงฆ์และผู้ศรัทธาของวัดอุโมงค์สวนพุทธธรรมที่นำโดยท่านพุทธทาสภิกขุ และท่านปัญญานันทภิกขุ ได้ฟื้นฟูวัดอุโมงค์ขึ้นมา พวกท่านทั้งสองได้พบเห็นประติมากรรมยักษ์นี้แล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2490 และทราบความสำคัญของศิลปกรรมล้ำค่าของบรรพบุรุษล้านนาแต่โบราณ จึงทำการรักษาไว้ตามเดิมสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

          ประติมากรรมยักษ์ที่วัดอุโมงค์ มีอายุไม่น้อยกว่า 400-500 ปี เพราะศิลปะโบราณภายในวัดได้ถูกทิ้งร้างไปตั้งแต่ครั้งเชียงใหม่ตกเป็นเมืองขึ้นพม่าเมื่อราว 400 ปีก่อน ประติมากรรมยักษ์นี้สภาพยังสมบูรณ์อยู่มาก มีศีรษะ และลำตัวครบ แม้แขนจะชำรุดบ้าง แต่ก็เป็นศิลปะที่มีค่าและหาได้ยากมาก ประติมากรรมยักษ์ที่วัดอุโมงค์จึงมีความสำคัญในฐานะเป็นต้นแบบในการศึกษาภาพยักษ์ในศิลปะล้านนา และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อันหาได้ยากที่ควรรักษาไว้


          อย่างไรก็ตาม เมื่อราวปลายปี 2566 กลับมีบุคคลจากภายนอกที่ไม่รู้คุณค่าของศิลปะโบราณ นำช่างฝีมือรุ่นใหม่มาทำการปั้นพอกปูนทับยักษ์โบราณในรูปแบบที่ปั้นใหม่ขึ้นทั้งหมด ทำให้ยักษ์วัดอุโมงค์กลายเป็นของใหม่อย่างสิ้นเชิง ไม่เห็นผิวปูนโบราณแต่ดั้งเดิมเลยแม้แต่น้อย ทำให้ศิลปะของโบราณหมดคุณค่า ก่อให้เกิดความเสียหายทางศิลปกรรม เพราะการซ่อมที่ถูกต้องนั้นในยุคปัจจุบันก็มีหลักการสากลถือปฏิบัติอย่างชัดเจน เช่น การทำความสะอาดผิวปูน การเสริมความแข็งแรงให้กับเนื้อปูนโบราณ หากจำเป็นต้องเสริมปูนเพิ่มเติมขึ้นใหม่ต้องระวังไม่ให้ไปทับกับเนื้อปูนที่เป็นฝีมือเดิมเมื่อหลายร้อยปีก่อน

          ทั้งนี้ แม้ว่าจะเจตนาดีที่อยากซ่อมแซมของโบราณ แต่ผู้ซ่อมก็ควรมีความรู้ในหลักการอนุรักษที่เป็นสากล ต้องระมัดระวังไม่ให้ทำลายคุณค่าของฝีมือช่างแต่เดิม หากไม่มีความรู้ก็ควรเข้าไปปรึกษาหารือผู้ที่มีความรู้ก่อนการดำเนินการ

          ดังนั้น บุคคลผู้ที่เป็นต้นความคิดในการซ่อม และออกเงินในการซ่อมควรออกมาแสดงความรับผิดชอบ รวมทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบ ออกมาและชี้แจงกับสาธารณะเพราะงานศิลปะโบราณไม่ใช่สมบัติส่วนตัว หากคิดว่าการกระทำเช่นนั้นของตนถูกต้องก็ควรออกมาชี้แจงเหตุผลของตนแก่สังคมด้วย

          และในฐานะที่ยักษ์ดังกล่าวเป็นโบราณวัตถุของชาติ อีกทั้งวัดอุโมงค์ยังเป็นได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณาสถานตั้งแต่ปี 2478 ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรตรวจสอบการเข้าไปซ่อมแซมว่ากระทำไปถูกขั้นตอนหรือไม่

ขอบคุณข้อมูลจาก ช่อง 3


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หมดกัน ! วัดดังโบกปูนทับยักษ์ล้านนา อายุ 500 ปี ไม่เหลือแล้วสภาพโบราณวัตถุ โพสต์เมื่อ 8 มิถุนายน 2567 เวลา 13:43:25 16,949 อ่าน
TOP