x close

ปิดแอปฯ Robinhood ถาวร ใช้ได้ถึง 31 ก.ค. คาดสาเหตุใหญ่ ทำไมเป็นแบบนี้ ทั้งที่มีคนใช้เพียบ


           เอสซีบี เอกซ์ แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ จะมีการปิดบริการแอปฯ Robinhood แอปฯ สั่งอาหารเจ้าดัง หลังจากเปิดบริการแค่ 4 ปี มาดูสาเหตุชัด ๆ ทำไมต้องปิดแอปฯ ทั้งที่คนใช้บริการก็เยอะ ไรเดอร์ก็แยะ แตกสาขาไปเรื่อย ๆ

Robinhood Delivery
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Robinhood Delivery

           วันที่ 25 มิถุนายน 2567 เฟซบุ๊ก Robinhood Delivery รายงานว่า บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) ได้มีการแจ้งยุติการให้บริการแอปพลิเคชันชื่อดังอย่าง Robinhood โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป และลูกค้าจะไม่สามารถใช้แอปฯ โรบินฮู้ดได้อย่างถาวร ส่วนผู้ประกอบการ ไรเดอร์ คนขับรถยนต์โดยสาร สามารถใช้แอปฯ Robinhood Shop, Robinhood Rider, Robinhood Driver ได้ถึง 31 กรกฎาคม 2567 เวลา 20.00 น.

           ทั้งนี้ แอปฯ Robinhood เป็นแอปพลิเคชันชื่อดัง ที่เป็นแพลตฟอร์มสั่งอาหาร ส่งของ และเรียกรถยนต์ สร้างขึ้นมาเมื่อช่วงโควิด โดยมีข้อแตกต่างจากแอปฯ สั่งอาหารเจ้าอื่นคือ จะไม่มีการเรียกเก็บค่า GP เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของร้านอาหารและธุรกิจต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และหัวเมืองท่องเที่ยว และเมื่อไม่มีการคิดค่า GP ก็ทำให้ราคาค่าอาหารในแอปฯ ราคาเดียวกันกับหน้าร้าน ช่วยเหลือผู้ประกอบการ ช่วยเหลือลูกค้า และทำให้ไรเดอร์หลายหมื่นคนมีงานทำ ซึ่งเงินที่ใช้ในการลงทุนนั้น มาจากกลุ่ม เอสซีบี เอกซ์

Robinhood Delivery
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Robinhood Delivery

เปิดผลประกอบการ โรบินฮู้ด 4 ปีขาดทุน 5,500 ล้าน บริษัทแม่อัดฉีดไม่ไหว ขาดทุน = กำไร 5%


           อย่างไรก็ตาม เมื่อมองไปที่ผลประกอบการของบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของแอปฯ โรบินฮู้ด จะพบว่า นับตั้งแต่ปี 2564-2567 บริษัทมีการขาดทุนสะสมเรื่อย ๆ ดังนี้

           - ปี 2563 มีรายได้รวมประมาณ 81,549 บาท ขาดทุนประมาณ 87 ล้านบาท

           - ปี 2564 มีรายได้รวมประมาณ 15 ล้านบาท ขาดทุนประมาณ 1,335 ล้านบาท

           - ปี 2565 มีรายได้รวมประมาณ 538 ล้านบาท ขาดทุนประมาณ 1,986 ล้านบาท

           - ปี 2566 มีรายได้รวมประมาณ 724 ล้านบาท ขาดทุนประมาณ 2,155  ล้านบาท

           รวมแล้วตั้งแต่ที่เปิดบริการมา ทั้งแอปฯ ได้ขาดทุนไปแล้วกว่า 5,563 ล้านบาท

Robinhood Delivery

           ในขณะที่ ลงทุนแมน เพจด้านการลงทุนชื่อดัง ก็ได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ในตอนแรกแอปฯ โรบินฮู้ด ตั้งใจที่จะเป็นโปรเจกต์ CSR ที่ช่วยเหลือสังคมของเอสซีบี เอกซ์ ทางแอปฯ จึงไม่มีการเก็บค่า GP และทำให้นี่กลายเป็นจุดแข็งของแอปฯ ทำให้ราคาค่าอาหารถูก ผู้ประกอบการมีกำไร ไรเดอร์ได้ค่ารอบที่เป็นธรรม และประชาชนได้ของถูก แต่ถึงกระนั้น การที่ไม่เก็บค่า GP ก็ทำให้ทางแอปฯ ขาดทุนสะสมไปเรื่อย ๆ เพราะทุกอย่างมีค่าใช้จ่ายหมดทั้ง ค่าดำเนินงาน ค่าพัฒนาแอปฯ ค่าพนักงานหลังบ้าน, เงินค่าการตลาด, เงินจูงใจไรเดอร์, โค้ดส่วนลด และอื่น ๆ

           และแม้ว่าทางเอสซีบี เอกซ์ จะเตรียมใจมาแล้วว่าแอปฯ จะขาดทุน และพยายามควบคุมทุกอย่าง ทั้งการเปิดแอปฯ แค่ในกรุงเทพฯ, การหาค่าโฆษณา, เปิดบริการเรียกรถ ฝากซื้อของ ส่งของ, จองตั๋วโรงแรมและตั๋วเครื่องบิน แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะชดเชยเงินที่ไหลออก นอกจากนี้ หากมองที่ผลกำไรในปีล่าสุด เอสซีบี เอกซ์ มีกำไรกว่า 43,521 ล้านบาท แต่แอปฯ โรบินฮู้ดขาดทุนกว่า 2,155 ล้านบาท นั่นเท่ากับว่า ผลขาดทุนของแอปฯ คิดเป็น 5% ของสัดส่วนกำไรของเอสซีบี เอกซ์ หากไม่มีแอปฯ นี้ ทางเอสซีบี เอกซ์ จะมีกำไรเพิ่มขึ้นมา 5% โดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย และเรื่องนี้ทำให้รู้ว่า บริษัทที่ขาดทุนหนักและไม่มีแนวโน้มจะทำกำไร แม้บริษัทแม่จะคอยหนุนหลังอัดฉีดเงินให้เรื่อย ๆ แต่ก็ไม่การันตีว่าธุรกิจนั้นจะรอด

Robinhood Delivery
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Robinhood Delivery

Robinhood Delivery
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Robinhood Delivery

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปิดแอปฯ Robinhood ถาวร ใช้ได้ถึง 31 ก.ค. คาดสาเหตุใหญ่ ทำไมเป็นแบบนี้ ทั้งที่มีคนใช้เพียบ อัปเดตล่าสุด 26 มิถุนายน 2567 เวลา 10:34:02 16,535 อ่าน
TOP