อ.เจษฎา เฉลยแล้ว ไข่ไก่ควรล้างก่อนแช่ตู้เย็นหรือทำอาหารหรือไม่ หลังมีคนบอกว่า ต้องล้างทุกครั้ง มิเช่นนั้นจะติดเชื้อจากตูดไก่
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant
วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ของ รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการโพสต์ข้อความเรื่อง จำเป็นต้องล้างไข่ไก่ก่อนแช่ตู้เย็นหรือทำอาหารหรือไม่ โดยระบุว่า
"ได้รับคำถามหลังไมค์มา จากที่บางเพจแนะนำให้ ต้องล้างไข่ ทุกครั้งก่อนเข้าแช่ตู้เย็น ไม่งั้นอาจติดเชื้อจากตูดไก่ โดยอ้างว่าไข่ไก่ดิบนั้นมีโอกาสที่จะปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ มาจากลำไส้ของแม่ไก่ โดยเชื้อจุลินทรีย์สำคัญที่ก่อให้เกิดโรคที่พบมากในไข่ ก็คือ เชื้อแซลโมเนลลา (Salmonella) ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเป็นไข้ ถ่ายเหลว หรืออาเจียนได้
แม้ว่าการล้างไข่ไก่ก่อนแช่ตู้เย็น จะช่วยทำความสะอาดชะล้างสิ่งสกปรกสิ่งปนเปื้อนต่าง ๆ ที่อาจติดมากับไข่ แต่หน่วยงานด้านอาหารส่วนใหญ่ แนะนำว่า ไม่ควรล้างไข่ไก่ที่ผ่านการบรรจุกล่องจำหน่ายแล้ว ก่อนเก็บหรือนำไปประกอบอาหารครับ เพราะจะไปทำให้สารที่เคลือบผิวของไข่ตามธรรมชาติ หลุดออก และน้ำที่ล้างนั้น กลับจะยิ่งทำให้เชื้อจุลินทรีย์ผ่านรูพรุนที่ผิวเปลือกไข่ เข้าสู่ภายในไข่ได้ง่ายขึ้น
เป็นเรื่องจริงที่ว่า เปลือกไข่ที่สกปรกนั้น อาจจะมีเชื้อแบคทีเรีย แซลโมเนลลา ปนเปื้อนอยู่ และเชื้อสามารถผ่านรูพรุนที่เปลือกไข่เข้าไปได้ โดยที่ดวงตาของเรา ก็ไม่สามารถมองเห็นได้ว่าไข่นั้นมีเชื้ออยู่หรือไม่ รวมถึงอาจจะมีการแพร่กระจายของเชื้อ ผ่านการหยิบจับ ไปยังอุปกรณ์เครื่องใช้และพื้นผิวบริเวณที่ประกอบอาหารอีกด้วย
แต่ถึงกระนั้น เราไม่ได้จำเป็นที่จะต้องนำไข่ไปล้าง แต่ถ้าอยากจะล้าง ก็จะต้องแช่ตู้เย็นเสมอ หลังจากที่ล้างแล้ว (ส่วนไข่ที่ไม่ได้ล้าง กลับสามารถเก็บไว้นอกตู้เย็น ได้เป็นเวลานานเป็นสัปดาห์)
ส่วนไข่ที่มาจากไก่ที่เลี้ยงแบบพื้นบ้านนั้น ก็เป็นไปได้ที่จะมีมูลไก่และเศษสิ่งสกปรกติดปนมาได้ ซึ่งถ้าสกปรกไม่ค่อยมาก ก็อาจจะทำความสะอาดโดยการเช็ดด้วยผ้าสะอาด ไม่ขัดถูแรง ๆ จนทำให้เปลือกไข่เสียหาย แล้วเก็บไว้ในที่เย็น จะสามารถเก็บไว้ได้หลายสัปดาห์
แต่ถ้าสกปรกมาก ก็ใช้น้ำเปล่าอุณหภูมิ 32-48 องศาเซลเซียส (น้ำอุ่นจะทำให้เปลือกไข่ขยายตัวและลดโอกาสที่เชื้อจะผ่านรูพรุนเข้ามา ได้มากกว่าน้ำเย็นที่จะทำให้เชื้อเข้าสู่ไข่ได้ง่ายขึ้น) ล้างสิ่งสกปรกออกได้ โดยให้ล้างไข่ทีละฟองและทำให้แห้งโดยเร็ว ถ้าจะใช้สบู่ด้วย ก็ให้ใช้แบบที่ผสมกลิ่นหอม
และถ้าล้างทำความสะอาดไข่ ก็ต้องให้มั่นใจว่าได้ทำความสะอาดพื้นผิวบริเวณนั้นให้ปลอดเชื้อด้วย เวลาหยิบจับไข่ดิบแล้ว ก็ต้องไปล้างมือทำความสะอาดให้ปลอดเชื้อเช่นกัน
ที่สำคัญคือ หลีกเลี่ยงการกินไข่ดิบ ๆ หรือกึ่งดิบกึ่งสุก เพราะเชื้อแซลโมเนลลาอาจจะไม่ได้อยู่แค่ที่เปลือกไข่ แต่ได้เข้าไปอยู่ในฟองไข่แล้ว จึงควรนำไปทำให้สุก ที่อุณหภูมิอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส จนไข่มีเนื้อแข็ง สุกแล้ว"