x close

The Chinese Banquet Story

โต๊ะจีน


          หากถามถึงรูปแบบการจัดเลี้ยงที่โดนใจว่าที่บ่าวสาวทั้งหลาย "โต๊ะจีน" คงได้รับโหวตเป็นอันดับท้ายๆ ด้วยความรู้สึกว่ามีข้อจำกัดและความไม่สะดวกต่างๆ มากมาย ในขณะที่โต๊ะจีนกลับเป็นตัวเลือกหนึ่งเดียวในดวงใจของผู้ใหญ่ (ซึ่งมักเป็นผู้สนับสนุนหลักในด้านค่าใช้จ่ายด้วยสิ !) เพื่อไม่ให้เกิดเหตุพิพาทระหว่างปาป๊ามาม้ากับบ่าวสาว จึงเป็นที่มาของคอลัมน์ Two Seats Special ด้วยประการฉะนี้

 ทำไมต้องโต๊ะจีน

          ลูกหลานแต่งงานทีไร อากงอาม่าเป็นต้องสั่งจัดโต๊ะจีนทุกที เรียกว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ (ภาคบังคับ) อย่างหนึ่งของผู้มีเชื้อสายจีนก็ว่าได้ เมื่อแขกเหรื่อมาร่วมแสดงความยินดีแล้ว ถือเป็นหน้าที่เจ้าภาพในการจัดเตรียมอาหารต้อนรับแขกให้อิ่มหมีพีมัน กลับบ้านอย่างมีความสุข จะว่าไปก็เหมือนการเลี้ยงดูปูเสื่อแบบคนไทยนั่นเอง แต่เอาเข้าจริงก็มิใช่เฉพาะโก๋ตี๋กี๋หมวยเท่านั้นที่จัดงานแต่งงานแบบโต๊ะจีน นั่นเป็นเพราะข้อดีดังต่อไปนี้
(ตารางเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียของโต๊ะจีน)

 การจัดเลี้ยงแบบโต๊ะจีน 

          ข้อดี

          - เหมาะกับงานที่มีแขกผู้ใหญ่เยอะ เพราะมีที่นั่งพร้อมบริการเสิร์ฟอาหาร ไม่ต้องเดินไปตักอาหารเองและไม่ต้องยืนรับประทาน ทำให้งานเป็นระเบียบ ไม่วุ่นวาย

          - แขกชื่นชอบ ได้นั่งสบาย รับประทานอาหารหลากหลายอย่างทั่วถึงและอิ่มท้อง

          - หลายคนอาจเข้าใจผิดคิดว่าการจัดโต๊ะจีนเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่างานเลี้ยงแบบอื่นๆ แต่หากคำนวณจำนวนแขกได้แม่นยำ เลือกอาหารได้เหมาะสม รับรองว่าไม่แพงอย่างที่คิด

          ข้อเสีย

          - รองรับแขกได้น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับการจัดงานรูปแบบอื่นๆ ในสถานที่เดียวกัน

          - การเตรียมงานค่อนข้างยุ่งยากในการกะจำนวนและจัดที่นั่งแขกให้เหมาะสม เพราะหากจองโต๊ะมากหรือน้อยเกินไป ส่งผลด้านค่าใช้จ่ายและความสะดวกต่างๆ เช่น การเสริมที่นั่ง การเตรียมอาหารไม่ทันเวลา เป็นต้น

          - ใช้เวลานานประมาณ 2-3 ชั่วโมงกว่าจะเสิร์ฟอาหารครบทุกคอร์ส และแขกที่มาก่อนอาจต้องหิ้วท้องรอ เพราะถ้ามากันไม่ถึง 70% จะยังไม่เสิร์ฟอาหารจานแรก

          - แขกได้สังสรรค์กันเฉพาะในโต๊ะ ต่างจากการจัดเลี้ยงแบบค็อกเทลหรือบุฟเฟ่ต์ที่เดินทักทายกันได้ทั่วงาน

          - หากนั่งผิดที่ผิดทาง ต้องร่วมโต๊ะกับคนที่ไม่รู้จักหรือไม่สนิท (ซ้ำร้ายอาจเป็นอริในอดีต) แขกอาจไม่สนุก ทำให้บรรยากาศในงานกร่อยได้

 ทำอย่างไรเมื่อต้องจัดโต๊ะจีน

          ขั้นตอนการเตรียมงานหลักๆ เหมือนงานเลี้ยงรูปแบบอื่นๆ นั่นคือ การหาฤกษ์แต่งงาน สรุปรูปแบบการจัดงาน สำรวจงบประมาณในกระเป๋า ลิสต์รายชื่อแขก จองสถานที่ เลือกแพ็คเกจอาหาร แต่มีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันนิดหน่อยสำหรับโต๊ะจีนคือต้องเน้นจำนวนแขกให้ใกล้เคียงความจริงที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะต้องระบุที่นั่งและจัดจำนวนโต๊ะให้เหมาะสม รวมทั้งต้องให้ความสำคัญในการเลือกเมนูอาหารเป็นพิเศษ ทั้งนี้เพราะโต๊ะจีนจะดีหรือไม่ดี อยู่ที่รสชาติอาหารเป็นสำคัญ

 จัดโต๊ะจีนที่ไหนดี

          "จำนวนแขก" (ที่คาดว่าจะมา) จะเป็นตัวช่วยให้คุณกับหวานใจปักธงลงโรงแรมหรือห้องจัดเลี้ยงที่ไหนได้สักแห่ง ฉะนั้นก่อนจูงมือกันตระเวนดูสถานที่ ลองพิจารณาสิ่งต่อไปนี้

โต๊ะจีน


 เทคนิคการกะจำนวนแขก

          บรรดากูรูผู้คร่ำหวอดในวงการแคเทอริงพร้อมใจกันเผยเคล็ดลับการกะจำนวนแขก โดยอาศัยประสบการณ์ในแวดวงเวดดิ้งที่สั่งสมกันมา เพื่อเป็นวิทยาทานให้ว่าที่บ่าวสาว 

          1. คำนวณจากจำนวนการ์ดเชิญเป็นหลัก

          โรงแรมเพนนินซูลา จำนวนการ์ดเชิญ x 2 x 70% = จำนวนแขกที่คาดว่าจะมา เช่น การ์ด 500 ใบ = 500x2 = 1,000x70% = 700 คน

          โรงแรมพลาซ่า แอทธินี จำนวนการ์ดเชิญ x 2 x 75% = จำนวนแขกที่คาดว่าจะมา เช่น การ์ด 500 ใบ = 500x2 = 1,000x70% = 750 คน

          2. คำนวณจากแขกที่มั่นใจว่าไม่มาแน่นอน เพื่อตัดแขกส่วนเกินออกไปล่วงหน้า

          โรงแรมโอเรียนเต็ล เสนอแนะวิธีที่ไม่ควรมองข้าม ด้วยการนับรายชื่อแขกที่มั่นใจว่าไม่สามารถมาร่วมงานได้แน่นอน เช่น ยุคข้าวยากน้ำมันแพง ถ้าไม่ซี้กันจริง คงไม่บินข้ามประเทศมา หรือเป็นคู่ค้าทางธุรกิจที่ส่งการ์ดเชิญตามมารยาท แขกประเภทนี้นิยมส่งของขวัญมากกว่าจะมาร่วมงานเอง เป็นต้น

          หมายเหตุ หากลังเลโอกาสความน่าจะมาของแขกคนไหน แนะนำให้ฟันธงไว้ก่อนว่า "มา" ท่องให้ขึ้นใจว่า "เผื่อเหลือดีกว่าเผื่อขาด" อ้อ...ระดับความสนิทสนมจะเป็นมาตรวัดโอกาสความน่าจะมา (ร่วมงาน) ได้อีกทางหนึ่งด้วย

          3. คำนวณจากแขกของแต่ละฝ่าย

แยกรายชื่อแขกให้ชัดเจนว่าเป็นแขกใครเป็นแขกใคร เช่น แขกของพ่อตาแม่ยาย ญาติเจ้าบ่าว เพื่อนเจ้าสาว วิธีนี้ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี คอนเฟิร์มว่าช่วยให้รู้จำนวนแขกที่จะมาร่วมงานได้ใกล้เคียงความจริงมากขึ้น เพราะแต่ละคนย่อมรู้จักแขกของตัวเองว่ามีแนวโน้มจะมาร่วมงานได้หรือไม่ และถ้ามาจะมาสไตล์ไหน ฉายเดี่ยว แพ็คคู่ หรือแท็คทีมกันมา

          4. คำนวณด้วยการโทรศัพท์สอบถาม

          โรงแรมบันยันทรี แนะนำว่า ก่อนวันงานสัก 2-3 วัน เจ้าภาพควรโทรศัพท์เช็กอัตราความน่าจะมาของแขก เท่าที่ผ่านมาได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เสียค่าโทรศัพท์คุ้มกว่าค่าสำรองโต๊ะเป็นไหนๆ ทั้งนี้ โรงแรมโอเรียนเต็ล ฝากข้อควรระวังในกรณีนี้ไว้ว่า ควรเลือกโทร.เฉพาะกับญาติสนิทมิตรสหายเท่านั้น อย่าได้โทร.ดะทุกรายไป โดยเฉพาะแขกผู้ใหญ่อาจไม่ค่อยเหมาะสม นอกจากนี้ เจ้าภาพต้องทำใจไว้ว่า สังคมบ้านเราไม่คุ้นเคยกับธรรมเนียมการแจ้งกลับว่าจะมาร่วมงานหรือไม่ (RSVP) หลายครั้งที่รับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะว่ามาชัวร์ แต่ถึงเวลาไม่เห็นแม้แต่เงา หรือบางคนบอกว่าไม่สะดวกติดธุระ เอาเข้าจริงกลับมาเซอร์ไพรส์กันหน้างานก็มีถมไป 

          5. คำนวณจากฤกษ์การจัดงาน

          หากเป็นวันธรรมดา ส่วนมากแขกจะบึ่งมาหลังเลิกงาน ดังนั้นมักจะมาเดี่ยวหรือไม่ก็มาเป็นคู่ มากกว่าที่จะพาบุตรหลานมาด้วย แต่หากเป็นวันดีแห่งปี เช่น วันที่ 8 เดือน 8 ปี 2008 อาจมีการจัดงานแต่งงานหลายงาน ถ้าคุณและหวานใจจัดงานโต๊ะจีน ให้มั่นใจได้เลยว่าแขกจะมาปิดท้ายที่งานของคุณชัวร์ ทั้งนี้เพราะแขกจะเดินสายไปแสดงความยินดีที่งานอื่นก่อน ซึ่งใช้เวลาสั้นๆ แค่พอทักทายบ่าวสาวและญาติผู้ใหญ่ แล้วจึงมาจบงานคุณ ด้วยเหตุผลที่การเสิร์ฟอาหารช้ากว่างานรูปแบบอื่นและมีการระบุที่นั่งค่อนข้างแน่นอนแล้ว 

          6. ปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นตัวแปรสำคัญในการกะจำนวนแขก

          - คุณและหวานใจคือสมาชิกผู้กล้าของครอบครัวที่จัดงานสละโสดเป็นคนแรก

          - ว่าที่เจ้าบ่าวหรือเจ้าสาวเป็นลูกโทนของครอบครัว

          - สำรวจตรวจสอบความกว้างขวางของคุณพ่อคุณแม่ทั้งสองฝ่าย เป็นนักธุรกิจหรือไม่ ยังทำงานอยู่หรือเปล่า มีตำแหน่งใดๆ ทางสังคมไหม ฯลฯ

          อ๊ะๆ คู่ไหนกำลังคิดว่าเป็นเรื่องโอเวอร์ WE ขอบอกว่าคุณกำลังคิดผิด เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นคีย์เวิร์ดบอกใบ้ให้รู้ว่า ปัจจัยเหล่านี้แขกมีแววว่าจะมาร่วมงานกันเยอะ เพราะหากว่าที่บ่าวสาวเป็นลูกคนเดียวของครอบครัว โอกาสมาร่วมงานแก้ตัวทีหลังคงไม่มีอีกแล้ว หรือหากเป็นการแต่งงานครั้งแรกของครอบครัวนี้ จะอย่างไรก็ต้องมาร่วมอวยพรให้ได้ รวมทั้งหากคุณพ่อคุณแม่ทำธุรกิจ มียศถา บรรดาศักดิ์ หรือตำแหน่งทางการงาน แขกย่อมต้องมางานเพื่อแสดงมิตรจิตรมิตรใจ


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
 
คอลัมน์ Two seats ฉบับเดือนสิงหาคม 2551

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
The Chinese Banquet Story อัปเดตล่าสุด 3 กันยายน 2551 เวลา 17:01:24 14,585 อ่าน
TOP