"...ผมจริงใจกับสอนนะครับ ตั้งใจอยากให้ลูกศิษย์ทุกคนเก่ง ไม่ใช่ไปสอนหลอกๆ เขา มันไม่ดี ผมเริ่มสอนต่อย หนึ่ง-สองๆ ก่อน แล้วเตะ เข่า พอเป็นหมดทุกอย่างก็เริ่มรวม ถ้ามั่วก็ไม่เก่งหรอก บางคนฉลาดเดือนเดียวเก่งแล้ว ผมสอนจนกว่าจะเป็นน่ะ แล้วแต่คนรับว่าได้แค่ไหน..."
ชื่อของ เสริมศักดิ์ ส.เสริมพงษ์ อาจไม่เป็นที่รู้จักในสังคมไทยวงกว้าง แต่หากพูดถึง "ครูน้อย" ครูมวยไทยเจ้าของค่าย ส.เสริมพงษ์ ที่นครกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ชาวกวางโจวน้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก 7 ปีในต่างแดน ครูน้อยได้เพาะบ่มลูกศิษย์มาแล้วหลายรุ่น ชื่อเสียงของค่าย ส.เสริมพงษ์ ยิ่งขจรขจายเมื่อมีงานติดต่อให้ไปแสดงมวยไทยทั่วประเทศจีน จากคนที่พูดภาษาจีนไม่ได้ บัดนี้เขาสามารถพูดกวางตุ้งได้คล่องปาก เรื่องราวเบื้องหลังสังเวียนมวยของเขาจึงน่าติดตามอย่างยิ่ง ...เป็นสังเวียนชีวิตที่มีครบทุกรสชาติ
ย้อนความตอนอยู่เมืองไทยหน่อยสิคะ?
ครูน้อย :ก็เป็นนักมวยมาตั้งแต่ต้นล่ะครับ ผมชกมวยตั้งแต่อายุ 15-16 ปี เดินทางจากบ้านที่พิษณุโลกเข้ากรุงเทพฯ มาชกมวยเลย ชกมาประมาณ 20 ปี อายุ 36 ปีน่ะถึงหยุด เรียกว่าเวทีไหนๆ ก็ไปชกมาหมด โดยเฉพาะตามต่างจังหวัด ชกประมาณ 300 ครั้ง แล้วเริ่มสอนมวยด้วย เป็นครูสอนเด็กอยู่ประมาณ 8 ปี พอดีมีคนติดต่อไปเป็นบอดี้การ์ดที่มาเก๊า
จากนักมวยมาเป็นบอดี้การ์ด ความรับผิดชอบก็ต่างกันมากสิคะ?
ครูน้อย :ทางมาเก๊าเขาต้องการบอดี้การ์ดตัวใหญ่ๆ น่ะ (ยิ้ม) อยู่ที่นั่นได้สองเดือน รายได้ประมาณเดือนละ 5,000-6,000 เหรียญ ที่นั่นค่าครองชีพสูงนะ ไม่ค่อยพอเก็บเท่าไร พอถึงสองเดือนวีซ่าหมด ต่อไม่ได้ เจ้านายบอกให้กลับเมืองไทย เขาถามว่ากลับมาจะทำอะไร ผมก็บอกจะสอนมวยต่อ เขาเลยติดต่อมาที่กวางโจว เพราะเคยได้ยินว่าคนที่กวางโจวต้องการครูมวยไทย เงินเดือนประมาณ 6,000 หยวน เป็นเงินไทยก็ประมาณ 3 หมื่นบาท ผมบอกสนใจแล้วก็มาเลย
ตอนนั้นยังเป็นลูกจ้างอยู่?
ครูน้อย :ขารับหาคนมาสอนแล้วหักค่าหัวคิว ผมก็ไปสอนตามโรงยิม ตามฟิตเนส อะไรพวกนี้ อยู่ได้สัก 6 เดือน เริ่มคิดถึงบ้าน ขอกลับ มาอยู่บ้านได้ 3-4 เดือน ลูกศิษย์ที่กวางโจวโทรมาหา เขาชวนเปิดค่าย คนนี้เขาเป็นตำรวจนะ ให้ไปสอนเสาร์-อาทิตย์ ได้เงินเดือนๆ ละ 1 หมื่นบาท
ทราบว่าตอนไปเมืองจีนระยะนั้น คุณพูดภาษาจีนกลาง หรือภาษากวางตุ้งไม่ได้เลย?
ครูน้อย : ไม่ได้เลยครับ (ยิ้ม)
แล้วสื่อสารยังไงล่ะคะ
ครูน้อย : ภาษามือเป็นหลักฮะ ตอนหลังมีคนไทยมาเรียนที่กวางโจว ผมถามเขาว่าคำนั้นเรียกอะไร คำนี้เรียกอะไร เช่น ต่อย เตะ กินข้าว ซื้อของ เงินทอน อะไรพวกนี้ ถามพวกสถานที่ด้วยว่าตรงนั้นตรงนี้เรียกว่าอะไร หลังๆ ก็ได้เอง ตอนนี้พูดคล่องแล้วนะ (ยิ้ม)
นอกจากสอนยังมีงานโชว์ศิลปะมวยไทยด้วยนะคะ?
ครูน้อย : ครับ งานโชว์เริ่มเยอะขึ้น ต่อมาเขายุบค่าย เขาบอกงานการเขาเยอะ ไม่มีเวลามาดูแลค่าย ผมก็หางานทำตามฟิตเนสต่อ ได้ครั้งละประมาณ 500 บาทต่อชั่วโมง วันหนึ่งก็ประมาณ 3-4 ชั่วโมง บางคนอยากเก่งก็มาเรียนเพิ่มเติมวันเสาร์-อาทิตย์ด้วย เขาก็ให้พิเศษ สักพักมีคนมาติดต่อให้ผมไปสอนให้เงินเดือน 5,000 หยวน ก็ไป
จนถึงตอนนี้ เริ่มมีชื่อเสียงแล้ว?
ครูน้อย : น่าจะเป็นอย่างนั้นนะ ตอนนี้ผมสามารถหาคนเข้ามาทำงานสอนมวยไทยได้เอง พวกลูกศิษย์ทางเมืองไทยบางทีไม่มีงานทำ ผมก็จัดเข้ามา 10-20 คน ตอนนี้เริ่มใหญ่ในกวางโจวนิดหนึ่ง (ยิ้ม)
คุณสร้างฐานความน่าเชื่อถือยังไงในสังคมนี้คะ
ครูน้อย : ส่วนใหญ่ลูกศิษย์เขาจะมาทดสอบผมก่อนนะครับ คือก่อนตัดสินใจเรียน เขาคงอยากรู้ว่าเราเก่งจริงหรือเปล่า เขาก็จะมาลองกับเรา
ลองยังไงคะ
ครูน้อย : ลองฝีมือกันน่ะ พวกมวยจีนอะไรต่างๆ ผมพอรู้แนวของมวยแบบนี้อยู่บ้างว่าถ้าเราเตะเขาจะจับขา ผมแก้ทางได้แล้วก็ต่อยเขาน็อคไปเลย พอวันรุ่งขึ้น เขาก็ซื้ออะไรต่อมิอะไรมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์เรียนมวยไทยกับผม ทีนี้เขาซูฮกเราเป็นอาจารย์แล้ว จากนั้นก็เป็นเรื่องบอกกันปากต่อปาก ยิ่งตอนนี้ บัวขาว ป. ประมุข กำลังดัง เป็นแชมป์เทวัญ เขาก็ฝังหัวว่าจะต้องเก่งอย่างบัวขาว เลยมาเรียนกันเยอะ เป็นกลุ่มใหญ่เลยล่ะ
เขาอยากเรียนมวยไทย เพื่อเป็นงานอดิเรกหรือไว้ชกเป็นอาชีพจริงคะ?
ครูน้อย : ไม่ได้เป็นอาชีพหรอก เขาอยากเรียนไว้เป็นวิชาป้องกันตัวเฉยๆ คือคนที่มาเรียนนี่นั่งรถเบนซ์รถเก๋งหรูหรามากันทั้งนั้นนะ พวกมีงานทำทั้งนั้นแหละ ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ พอสอนเสร็จเขาก็พาผมไปกินข้าว ผมไม่เคยเอ่ยปากขออะไรเขาหรอก มีแต่เขาให้อยู่เรื่อย
บางคนพาลูกๆ มาเรียนช่วงปิดเทอม พ่อแม่ขับรถมาส่ง บางรายให้ลูกสาวมาเรียนเลยนะ เพราะเราก็มีครูมวยผู้หญิงในค่ายด้วย พอเรียนได้สักสองอาทิตย์ แม่ก็มาเรียนอีกคน (ยิ้ม)
ค่าเช่ายิมคุ้มกับรายได้มั้ยคะ
ครูน้อย : ใหม่ๆ ไม่คุ้มหรอก แต่ตอนนี้พออยู่ได้ มีลูกศิษย์เช่าโรงยิมให้สอน ผมมีครูลูกทีมอีกประมาณ 7 คน ครูใหม่ผมจ้างเดือนละ 2 หมื่น 5 พันนะ เรียกว่าตอนนี้ในกวางโจวมีค่ายมวยไทยอยู่เจ้าเดียวคือผมนี่แหละ บางทีค่ายมวยของเพื่อนที่เมืองไทยเขาฝากคนมาทำงานด้วยก็มี บางทีผมก็ส่งต่อไปเป็นบอดี้การ์ดที่มาเก๊าบ้าง
โชคดีที่เพื่อนชาวฮ่องกงเขาให้อยู่บ้านฟรี ค่าน้ำค่าไฟไม่ต้องเสีย ผมก็รดน้ำต้นไม้ ดูแลบ้านให้เขาไป ได้เวลาสอนก็นั่งรถเมล์มาที่ค่ายประมาณครึ่งชั่วโมง ค่ารถแค่ 2 หยวนเอง
การกินการอยู่ล่ะคะ เป็นไงบ้าง?
ครูน้อย : ง่ายๆ ครับ ส่วนใหญ่ซื้อกับข้าวมาทำเอง ถ้ามีสอนตอนเที่ยง ตอนเช้าสัก 9 โมง กินกาแฟ สอนเสร็จลูกศิษย์ก็พาไปกินข้าวทุกทีแหละ สอนวันหนึ่งประมาณ 3-4 เที่ยว บางทีเหนื่อยเหมือนกันนะ แต่เราต้องการเงินน่ะ
ช่วยบอกความแตกต่างระหว่างการชกมวยเพื่อแข่งขัน กับการแสดงชกมวยหน่อยสิคะ ในเรื่องความทุ่มเทหรือการซักซ้อม?
ครูน้อย : การต่อยจริงไม่ต้องเตี๊ยมท่าทางไง เล่นกันจริงๆ มีอะไรใส่ออกไปเลย แต่การแสดงต้องเตรียมท่า เน้นความสวยงามในการรำมวย แล้วก็ความดุดันให้เหมือนจริงด้วย ต้องนัดกับคู่ว่าจะออกลูกอะไรบ้าง
แต่การแสดงก็ยังมีพลาดถึงเจ็บอยู่บ้าง?
ครูน้อย : ธรรมดาครับ ขึ้นชื่อว่าการแสดงก็มีพลาดบ้าง แต่พวกเราไม่เจ็บเท่าไรหรอกครับ ต่อยมานานจนเนื้อหนังด้านหมดแล้ว ถ้าเป็นคนจีนโดนหน่อยเดียวก็เจ็บหมด เนื้อเขียวแล้ว เราโดนอย่างมากแค่ตึงๆ นิดหน่อยเท่านั้นเอง (ยิ้ม)
งานโชว์มีบ่อยแค่ไหนคะ?
ครูน้อย : ส่วนใหญ่ไปตามต่างจังหวัดนะครับ ไกลสุดไปถึงอินเนอร์ มองโกเลีย ไปแทบทั่วเมืองจีนแล้ว ตอนนี้ผมเลยต้องต่อวีซ่าปีต่อปี
อยู่เมืองจีนต้องปรับบุคลิกภาพมั้ย ?
ครูน้อย : ใช่เลย อยู่เมืองไทยใครๆ เรียกเราว่าไอ้น้อยๆ อยู่ที่นี่เราเป็นครูเป็นอาจารย์ ต้องทำตัวให้ดี เขาชวนไปกินเหล้า สูบบุหรี่ เราไม่ไป ใครจะชวนไปเที่ยวกลางคืนผมก็ไม่ไป บางทีลูกศิษย์สาวๆ สวยๆ มาเรียน ผมก็ไม่ได้ไปทำตัวเกี้ยวพาราสีหรือหาเศษหาเลยเขา อย่างนี้ละมั้งครับ คนเขาถึงวางใจแล้วก็นับถือ คือเราทำตัวให้ดีน่ะ นักมวยที่นั่นทุกคนเจอผมจะเรียกว่า "ซี่ฝู" ตลอดแหละ ภาษากวางตุ้งแปลว่าอาจารย์
เล่าถึงสภาพเมืองกวางโจวบ้างสิคะ?
ครูน้อย : กวางโจวเป็นเมืองใหญ่มาก ผมลองคิดเล่นๆ ว่าถ้าเกิดแผ่นดินไหวแรงๆ ตามเมืองเล็กของจีนอาจตายกันระดับหมื่น แต่ถ้าลองมาเกิดในกวางโจว ผมว่าคงตายกันเป็นล้านนะ คนแออัดมากเมืองนี้
คนก็มีหลายแบบนะ เมื่อก่อนผมเคยคลุกคลีอยู่ในแวดวงมาเฟียของกวางโจวด้วย เช่น พวกแก๊งค์ทวงหนี้ ค่อนข้างน่ากลัวเหมือนที่เราเห็นในหนังน่ะ ทุบรถ ดักทำร้ายร่างกายกัน พกมีดพกปืน แต่ถ้าผมไปกับใคร เขาจะวางใจได้ว่าจะไม่โดนลอบทำร้าย คือบางทีคนพวกนี้ก็มาเป็นลูกศิษย์ผมเหมือนกัน ผมก็ต้องวางระยะให้ดี ไม่ไปอยู่วงในมากนัก ส่วนใหญ่แก๊งค์มาเฟียไม่ใช่คนกวางโจวหรอกครับ มาจากที่อื่นกัน
ตอนนี้ถ้าไปกวางโจว ถามหาครูน้อยนี่ทุกคนรู้จักหมด?
ครูน้อย : (พยักหน้าน้อยๆ) ใช่ ไม่ใช่ว่าเด่นดังอะไรมากมาย แต่เราเป็นคนแรกที่มาทำไง เป็นคนไทยที่มาบุกเบิกคนแรก ถ้าใครไม่รู้จักครูน้อยนี่ไม่มีทางเป็นไปได้ (ยิ้ม) ผมยังบอกทางกงสุลไทย ว่าถ้ามีคนไทยมากวางโจว เดือดร้อนอะไรให้มาหาผม ผมยินดีช่วย
ครอบครัวทางเมืองไทยล่ะคะ?
ครูน้อย : ภรรยาเป็นครูครับ ลูกสาวก็กำลังเรียนอุดมศึกษา ผมทำงานหาเงินทางนี้ส่งไปให้ที่บ้าน เดือนหนึ่งรายได้ตกประมาณ 1 หมื่นหยวน ประมาณ 5 หมื่นบาท ใช้จ่ายนิดหน่อย เหลือเงินสัก 4 หมื่นส่งให้ทางบ้านหมด ลูกสาวผมตอนนี้เรียนมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ปีสุดท้ายแล้ว ลูกชายอีกคนเรียนอยู่ราชภัฏพิษณุโลก
ต้องบอกว่า "เลี้ยงลูกด้วยลำแข้ง" จริงๆ?
ครูน้อย : ก็จากไม่มีอะไรเลยน่ะครับ ตอนแต่งงานพ่อตาแม่ยายก็ออกสตางค์ให้...(น้ำตารื้น) พอมีโอกาส ผมถึงได้ตัดสินใจมาทำงานหาเงินที่นี่ ตอนนี้ผมสามารถสร้างบ้านให้ครอบครัวที่พิษณุโลก ลูกคนโตก็เรียนใกล้จบแล้ว ลูกเคยบอกผมว่าถ้าเขาเรียนจบ พ่อไม่ต้องต่อยมวยแล้ว เขาจะเลี้ยงพ่อบ้าง...(นิ่งไปนาน)
กลับไปเยี่ยมครอบครัวบ่อยมั้ยคะ ?
ครูน้อย : บ่อยนะ จะรอจังหวะที่ต้องกลับไปซื้อของด้วย เช่น นวม รองเท้า กางเกงมวย อะไรพวกนี้ ถ้าอุปกรณ์ขาดผมก็ต้องมาหาซื้อที่เมืองไทย ไปที่สนามมวยลุมพินีเลยล่ะ มีครบทุกอย่าง ผมจะซื้อของตามออเดอร์ของคนที่ต้องการนะครับ แล้วเอากลับไปขายที่โน่นคิดราคาเพิ่ม มันก็คุ้มค่าเครื่องบิน เช่น ทางลุมพินีวางขายหน้าร้าน 1,200 บาท พอผมไปรับเองอาจได้ราคาต่ำกว่านั้น แล้วมาขายให้คนที่สั่งซื้อประมาณ 2,500 บาท
คนซื้อไม่บ่นว่าแพงเหรอคะ ?
ครูน้อย : โห...พอของมาถึง เขาแย่งกันเลยล่ะ
สักวันหนึ่งคิดจะแขวนนวมมั้ยคะ ?
ครูน้อย : ผมเคยบอกเพื่อนว่าจะกลับเมืองไทยแล้ว ลูกศิษย์บอกว่าให้อยู่เถอะไม่ต้องสอนเองก็ได้ ให้คนอื่นมาสอน แต่ผมจริงใจกับสอนนะครับ ผมตั้งใจอยากให้ลูกศิษย์ทุกคนเก่ง ไม่ใช่ไปสอนหลอกๆ เขา มันไม่ดี ผมเริ่มสอนต่อย หนึ่ง-สองๆ ก่อน แล้วเตะ เข่า พอเป็นหมดทุกอย่างก็เริ่มรวม ถ้ามั่วก็ไม่เก่งหรอก บางคนฉลาดเดือนเดียวเก่งแล้ว ผมสอนจนกว่าจะเป็นน่ะ แล้วแต่คนรับว่าได้แค่ไหน
ครูน้อย : ตอนนี้ผมอายุ 48 ปี ยังพอหารายได้ก็คงทำไปก่อน อายุสัก 50 ต้นๆ อาจจะวางมือ คงทำแค่ประสานงาน ไปๆ มาๆ เมืองไทย-กวางโจว จะได้กลับไปอยู่กับครอบครัวสักที
นวมคู่ใจ ?
ครูน้อย : อาชีพนักมวยสำหรับผม นวมกับผ้าพันมือคือคู่ชีวิตครับ มวยไทยเป็นอาชีพที่ทำให้สร้างเนื้อสร้างตัวได้ พอมาอยู่ต่างบ้านต่างเมือง นวมคู่นี้ก็ทำให้ผมมีรายได้ เป็นสิ่งที่ผมภูมิใจมากในชีวิต
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก