หลวงพี่ช้าง พระนักพัฒนา แห่งพรหมพิราม




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก tvburabha.com และ อ.ส.ม.ท.

         เชื่อว่าหลายคนยังจดจำเรื่องราวของ "สไบทอง" เด็กหญิงตัวเล็กๆ ที่มีหัวใจทองคำแห่งการต่อสู้ชีวิต แต่กว่าที่ทางรายการ "คนค้นฅน" จะสามารถไปถ่ายทำเจาะลึกชีวิตของเธอได้นั้น ต้องอาศัยวาจาการโน้มน้าวของ "หลวงพี่ช้าง" บุคคลที่เป็นจุดเริ่มต้นในการพาชีวิตของ สไบทอง มาให้พวกเราได้รู้จัก ได้ชื่นชม บุคคลที่เข้าไปเก็บข้อมูลเกี่ยวกับตัวของ สไบทอง มานานเป็นปี . . . 

         หลายคนตั้งคำถามว่าทำไมพระต้องมาทำอะไรแบบนี้ เพราะมองว่ามันไม่ใช่กิจของสงฆ์ อะไรที่ทำให้พระรูปหนึ่งกลายมาเป็นพระนักพัฒนา นักสังคมสงเคราะห์ นักคิด และผู้นำชุมชนกัน วันนี้กระปุกดอทคอมจะพาไปหาคำตอบ พร้อมๆ กับดูวัตรปฏิบัติ ภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ของ "หลวงพี่ช้าง" หรือ "เจ้าอธิการเจริญ กิตติคุโณ" เจ้าอาวาสวัดกรับพวงเหนือ กันค่ะ...

         ตลอดระยะเวลาสิบห้าปีที่อยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ "หลวงพี่ช้าง" หรือ "เจ้าอธิการเจริญ กิตติคุโณ" เจ้าอาวาสวัดกรับพวงเหนือ ตำบลพรหมพิราม อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก และเจ้าคณะตำบลพรหมพิราม ไม่ใช่เป็นเพียงสัญลักษณ์ทางศาสนา หรือแค่ผู้สืบทอดเผยแพร่ศาสนาเท่านั้น แต่ "หลวงพี่ช้าง" ยังเป็นผู้นำพัฒนาชุมชนให้น่าอยู่อีกด้วย ไม่มีวันไหนที่ "หลวงพี่ช้าง" จะบำเพ็ญเพียรทางธรรมเพียงอย่างเดียว เพราะเป็นที่รู้กันดีในละแวกนั้นว่า "หลวงพี่ช้าง" มักทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจ พัฒนาชุมนุนเล็กๆ แห่งนี้ให้มีอยู่มีกินได้อย่างมีความสุข 

        "หลวงพี่ช้าง" มีวิถีปฏิบัติเหมือนสงฆ์ทั่วไป แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปคืองานที่อุทิศตัวทำเพื่อชุมชน ในเรื่องของการพัฒนา ทำคุณประโยชน์ ช่วยเหลือสังคม และให้โอกาสแก่เด็กที่มีฐานะยากจนที่ประสพพบเจอ จนสุดความสามารถและส่งให้ถึงฝั่งฝัน

         "อาตมาจะมองว่าอะไรก็ได้ที่ทำให้สังคมดีขึ้น แล้วไม่ต้องแยกหน้าที่ว่าใครคนใดคนหนึ่งทำ เคยได้คำพูดมาเหมือนกันว่าทำไมพระมาทำแบบนี้ อาตมาก็บอกไปว่ามีใครแยกหน้าที่สถานะของพระกับความดีด้วยเหรอ ร่างกายคนเรามีเท่ากันต้องใช้ให้เป็นประโยชน์" หลวงพี่ช้าง กล่าวถึงเหตุผลในการพัฒนาชุมชน

         และประโยคที่ว่า "เพราะชีวิตเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นคนดีหรือเลวได้" ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พระนักคิดนักพัฒนาแห่งพรหมพิราม ลงทุนลงแรงสืบค้นประวัติหาข้อมูลเด็กๆ ที่ด้อยโอกาส แต่เป็นเด็กดี ขยันขันแข็ง อย่างเช่น สไบทอง ด้วยตัวเอง เด็กหลายคนที่ "หลวงพี่ช้าง" ให้การช่วยเหลือด้วยการเขียนจดหมายส่งไปออกรายการต่างๆ ไม่นับที่ให้การอุปการะเลี้ยงดู และหางานให้ทำอีกเป็นสิบๆ คน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทั้งทางร่างกาย และจิตใจ 

         นอกจากเรื่องช่วยเหลือและให้โอกาสคนแล้ว พระหนุ่มวัยย่างเลขสี่ ยังพัฒนาวัดกรับพวงเหนือให้กลายเป็นศูนย์บริการชุมชน รวมทั้งมีกิจกรรมหลายอย่างให้กับชาวบ้าน มีทั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก วิทยุชุมชน กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ โครงการเงินออมวันละบาท กลุ่มส่งเสริมอาชีพ มีทั้งทำไม้กวาด ทำหมวกสาน ติดแผงรับสัญญาณทีวี ติดจานดาวเทียม ฯลฯ รวมถึงมีโรงเพาะเห็ดฟางขนาดใหญ่อยู่ภายในวัดด้วย ที่ทุกๆ วันก่อนรุ่งสางจะพบเห็น "หลวงพี่ช้าง" ขะมักเขม้นกับการก้มๆ เงยๆ ค่อยๆ บรรจงเก็บเห็ดใส่ตะกร้า เพื่อนำไปค่าย นำเงินไปซื้อของกินของใช้ให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยค่าจ้างและความสุขในการทำงานของ "หลวงพี่ช้าง" ไม่มีอะไรมากไปกว่ารอยยิ้มของชาวบ้าน 

          "หลวงพี่" ได้รับการนับถือศรัทธาจากชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงเป็นอย่างมาก ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างมิได้เกิดขึ้นจากการเป็นผู้ให้เพียงอย่างเดียว หากแต่มาจากการวางตัวที่เป็นกันเอง ง่ายๆ ติดดิน สบายๆ  เพราะนั่นมันจะทำให้เข้าถึงชาวบ้านได้ง่ายกว่า

         "ที่เรามาทำทุกอย่างทุกวันนี้มันเกิดมาจากแรงบันดาลใจตอนเล็กๆ เราเจ็บมาก่อน เพราะเด็กๆ เราเคยเป็นมาก่อน จนมากๆ มีพี่น้อง 7 คน ข้าวก็กินไม่เคยพอ ฉันเคยเจอแบบนี้มาก่อน เลยไม่อยากให้เยาวชนคนรุ่นหลังต้องมาประสพพบเจอแบบฉัน เลยต้องช่วยประคับประคองกันต่อไป" นี่คือคำพูดที่แฝงไว้ด้วยความเมตตาของหลวงพี่ช้าง   

         หลวงพี่ช้าง กล่าวต่อว่า ที่มาบวชเพราะอกหักมา และล้มเหลวทางธุรกิจ เลยตัดสินใจมาหาเข็มทิศให้ตัวเอง ตอนแรกตั้งใจจะบวชเจ็ดวัน แต่พอครบกำหนดก็เลื่อนมาเรื่อยๆ จนรู้ซึ้งในพุทธธรรมที่พระพุทธเจ้าสอน คิดว่านี่คือเส้นทางที่เราจะเดินต่อไป จนทุกวันนี้ไม่คิดจะสึกแล้ว แต่อยากขอพระสองข้อ หนึ่งเลี้ยงดูแม่ได้ สองขอให้เป็นเรือลำใหญ่ เป็นพระที่ไม่รวย ไม่ต้องมีเงิน มีพอใช้ไปวันๆ แต่ขอให้เป็นคนที่มีปัญญามากๆ พาคนที่ทุกข์ไปให้ได้มากที่สุด พาข้ามบ่วงแห่งทุกข์ไปให้ได้มากที่สุด และทุกๆ วันนี้ก็จะขอพรแค่สองข้อนี้ตลอด

         ท่ามกลางกระแสสังคมที่วุ่นวาย ปรับเปลี่ยนวัฎจักรชีวิตผู้คนไปเรื่อยๆ แต่สำหรับ "หลวงพี่ช้าง" พระนักพัฒนา แห่งพรหมพิราม ยังคงดำเนินต่อไปอย่างสงบสุข ตามวัตรปฏิบัติของสงฆ์ ที่เผื่อแผ่มาถึงคนอื่นๆ



คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ





ขอขอบคุณข้อมูลจาก
  
- jsl.co.th

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หลวงพี่ช้าง พระนักพัฒนา แห่งพรหมพิราม อัปเดตล่าสุด 5 มกราคม 2552 เวลา 14:14:12 97,583 อ่าน
TOP
x close