ร้อยเอกมานพ พันธ์สะโม
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก หนังสือ ฅ คน ,ทีวีบูรพา
กี่คนแล้วกี่คนเล่า ที่ต้องสูญเสียชีวิต และเลือดเนื้อจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางภาคใต้ และแม้ว่า เหตุการณ์จะยืดเยื้อมายาวนานหลายปีแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารที่ยังประจำการอยู่ ณ ดินแดนด้ามแขวนที่แวดล้อมไปด้วยขวากหนามอันตรายล้วนกำลังต่อสู้เพื่อพวกเราทุกคนอยู่
และนี่คือหนึ่งเรื่องราว ของหนึ่งผู้เสียสละที่ยังประจำการอยู่ในพื้นที่สีแดง ด้วยความภาคภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นชายชาติทหาร และปกป้องผืนแผ่นดินนี้ด้วยชีวิต และเลือดเนื้อของพวกเขาเอง "ร้อยเอกมานพ พันธ์สะโม" นายทหารฝ่ายข่าวกรองหน่วยเฉพาะกิจยะลาที่ 16 จ.ยะลา เขต 9
ย้อนกลับไปเมื่อ 6 ปีก่อน ชีวิตของ "ร้อยเอกมานพ พันธ์สะโม" กำลังอยู่ในวัยสนุกสนาน เที่ยวเล่นไปตามประสาเด็กหนุ่ม แต่แล้วชีวิตของ ร้อยเอกมานพ หรือนายมานพ ในขณะนั้น กลับถูกเปลี่ยนผันด้วย "ใบแดง" ที่ไม่ใช่ได้รับมาจากการเล่นฟุตบอล แต่เป็น "ใบแดงแห่งโชคชะตา" ที่ทำให้นายมานพเข้าสู่รั้วทหารอย่างที่เจ้าตัวยังไม่ทันตั้งตัว
"ใบแดง" ครั้งนั้นนำความเสียใจมายังมานพอย่างที่สุด แต่ช่วงเวลาที่ได้รับการฝึกฝนจากรั้วโรงเรียนทหาร มิได้สร้างความเข้มแข็ง และแข็งแกร่งให้นายมานพได้เพียงเท่านั้น แต่ยังบ่มเพาะและขัดเกลาความเป็นมนุษย์ให้กับเขา ทุกสิ่งทุกอย่างได้ทำให้มานพรู้สึกตัวเองว่า หากก้าวเดินต่อไปยังสายอาชีพนี้ น่าจะทำประโยชน์ให้กับคนอื่น สังคม และประเทศชาติได้บ้าง และหลังจากการตัดสินใจอยู่หลายรอบ ในที่สุดมานพตัดสินใจสมัครสอบเข้าเป็นทหารต่อ จนในที่สุดเขาก็จบโรงเรียนนายร้อย จปร. อันทรงเกียรติ พร้อม ๆ กับการซึมซับความรู้สึกรักชาติ และจิตวิญญาณที่แท้จริงของคำว่า "ข้าราชการทหาร"
"จากความเสียใจที่จับได้ใบแดงในวันเกณฑ์ทหาร ผมเกือบมองไม่ออกว่าตัวเองจะรักอาชีพนี้ได้อย่างไร แต่สุดท้ายด้วยศาสตร์วิชาที่ครูอาจารย์พยายามสอน ประกอบกับจิตสำนึกที่ได้รับการปลูกฝัง วันนี้ผมก็เกือบมองไม่เห็นตัวเองในภาพของทหารเกณฑ์ไม่เอาถ่านคนเดิมอีกเลย" ร้อยเอกมานพ ย้อนเล่าให้ฟัง
ผ่านจากรั้วโรงเรียน ร้อยเอกมานพ ต้องก้าวเข้าสู่ชีวิตจริง ที่มิอาจพลาดพลั้งได้แม้แต่เสี้ยววินาที และจุดเปลี่ยนในชีวิตอีกครั้งของร้อยเอกมานพ ก็คือการต้องร่วมเดินทางไปยังอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส โดยแบกรับภารกิจที่เกี่ยวข้องกับความสงบสุขของคนไทยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเดิมพัน
ร้อยเอกมานพ พันธ์สะโม
ร้อยเอกมานพ พันธ์สะโม
ร้อยเอกมานพ พันธ์สะโม
ร้อยเอกมานพ มองว่า ทหารไม่ใช่แค่ผู้มารักษาความปลอดภัยเท่านั้น แต่ยังต้องเรียนรู้วัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ช่วยพัฒนาชุมชน สร้างกำลังใจให้ชาวบ้านด้วย เพราะหากทหารให้ใจชาวบ้านได้ ชาวบ้านก็จะให้ใจทหารกลับมาเช่นกัน ซึ่งระหว่างที่ทุกอย่างเริ่มไปได้สวย แต่จู่ ๆ ร้อยเอกมานพ กลับได้รับคำสั่งให้สับเปลี่ยนกำลังไปยังอำเภอธารโต จังหวัดยะลาแทน เท่ากับว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เรียนรู้มาต้องเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ แต่ชายผู้นี้ก็เชื่อว่า เขาจะสามารถทำภารกิจที่ท้าทายครั้งนี้ได้อีกครั้งแน่นอน
"ถ้าไม่มีทหาร ชีวิตความเป็นอยู่ชาวบ้านจะลำบากมากขึ้น ปัญหาทุกอย่างจะลุกลาม แผนการร้ายก็จะสัมฤทธิ์ผลได้ง่าย เราจึงต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ประชาชนอยู่ได้ แม้พื้นที่ธารโตจะเสี่ยง เสี่ยงจนเราไม่มีโอกาสได้นอนหลับเต็มตาสักคืน แต่ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ" ร้อยเอกมานพ กล่าว
ด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเททำให้ ร้อยเอกมานพ ได้เลื่อนตำแหน่งจากรองผู้บังคับบัญชากองร้อย เป็นผู้บังคับบัญชา และด้วยความสามารถของเขา รวมทั้งความมุ่งมั่นยังส่งผลให้เขาได้ทำงานเป็นนายทหารฝ่ายข่าวกรองหน่วยเฉพาะกิจยะลาที่ 16 ในช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี
แต่แล้วโชคชะตาก็ยังคงท้าทายชายนักสู้ผู้นี้ต่ออีกครั้ง และเป็นครั้งสำคัญที่ร้อยเอกมานพ จะไม่มีวันลืมเลย นั่นคือในตอนเช้าของวันที่ 19 มกราคม พ.ศ.2553 ก่อนที่เสียงเพลงชาติไทยจะดังขึ้น และก่อนที่ธงชาติไทยจะปลิวไสวขึ้นสู่ยอดเสา ก็ได้เกิดเสียงระเบิดขึ้น นำพาให้ร้อยเอกมานพ ลงพื้นที่ไปสมทบและได้เดินตรวจตราพื้นที่โดยรอบ ก่อนจะเกิดเสียงตู้มใหญ่ขึ้นมาอีกครั้ง ฉุดให้ตัวของร้อยเอกมานพ ลอยละลิ่วจนตกกระแทกพื้น หลังจากเสียงระเบิดซาลง เสียงแรกที่ออกจากปากของร้อยเอกมานพ มิใช่เสียงร้องโอดโอย แม้ว่าขาข้างหนึ่งของร้อยเอกมานพจะขาดทันที และขาอีกข้างก็ยังอาการสาหัส แต่เป็นคำถามที่ว่า "มีใครเป็นอะไรบ้าง" ซึ่งประโยคคำถามสามัญประโยคนั้น ได้ซื้อใจคนทั้งกองร้อย ให้รับรู้ถึงความจริงใจที่ผู้หมวดคนนี้มอบให้กับทุกชีวิตในพื้นที่
"ถ้าต้องมีคนที่สูญเสียแล้วผมต้องเลือกในเช้าวันนั้น ผมก็ยังยืนยันให้ตัวเองโดนระเบิด จากเหตุโดยซุ่มโจมตีในช่วง 2-3 เดือนแรก ลูกน้องได้รับบาดเจ็บ ตั้งแต่วันนั้นผมตั้งปณิธานว่าจะต้องทำงานหนัก ลูกน้องทุกคนต้องได้กลับบ้าน ภาวนาว่าถ้าจะเกิดก็ขอให้เกิดกับเราดีกว่า ผมไม่อยากตอบคำถามพ่อแม่ ตอบคำถามครอบครัวลูกเมียของเขา กองร้อยของเราอยู่ด้วยกันเหมือนครอบครัวใหญ่ ผมจึงไม่อยากเห็นใครในครอบครัวเป็นอะไรไปโดยที่ผมยังสุขสบาย"
ร้อยเอกมานพ พันธ์สะโม
ร้อยเอกมานพ พันธ์สะโม
ร้อยเอกมานพ พันธ์สะโม
ณ วันนี้ ทหารหนุ่มวัย 34 ปี ยังพักรักษาตัวอยู่บนเตียงของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และขับเคลื่อนร่างกายด้วยรถเข็น แต่ในทุกวันคืนร้อยเอกมานพ ยังคงคิดถึงการจับปืนลงพื้นที่ เพื่อดูแลปกป้องชาวบ้าน เขาจึงเร่งฟิตซ้อมร่างกาย เพื่อกลับไปหาลูกน้องและชาวบ้านที่กำลังเฝ้ารอเขาอยู่ แม้ในใจลึก ๆ ของเขา ยังคงวิตกกังวลว่า จะมีโอกาสได้ทำดังใจหวังหรือไม่
"ทุกครั้งที่ต้องนั่งดูรูปการทำงานเก่า ๆ บนเตียงโรงพยาบาล ใจคิดว่าคงไม่มีโอกาสได้ถือปืนแล้ว ไม่มีโอกาสได้ลงพื้นที่แล้ว คิดว่าโดนเร็วไปหรือเปล่า เรายังอยากทำอะไรอีกเยอะ คิดว่าพยายามเอาชีวิตให้รอด รักษาให้หาย จะได้กลับไปทำงาน ถึงจะไม่ได้ออกไปลาดตระเวนก็ยังอยากกลับไปช่วยงานให้ได้เยอะที่สุด มีชาวบ้านที่ยังรอการทำงานของเรา ทุกครั้งที่ชาวบ้านในพื้นที่มาเยี่ยมผมจะมีกำลังเพิ่มขึ้นมาก เพราะรู้สึกว่าที่เราทำไปมันไม่สูญเปล่า"
ขณะที่หลายคน หากเจออุปสรรคอาจรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง แต่หัวใจที่เปี่ยมด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำประโยชน์เพื่อแผ่นดินไทยของ ร้อยเอกมานพ พันธ์สะโม ยังคงเป็นกำลังใจในการสู้ชีวิตต่อไปได้อย่างดี และแม้ว่าเขาจะพิการขาจากการลอบโจมตีของผู้ทำลายความสงบของประเทศไทย แต่ชายผู้นี้กลับไม่รู้สึกหวาดหวั่นที่จะเดินหน้าทำความดีเพื่อแผ่นดินนี้เลย
"นอกจากขาสองข้างที่ต้องเสียไป ผมไม่รู้ว่าตัวเองสูญเสียอะไรกับการเป็นทหาร เกียรติและความภาคภูมิใจที่ผมได้รับไม่อาจเกิดขึ้นได้ ถ้าหากไม่เป็นทหาร" นี่คือคำพูดจากใจของชายชาติทหารอย่างแท้จริง
ยังมีอีกหลายเรื่องราวของอีกหลายชีวิต ที่ต้องเสียสละจากการทำหน้าที่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่คงจะดีที่สุด หากพวกเราทุกคนพร้อมใจที่จะเสียสละ และช่วยกันทำอะไรให้แก่ประเทศชาติของเราบ้าง เพื่อให้เรื่องราวการเสียสละชีวิต และเลือดเนื้อของเหล่าทหารหาญอันน่าประทับใจเหล่านี้ เป็นเรื่องราวสุดท้าย และทุกอย่างจบสิ้นลงเสียที
ทั้งนี้ ติดตามเรื่องราว ร้อยเอกมานพ พันธ์สะโม คนดีของแผ่นดิน ในรายการ "คนค้นฅน" วันอังคารที่ 31 สิงหาคม 2553 เวลา 22.15 น. ทางโมเดิร์นไนน์ ทีวี
ร่วมปลุกพลังบวก เปลี่ยนประเทศไทย ได้ที่นี่ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก