x close

แผ่นดินไหวพม่า ที่ไทยพบศูนย์กลาง 3 จุด ที่เชียงราย-น่าน




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม


        รองโฆษกกรมอุตุฯ เปิดข้อมูลใหม่ เกิดแผ่นดินไหวในไทย 3 จุดวันเดียวกับพม่า เตือนประชาชนศึกษาข้อมูลรับมือ

        หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2554 ขนาด 7 ริกเตอร์ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ในประเทศพม่า  และทางพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวดังกล่าวนั้น

        ล่าสุด นายอดิศร ฟุ้งขจร หัวหน้ากลุ่มงานแผ่นดินไหว ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ ในฐานะรองโฆษกกรมอุตุนิยมวิทยา ออกมาระบุว่า เจ้าหน้าที่กลุ่มงานแผ่นดินไหว ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ ได้ตรวจสอบรายงานการเกิดแผ่นดินไหวจากเครื่องวัดแผ่นดินไหวในพื้นที่ภาคเหนือ ย้อนหลังในวันที่เกิดแผ่นดินไหวในประเทศพม่า ปรากฏว่าหลังจากเหตุดังกล่าว ยังได้เกิดแผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางอยู่ในไทยอย่างน้อย 3 จุดในวันนั้นด้วย

        "จากการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังของเจ้าหน้าที่ พบว่าหลังเกิดแผ่นดินไหวในพม่าไม่ถึง 1 ชั่วโมง มีการเกิดแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่รอยเลื่อนในไทยอย่างน้อย 3 จุด แต่ในขณะนั้นทุกคนคิดว่าเป็นอาฟเตอร์ช็อกจากเหตุแผ่นดินไหวในพม่า" นายอดิศร กล่าว

โดยศูนย์กลางแผ่นดินไหว 3 จุดในไทย คือ

        - จุดแรก เกิดขึ้นในเวลา 21.17 น. ของวันที่ 24 มีนาคม มีแรงสั่นไหวขนาด 4 ริกเตอร์ ศูนย์กลางอยู่ที่ อ.เวียงสา จ.น่าน เกิดจากการเคลื่อนตัวของกลุ่มรอยเลื่อนปัว

        - จุดที่ 2 เกิดขึ้นในเวลา 22.09 น. เกิดแผ่นดินไหวขนาด 3 ริกเตอร์ มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เกิดจากการเคลื่อนตัวของกลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน

        - จุดที่ 3 เกิดขึ้นใน เวลา 22.15 น. ความแรง 3.4 ริกเตอร์ มีจุดศูนย์กลางที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เกิดจากการเคลื่อนตัวของกลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน

        "ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังเร่งตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังอย่างละเอียด และเชื่อว่าหลังเหตุแผ่นดินไหวในพม่าได้ส่งผลไปกระตุ้นรอยเลื่อนเล็ก ๆ ในประเทศไทย ให้มีการเคลื่อนตัวเป็นจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอีกหลายจุด โดยได้รายงานให้อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาทราบแล้ว และอยู่ระหว่างตรวจสอบผลกระทบระยะสั้นและระยะยาว อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนในพื้นที่อย่าประมาทหรือตื่นตระหนก แต่ให้เตรียมศึกษาวิธีปฏิบัติตัวป้องกันรับมือกับเหตุแผ่นดินไหวที่อาจมาถึงกันไว้ล่วงหน้า" นายอดิศร กล่าว




แผ่นดินไหวพม่า

 

แผ่นดินไหวพม่า

แผ่นดินไหวพม่า




 
[27 มีนาคม] แผ่นดินไหวพม่า อีก 5.2 ลาวเจอ 4.8 ริกเตอร์ 

          กฟผ.ยืนยันเขื่อนของ กฟผ.แข็งแรงไม่กลัวแผ่นดินไหว ด้านสื่อพม่าคาดผู้เสียชีวิตมีไม่ต่ำกว่า 130 คนแล้ว ขณะที่ล่าสุดเกิดแผ่นดินไหวที่ลาว 4.8 ริกเตอร์ พม่ายังเจออีก 5.2 ริกเตอร์

          เมื่อเวลาประมาณ 12.57 น. ของวันนี้ (26 มีนาคม) มีรายงานว่า เกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศลาว โดยอ้างข้อมูลจากสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือ ยูเอสจีเอส ว่า สามารถวัดแรงสั่นสะเทือนได้ 4.8 ริกเตอร์ ศูนย์กลางลึกลงไปใต้ดิน เพียง 10.2 ก.ม.เท่านั้น และอยู่ห่างจากจังหวัดเชียงราย ของประเทศไทย เพียง 102 ก.ม.ทำให้แรงสั่นสะเทือนไปทั่วภาคเหนือของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการยืนยันความเสียหายจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ และนับเป็นการเกิดแผ่นดินไหวอย่างต่อเนื่อง ในเขต 3 เหลี่ยมทองคำ หลังจาก เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา เพิ่งจะเกิดแผ่นดินไหว 7.0 ริกเตอร์ ในเขตประเทศพม่า และรับรู้ได้ถึงประเทศไทย 

          นอกจากแผ่นดินไหวที่ลาวแล้ว ยังมีรายงานด้วยว่า ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ได้เกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศพม่า ขนาด 5.2 ริกเตอร์ หากจากอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย 60 กิโลเมตร เบื่องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหาย
 
          ขณะที่จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศพม่า เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมานั้น นายวีรชัย ไชยสระแก้ว ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบำรุงรักษาโยธา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ยังไม่พบว่าแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวประเทศพม่า ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของเขื่อนทุกแห่งของ กฟผ. แต่อย่างใด โดยที่ผ่านมา กฟผ. ได้ดำเนินการติดตามตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนอย่างต่อเนื่อง โดยติดตั้งระบบตรวจวัดข้อมูลแบบอัตโนมัติที่เขื่อน ซึ่งเป็นระบบที่ครอบคลุมข้อมูล ด้านพฤติกรรมเขื่อน ข้อมูลอุตุนิยมวิทยา อุทกวิทยา และข้อมูลแผ่นดินไหว ซึ่งระบบดังกล่าวสามารถประมวลผลข้อมูลเบื้องต้น แสดงผลเป็นรูปกราฟ ซึ่งหากมีข้อมูลที่ผิดปกติ ก็จะแจ้งเตือนให้ตรวจสอบได้ทันที

          ในขณะเดียวกัน ยังมีการตรวจสอบและบำรุงรักษา เพื่อความปลอดภัยของเขื่อนอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้ประชาชนมั่นใจเขื่อนของ กฟผ. มีความปลอดภัยในการใช้งาน และมีความปลอดภัยต่อชีวิตทรัพย์สินของประชาชน

          ด้านนายณฐพลษ์ วิเชียรเพริศ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า ที่จังหวัดกาญจนบุรี มีรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์พาดผ่าน ซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่จะส่งผลกระทบถึงความแข็งแรงของตัวเขื่อน ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี แต่ประชาชนไม่ต้องตกใจ เพราะรอยเลื่อนที่มีอยู่ในพื้นที่ตั้งของเขื่อนฯ เป็นเพียงเส้นเลือดฝอย ไม่ใช่เส้นเลือดใหญ่ ซึ่งจะไม่มีอิทธิพลที่จะทำให้เกิดแผ่นดินไหวที่รุนแรง และจะไม่ทำให้เกิดเขื่อนแตกได้ อย่างไรก็ตาม หากมีอะไรเกิดขึ้น ทางจังหวัดฯ ได้เตรียมแผนอพยพทั้งผู้คน และสัตว์เลี้ยง ไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัยภายใน 6 ชั่วโมง

          ขณะที่ ฉาน เฮอเริลด์ (Shan Herald) สื่อในประเทศพม่า รายงานการการประเมินผู้เสียชีวิตเหตุแผ่นดินไหวในประเทศพม่าติดชายแดนประเทศไทย โดยคาดว่า ในเมืองทะเลย์จะมีผู้เสียชีวิต 50 ราย บาดเจ็บ 100 คน , เมืองเลนเสียชีวิต 60 ราย บาดเจ็บ 100 คน ,จาคูนี เสียชีวิต 20 ราย บาดเจ็บ 30 คน นอกจากนี้ยังคงมีการเก็บข้อมูลยอดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต จากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ ที่ เมืองยอน และเมืองเพียคอีกด้วย

          ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศพม่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ทำให้มีผู้บาดเจ็บ ทั้งหมด 18 คน เสียชีวิต 1 ราย โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับความเสียหายเล็กน้อย ผนังกะเทาะ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงโครงสร้างหลักทั้งหมด 14 แห่ง โดยเป็นโรงพยาบาลศูนย์ 1 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 8 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 5 แห่ง

          ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาตรการป้องกัน และลดผลกระทบจากแผ่นดินไหว คือ ให้โรงพยาบาล และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ กาญจนบุรี และตาก เตรียมความพร้อมด้วยการให้เจ้าหน้าที่ซักซ้อมทำความเข้าใจกับผู้ป่วยถึงแนวทางปฏิบัติ สำรวจผู้ป่วยที่จะต้องดำเนินการเคลื่อนย้ายกรณีฉุกเฉิน และเตรียมความพร้อมด้านเส้นทาง ทีมบุคลากร อุปกรณ์การแพทย์ ที่จำเป็นในการให้บริการผู้ที่บาดเจ็บ ตรวจสอบจุดเสี่ยงต่อการพังทลาย ดำเนินการป้องกัน และเตรียมทางออกฉุกเฉินอย่าให้มีสิ่งกีดขวาง เตรียมความพร้อมระบบไฟฟ้าสำรอง ระบบสื่อสาร และเครื่องมือดับเพลิง และป้องกันวัสดุ สิ่งของอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ให้ล้มทับ ตกหล่น ตลอดจนสำรวจป้องกันอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ที่มีราคาสูง



แผ่นดินไหวพม่า

แผ่นดินไหวพม่า แรงสั่นสะเทือนถึงภาคเหนือของไทย

แผ่นดินไหวพม่า

แผ่นดินไหวพม่า แรงสั่นสะเทือนถึงภาคเหนือของไทย

แผ่นดินไหวพม่า

แผ่นดินไหวพม่า แรงสั่นสะเทือนถึงภาคเหนือของไทย




[25 มีนาคม] แผ่นดินไหวพม่า อุตุฯ เตือนประชาชนระวังอาฟเตอร์ช็อก

           กรมทรัพย์ฯ ชี้แผ่นดินไหวพม่าแรงเท่าปรมาณู 6 ลูก ระบุเป็นแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในไทย เพราะทำให้มีผู้เสียชีวิต กรมอุตุฯ เผยแผ่นดินไหวประเทศพม่ารุนแรงมาก เตือนประชาชนระวังอาฟเตอร์ช็อก และห้ามเข้าพื้นที่ แตกร้าว ส่วน ปภ.รายงานเหตุแผ่นดินไหวส่งผลให้เกิดความเสียหายใน 4 จังหวัดภาคเหนือ ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 74 ศพแล้ว

          
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวความรุนแรง 6.7 ริกเตอร์ ที่มีจุดศูนย์กลางอยู่บริเวณชายแดนประเทศพม่าซึ่งส่งผลให้เกิดแรงสั่นสะเทือนมาถึงบริเวณภาคเหนือเรื่อยลงมาจนถึงกรุงเทพฯ เมื่อเวลา 20.55 น. ของวันที่ 24 มีนาคม 2554 ล่าสุด สำนักข่าวเอเอฟพี (AFP) รายงานว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 25 คนแล้ว จากเมื่อคืนที่มียอดผู้เสียชีวิตเพียง 10 คน

           รายงานระบุว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดนประเทศพม่า ไทย และลาวนั้น ทำให้บ้านพังถล่ม และข้าวของตกลงมากระจัดกระจายอยู่บนพื้น ซึ่งทำให้ประชาชนหลายรายได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากการถล่มของบ้านเรือน โดยขณะนี้ ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวมากกว่า 10  รายแล้ว และคาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 25 คน รวมทั้งเด็กเล็กและคนชรา

           ทั้งนี้ เหตุการณ์แผ่นดินไหวในชายแดนพม่า ได้ส่งผลให้เกิดแรงสั่นสะเทือนกินบริเวณกว้าง รัศมี 800 กิโลเมตรจากจุดศูนย์กลาง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประเทศเวียดนาม จีน ลาว และประเทศไทย รวมถึงกรุงเทพมหานครก็ได้รับแรงสั่นสะเทือนเล็กน้อยด้วย

          โดยที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนามนั้น ประชาชนรู้สึกถึงแรงสั่นไหวขนาดไม่รุนแรงได้เป็นเวลาหลายวินาที และรีบวิ่งหนีออกมาจากบ้านเรือน โดยชาวเวียดนามรายหนึ่งที่อาศัยอยู่บนชั้น 10 ของอาคารแห่งหนึ่ง ระบุว่า เธอเห็นตู้ปลา และภาพวาดบนฝาผนังห้องแกว่งไปแกว่งมา จึงทราบว่าเกิดแผ่นดินไหวขึ้น

          ด้าน นายดินห์ ก็อก วาน รองผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังแผ่นดินไหวเวียดนาม กล่าวว่า สามารถตรวจวัดระดับการสั่นไหวในกรุงฮานอยได้ประมาณ 5.0 ริกเตอร์ และไม่พบรายงานความเสียหายใด ๆ


แผ่นดินไหวพม่า


          ส่วนที่ประเทศพม่านั้น มีรายงานว่า บ้านเรือนในเขตเมืองเชียงตุง รวมทั้งถนนและสะพานถล่มเสียหายจำนวนมาก และชาวบ้านได้ทยอยขอรับบริจาคโลงศพจากวัดของหมู่บ้านออกไปแล้ว 60 หีบ โดยเชื่อว่า ยังมีประชาชนรอรับการช่วยเหลืออีกนับพันคน แต่อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ทางการพม่ายังไม่ได้ออกประกาศเตือนภัยใด ๆ ทั้งสิ้น

          โดยเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทยใหญ่ (SWAN) เผยว่า หลายพื้นที่ในรัฐฉานได้รับความเสียหายอย่างมาก และชาวบ้านก็หวาดผวาเป็นอย่างมาก คาดว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 60 คน ที่อำเภอท่าเดื่อ และบางครอบครัวอาจเสียชีวิตยกครัว

           ขณะที่ สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ของไทย รายงานการเหตุการณ์แผ่นดินไหว มีศูนย์กลางอยู่บริเวณประเทศพม่า ห่างจากทางทิศเหนือ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ประมาณ 30 กิโลเมตร วัดการสั่นสะเทือนตามมาตราริกเตอร์ได้ ขนาด 6.7 ริกเตอร์ โดยการเกิดแผ่นดินไหวประชาชนในพื้นที่ ตั้งแต่ อ.แม่สาย ลงมาถึง ตัวเมืองเชียงราย และอำเภออื่น ๆ สามารถรับรู้กับการสั่นสะเทือนได้ และหลังจากนั้น

           เวลา 21.23 น. เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.2 ริกเตอร์
           เวลา 22.15 น. เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.8 ริกเตอร์
           เวลา 22.18 น. เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.7 ริกเตอร์
           เวลา 22.54 น. เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.2 ริกเตอร์
           เวลา 23.15 น. เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.0 ริกเตอร์
           เวลา 00.20 น. เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.2 ริกเตอร์

           ต่อมาตั้งแต่ในเวลา 02.15 น. เป็นต้นมาจนถึงช่วงเช้าของวันที่ 25 มีนาคม ยังเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมา อีกกว่า 40 ครั้ง ขนาด 3.0-6.2 ริกเตอร์

          ส่วนความเสียหาย ทาง ปภ.เชียงแสน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะได้ออกสำรวจความเสียหายเพิ่มเติมในตั้งเช้าวันที่ 25 มีนาคม เป็นต้นไป ทั้งนี้ จังหวัดเชียงราย เคยได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวเช่นนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2550 เกิดแผ่นดินไหว ในประเทศลาว ห่างจาก อ.เชียงของ จ.เชียงราย ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 60 กม. ความแรง 6.1 ริกเตอร์ ซึ่งครั้งนั้นสร้างความเสียหายให้กับ อาคาร บ้านเรือนประชาชน ในพื้นที่ อ.เชียงของ จำนวนมาก รวมไปถึงโบราณสถานที่ อ.เชียงแสนด้วย

          ด้านนายบุรินทร์ เวชบันเทิง ผู้อำนวยการส่วนเฝ้าระวังและติดตามแผ่นดินไหวและสึนามิ กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า สาเหตุการเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ เนื่องมาจากรอยเลื่อนที่อยู่ใต้พื้นทวีปเกิดการเคลื่อนตัวส่งผลให้เกิดการสั่นสะเทือนบนพื้นดิน แต่ยืนยันว่า ไม่ใช่ผลกระทบจากเหตุภัยพิบัติสึนามิที่ญี่ปุ่นอย่างแน่นอน นอกจากนี้ แรงสั่นสะเทือนยังส่งผลกระทบต่ออาคารสูงในกรุงเทพมหานครอีกด้วย สาเหตุจากสภาพพื้นดินบริเวณของกรุงเทพมหานครเป็นดินอ่อน จึงทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนได้ง่าย

          นายบุรินทร์ กล่าวต่อว่า หลังจากเกิดแผ่นดินไหวที่พม่า ก็ได้เกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมา 56 ครั้งตลอดคืน โดยเป็นอาฟเตอร์ช็อกที่มีแรงสั่นสะเทือนเกิน 5.0 ริกเตอร์ 6 ครั้ง โดยครั้งที่แรงที่สุดวัดได้ 5.5 ริกเตอร์ เมื่อเวลา 07.22 น. ของวันนี้ (25 มีนาคม)

          อย่างไรก็ตาม อยากแนะนำว่า หลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ควรเพิ่มมาตรการการป้องกัน รวมถึงออกแบบสิ่งก่อสร้างที่สามารถรองรับการสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวด้วย







          ขณะที่นายต่อศักดิ์ วานิชขจร อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวถือว่ารุนแรงมาก เนื่องจากเกิดบนรอยเลื่อนในประเทศพม่า ที่มีศูนย์กลางใกล้กับประเทศไทยคือ 56 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอแม่จัน เพียง 30 กิโลเมตร ทำให้รับรู้แรงสั่นสะเทือน จนเกิดความเสียหายในหลายจังหวัด ทางภาคเหนือของไทย และเชื่อมโยงมาถึงอาคารสูงในกรุงเทพมหานคร ซึ่งหลังเกิดแผ่นดินไหวนั้น ก็มีผลพ่วงทำให้เกิดอาฟเตอร์ช็อก ตามมาอีกนับ 100 ครั้ง ทั้งที่นับได้และนับไม่ได้ โดยกว่า 40 ครั้งพบว่า มีขนาด 3 - 6.2 ริกเตอร์

          อย่างไรก็ตาม สำหรับการเกิดอาฟเตอร์ช็อกนั้น จะมีต่อเนื่องทั้งวัน จึงขอเตือนประชาชน หากพบว่าบ้านมีรอยร้าวที่เกิดจากแผ่นดินไหว ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่อาศัย เพราะอาจได้รับผลกระทบ จากการเกิดอาฟเตอร์ช็อกได้ ควรรอให้นักธรณีวิทยาเข้าไปตรวจสอบจนกว่าจะยืนยันว่าปลอดภัย

          นอกจากนี้ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ยังกล่าวด้วยว่า การเกิดแผ่นดินไหวดังกล่าวนั้น อาจส่งผลกระทบต่อรอยเลื่อนในอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ที่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลง จึงเร่งประสานไปยังกรมทรัพยากรธรณีให้เข้าไปสำรวจแล้ว

          ด้านนายเลิศสิน รักษาสกุลวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักธรณวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัย กล่าวว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงเทียบเท่ากับระเบิดปรมาณู 6 ลูก และถือเป็นแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในประเทศไทย เพราะทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน จากเหตุแผ่นดินไหวโดยตรง นอกจากนี้ นายเลิศสิน ยังระบุอีกว่า สาเหตุที่ในกรุงเทพฯ สามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวได้มากกว่าจังหวัดพิษณุโลก หรืออุตรดิตถ์ที่อยู่ใกล้กับพม่า และเชียงรายมากกว่า เป็นเพราะชั้นดินในกรุงเทพฯ อ่อนกว่า

          ขณะที่ น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับเรื่องรอยเลื่อนที่มีอยู่ในประเทศไทย เพราะเป็นรอยเลื่อนที่มีขนาดเล็กกว่ารอยเลื่อนในพม่า และในอดีตที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยเกิดแผ่นดินไหวแรงที่สุดคือ 5.0 ริกเตอร์เท่านั้น จึงไม่น่าจะเกิดผลกระทบร้ายแรงต่ออาคารบ้านเรือน เว้นเสียแต่โบราณสถานต่าง ๆ ที่อาจชำรุดบ้าง เพราะมีอายุมาก

          ขณะที่นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ไม่มีคนไทยอาศัยอยู่ในบริเวณรัฐฉาน ประเทศพม่า ซึ่งเป็นจุดที่เกิดแผ่นดินไหว เพราะส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่เมืองย่างกุ้ง เมืองมัณฑะเลย์ ส่วนการส่งสารแสดงความเสียใจ หรือการให้ความช่วยเหลือนั้น กำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ว่า พม่ามีความเสียหายมากน้อยอย่างไร ทั้งนี้ สถานเอกอัคราชทูตไทย ในเมืองย่างกุ้ง จะรายงานสถานการณ์เข้ามาเป็นระยะ เพื่อดูความต้องการของพม่า ในการส่งความช่วยเหลือต่อไป

          ด้านนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหว และอาฟเตอร์ช็อก เมื่อคืนวันที่ 24 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดความเสียหายใน 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา และน่าน

          โดยจังหวัดเชียงรายได้รับความเสียหายใน 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่สาย อำเภอเชียงแสน อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอดอยหลวง อำเภอเชียงของ อำเภอแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่จัน และอำเภอพาน มีผู้เสียชีวิตจากการถูกกำแพงบ้านล้มทับ 1 ราย รวมถึงโบราณสถานได้รับความเสียหาย 4 แห่ง ได้แก่ พระธาตุจอมกิตติ พระธาตุเจดีย์หลวง  พระวิหารวัดปู่ข้าว และวิหารวัดแม่เลียบ

          จังหวัดพะเยา ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา และอำเภอดอกคำใต้ โดยโบราณสถานได้รับความเสียหาย 2 แห่ง ได้แก่ องค์พระเจ้าตนหลวง วัดศรีโคมคำ และพระธาตุในวัดพระธาตุหลวง

          ส่วนจังหวัดน่าน วิหารวัดภูมินทร์วรวิหาร วัดช้างค้ำวรวิหาร และวัดเขาน้อยมีรอยร้าวเล็กน้อย

          สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ อาคารสำนักงานของเทศบาลตำบลสันทรายหลวง อำเภอสันทรายได้รับความเสียหายเล็กน้อย

          ทั้งนี้ ปภ. ได้ตรวจสอบข้อมูลผลกระทบจากแผ่นดินไหวกับเขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนภูมิพลพบว่าเขื่อนทั้ง 2 แห่งไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวแต่อย่างใด

          ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตล่าสุด รายงานเมื่อช่วงเย็นวันที่ 25 มีนาคม พบว่า มีผู้เสียชีวิตแล้ว 74 คน บาดเจ็บ 110 คน และบ้านพัง 240 หลัง








         

แผ่นดินไหวไทย

แผ่นดินไหวไทย
แผ่นดินไหวครั้งที่ 1


แผ่นดินไหวไทย
แผ่นดินไหวครั้งที่ 1, 2 และ 3
(กรอบสีฟ้าใหญ่สุดคือครั้งที่ 1 กรอบสีฟ้าอันเล็กคือครั้งที่ 2 และกรอบสีแดงคือครั้งล่าสุด)


[24 มีนาคม] แผ่นดินไหวพม่า 6.8 ริกเตอร์ สั่นแรงถึงกทม.-พม่าดับแล้ว 10

          แผ่นดินไหวพม่า 6.8 ริกเตอร์ เชียงใหม่-เชียงรายสั่นนานกว่า 5 นาที ชาวบ้านหวาดหวั่น แรงสั่นสะเทือนมาถึงกทม. ประชาชนหนีตายจากตึกสูงจ้าละหวั่น พร้อมมีอาฟเตอร์ช็อกแรง 4.8 และ 5.4 ริกเตอร์

          เกิดแผ่นดินไหวที่พม่าขนาด 6.8 ริกเตอร์ เมื่อเวลา 20.55 น. ของวันที่ 24 มีนาคม 2554 โดยศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่แขวงเมืองพยาค รัฐฉาน สาธารณรัฐสหภาพพม่า ซึ่งอยู่ใกล้กับชายแดนไทย อ.ปาย ส่งผลให้หลายจังหวัดในภาคเหนือ ทั้งเชียงราย พะเยา น่าน ลำพูน รวมถึงเชียงใหม่ ในเขตอำเภอแม่ริม สันทราย สันกำแพง และอำเภอเมือง เป็นต้น ได้รับผลกระทบจากแรงสะเทือนดังกล่าว ทั้งของตกแตก-บ้านไหว หนีมาอยู่กลางถนน ด้านชาวกรุงเทพ ผู้อาศัยอยู่บนตึกสูงในหลายพื้นที่ ต่างระบุว่ารู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนได้อย่างชัดเจน

          และเมื่อเวลา 21.23 น. ของวันที่ 24 มีนาคม 2554 ได้เกิดอาฟเตอร์ช็อกหนแรก ความแรง 4.8 ริกเตอร์ และในเวลา 22.54 น. ของวันที่ 24 มีนาคม 2554 ได้เกิดอาฟเตอร์ช็อกครั้งที่ 2 แรง 5.4 ริกเตอร์ ณ จุดเดิม ซึ่งส่งผลถึงกทม.เช่นกัน ประชาชนบนตึกสูงสามารถรู้สึกได้ถึงแผ่นดินไหว

          โดยมีรายงานผู้เสียชีวิต 1 รายที่จ.เชียงราย คือ นางหงส์ คำปิง อายุ 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 19 ม.10 ต. เวียงพางคำ อ.แม่สาย ที่โดนกำแพงล้มทับ ขณะหลบหนีออกมาจากบ้าน

          ล่าสุด เมื่อเวลา 00.21 น. ของวันที่ 25 มีนาคม 2554 มีรายงานเข้ามาว่า พบชาวพม่าดับแล้ว 10 ราย หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว จากดินและอาคารพังถล่ม อันเนื่องมาจากอิทธิพลของแรงสั่นไหวในเมืองตาปิง จ.ท่าขี้เหล็ก ของพม่า ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐฉาน ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหว

          ด้าน นายสมชาย ใบม่วง รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผย สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหว ขนาดค่อนข้างรุนแรงที่ประเทศพม่า โดยศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่ห่างจาก อ.แม่สาย จ.เชียงราย ประมาณ 56 ก.ม. โดยแรงสั่นสะเทือน สามารถรับรู้ได้ ในหลายจังหวัด ในเขตภาคเหนือ อาทิ เชียงใหม่ในหลายอำเภอ, จ.เชียงราย, จ.อุตรดิตถ์ เป็นต้น ซึ่งประชาชนพากันแตกตื่นกันอย่างหนักในโรงพยาบาลบางแห่งได้อพยพคนไข้ออกจากตึกเพื่อความปลอดภัย ซึ่งแรงสั่นทะเทือนดังกล่าวรับรู้ถึงพื้นที่ในกรุงเทพมหานครด้วย โดยเฉพาะตึกสูงหลายแห่งย่านลาดพร้าวและรัชดารับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนอย่างชัดเจน และเบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหายแต่อย่างใด

          โดยทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศเตือนเรื่องแผ่นดินไหวอย่างเป็นทางการแล้ว โดยมีศูนย์กลางที่ประเทศพม่า ขนาด 6.7 ริกเตอร์ เมื่อเวลา 20.55 น. ที่ละติจูด : 20 ํ 52' 12'' เหนือ ลองจิจูด : 99 ํ 54' 36'' ตะวันออก ความลึกจากระดับผิวดิน 10 กิโลเมตร อยู่ห่างจาก อ.แม่สาย จ.เชียงราย ประมาณ 56 กิโลเมตร, ห่างจากจังหวัดเชียงรายของประเทศไทย ประมาณ 89 กิโลเมตร และห่างจาก เชียงใหม่ 252 กิโลเมตร รู้สึกสั่นไหวได้หลายพื้นที่ของภาคเหนือและกรุงเทพมหานคร

          ซึ่งขณะเกิดเหตุแผ่นดินไหว ในตัวอำเภอเมือง จ.ลำปาง ชาวบ้านทั่วทั้งจังหวัดลำปางกว่า 13 อำเภอ ต้องวิ่งหนีแตกตื่นออกมาจากบ้านอย่างโกลาหล ซึ่งแรงสั่นสะเทือนทำให้เปลเด็กในบ้านแกว่ง, กรอบรูปเคลื่อนไหวนานกว่า 20 วินาที อย่างไรก็ตามขณะนี้ผู้สื่อข่าวเดินทางออกสำรวจความเสียหายในพื้นที่ต่าง ๆ แล้ว

         ขณะที่จุดที่ใกล้ชายแดนพม่า เช่น ที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ มีแรงสั่นสะเทือนที่รุนแรงมาก เบื้องต้น ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบความเสียหายแล้ว เนื่องจากมีบางพื้นที่ที่มีการสั่นรุนแรง จนทำให้ประชาชนต้องกอดเสาบ้านเพื่อความปลอดภัย ส่วนนักท่องเที่ยวและประชาชนที่อยู่ตึกสูงบางส่วนยังคงอยู่ด้านล่าง เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีก

          ส่วนในกรุงเทพมหานคร ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่อยู่ในตึกสูงต่างตกใจและวิ่งหนีกันลงมาอยู่ด้านล่างตึก เนื่องจากเตียงนอน, เสาไฟฟ้า และสิ่งของต่าง ๆ โยกไปมาอยู่เกือบ 10 วินาที ก่อนที่จะสงบลง

          ด้านนักวิชาการธรณีวิทยาเผยแรงสะเทือนในกรุงเทพฯ ไม่ทำให้เกิดความเสียหาย เพราะในกรุงเทพฯ เป็นหินชั้นอ่อน ฐานรากอยู่ลึกกว่าดินอ่อน ที่ผิดปกติคือเกิดตื้นมากเพียงแค่ 10 กม.จากพื้นดิน

          ทั้งนี้ มีนักวิชาการรายหนึ่งได้กล่าวเตือนว่า รอยเลื่อนสะแกง เป็นรอยเลื่อนในพม่า เป็นรอยเลื่อนที่มีพลัง (ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นต้นเหตุของแผ่นดินไหวครั้งนี้) และจะส่งผลกระทบกับรอยเลื่อนในบ้านเรา ด้าน อาจารย์เป็นหนึ่ง วานิชชัย ระบุว่าจะมีอาฟเตอร์ช็อคเกิดถี่ในช่วง 1-2 วันนี้ ประมาณ 5 ริกเตอร์ แต่จะเป็นที่ตำแหน่งเดิม




คลิปแผ่นดินไหวที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย



คลิป ข่าวแผ่นดินไหว ในประเทศพม่า



คลิป โคมไฟที่แขวนในบ้านแกว่งตามแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว



คลิป ภาพเหตุการณ์ประชาชนในเชียงคำวิ่งหนีออกมาจากห้าง หลังเกิดแผ่นดินไหว
         




เกาะติดข่าว แผ่นดินไหวพม่า ทั้งหมด


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
       
 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แผ่นดินไหวพม่า ที่ไทยพบศูนย์กลาง 3 จุด ที่เชียงราย-น่าน อัปเดตล่าสุด 25 สิงหาคม 2559 เวลา 14:04:48 226,697 อ่าน
TOP