กลอนไทยนั้นไซร้ เป็นไฉนกัน?





เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้องมูล

          กลอนไทยนับได้ว่าเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของการเรียนวิชาไทย ซึ่งเราไม่เพียงแต่จะได้รับความเพลิดเพลินและความสนุกสนานไปกับคำกลอนเท่านั้น แต่มันยังสะท้อนให้เห็นถึงความไพเราะทางภาษาที่กวีไทยได้ร้อยเรียงขึ้นมา และสามารถสื่อให้เห็นอารมณ์ ความคิด และทัศนคติของผู้แต่งในช่วงเวลานั้น ๆ ด้วยเช่นกัน แล้วเพื่อน ๆ รู้หรือไม่คะว่า การแต่งกลอนมีมาเป็นเวลานานแล้ว และมีความผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยด้วยเช่นกัน

          แม้ว่ากลอนเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยใดนั้นยังไม่ปรากฏแน่ชัด เพราะบางตำราก็กล่าวว่ามีแต่งกันมาตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ส่วนบางตำราก็ว่าเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าบรมโกศในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

          อย่างไรก็ตาม ก็มีผู้ที่สันนิษฐานว่า กลอนนั้นน่าจะเป็นของไทยแท้โดยได้ดัดแปลงมาจากเพลงพื้นบ้านไทย  ซึ่งนิยมเล่นเป็นกลอนสด เช่น เพลงพวงมาลัย เพลงเรือ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงฉ่อย เป็นต้น ทั้งนี้ เนื่องจากชาวไทยพื้นบ้านมีการร้องเพลงกันอยู่ทั่วไป และยิ่งเพลงเล่นสัมผัสได้มากเท่าใด ก็ยิ่งสนุกมากขึ้นเท่านั้น

          แม้ว่าในระยะแรก ๆ จะเล่นกันโดยไม่มีระเบียบแบบแผนกำหนดว่าต้องมีสัมผัสกันตรงไหนบ้าง ดังจะเห็นได้จากกลอนลิเก ซึ่งสัมผัสได้ตามใจชอบ  แต่ก็ขอให้มีคำคล้องจองกันเท่านั้น ดังนั้นแม้ว่าบางคนอ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ แต่ก็ยังสามารถเล่นกลอนเพลงต่าง ๆ ได้เช่นกัน

          จนกระทั่งมาถึงในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นยุคที่กลอนเฟื่องฟูมาก โดยกวีเอกที่สำคัญของไทย คือ สุนทรภู่ เป็นผู้คิดแบบสัมผัสในของกลอน ทำให้กลอนมีความไพเราะเพิ่มมากขึ้น จึงกลายเป็นแบบฉบับของกลอนในสมัยต่อมาตราบจนกระทั่งทุกวันนี้

          สำหรับประเภทของกลอน แบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด คือ

          1. กลอนลำนำ ได้แก่ กลอนบทละคร กลอนสักวา กลอนเสภา กลอนดอกสร้อย และกลอนขับร้อง
          2. กลอนตลาด ได้แก่ กลอนเพลงยาว กลอนนิราศ กลอนนิยาย และกลอนเพลงปฏิพากย์
          3. กลอนสุภาพ ได้แก่ กลอน ๖ กลอน ๗ กลอน ๘ และกลอน ๙

          ทั้งนี้ กลอนสุภาพ ถือได้ว่าเป็นแม่บทของกลอนทั้งหลาย เนื่องจากกลอนสุภาพเป็นหลักของบรรดากลอนทุกชนิด หากเข้าใจกลอนสุภาพเป็นอย่างดีแล้ว ก็สามารถจะเข้าใจกลอนอื่น ๆ ได้โดยง่าย





          ฉันทลักษณ์ของกลอนสุภาพ มีดังนี้

          กลอนสุภาพ ๑  บทมี ๔  วรรค
            วรรคที่ ๑  เรียกว่า  วรรคสดับ  หรือ  สลับ
            วรรคที่ ๒  เรียกว่า  วรรครับ
            วรรคที่ ๓  เรียกว่า  วรรครอง
            วรรคที่ ๔  เรียกว่า  วรรคส่ง

            ๑  วรรค  มี ๘ คำ    ๒ วรรค เป็น ๑ บาท  หรือ ๑ คำกลอน
            ฉะนั้นกลอน ๑ บท  จะมี  ๒  คำกลอน

            จังหวะของคำในวรรค  กลอนมักมีจังหวะ ๓ ช่วง  คือ
            จำนวน  ๖   คำ                     ๐๐ /  ๐๐  /  ๐๐
            จำนวน  ๗  คำ                     ๐๐ /  ๐๐  /  ๐๐๐
            จำนวน  ๘  คำ                   ๐๐๐ /  ๐๐  /  ๐๐๐
            จำนวน  ๙  คำ                  ๐๐๐  / ๐๐๐ /  ๐๐๐

            เสียงวรรณยุกต์ท้ายวรรค
            คำท้ายวรรคแรก  ใช้เสียง  เอก  โท  ตรี  จัตวา  ห้ามใช้เสียงสามัญ
            คำท้ายวรรคที่ ๒  ใช้เสียง  เอก  โท  จัตวา
            คำท้ายวรรคที่ ๓  และ ๔  ใช้เสียงสามัญ  หรือ  ตรี  ห้ามเสียง เอก โท จัตวา

            ข้อห้ามในการแต่ง

            1. อย่าใช้คำที่ไม่มีความหมาย หรือมีความหมายไม่ตรงกับที่ต้องการในบทประพันธ์
            2. อย่าใช้คำเดียวกันรับส่งสัมผัสกัน  เช่น  แว่วเสียงสำเนียงจิ้งหรีดร้อง  ดังเสียงร้องร่ำเพราะเสนาะเหลือ
            3. อย่าใช้คำเสียงเดียวกันกับที่รับส่งสัมผัสอยู่แล้วแห่งหนึ่ง  ไปรับส่งสัมผัสใหม่อีก แห่งหนึ่งในบทเดียวกัน
            4. อย่าลงท้ายบทด้วยคำเสียงเดียวกับคำที่ใช้รับส่งสัมผัสมาแล้วในบทนั้น
            5. อย่าลงท้ายบทด้วยคำใช้รูปวรรณยุกต์  และไม่ควรอย่างยิ่ง  ถ้าเป็นคำสุดท้ายของบทสุดท้าย
            6. อย่าใช้คำที่มีรูปสระสั้น – ยาวแตกต่างกันมารับหรือส่งสัมผัสกัน     เช่น ท่าน-ฉัน, จำได้ไหมใครคนหนึ่งซึ่งเคยรัก  แล้วถูกพรากพาไปไกลเกินฝัน


            สัมผัสของกลอนสุภาพ


          กลอน ๖





                    ตัวอย่าง

                                ความดี มีอยู่ คู่ชั่ว               ติดตัว กลั้วอิง อาศัย
                         ทำดี ดีช่วย อวยชัย                   ทำชั่ว ชั่วให้ ใจตรม
                         ผลดี นี้นำ ความสุข                    ผลชั่ว กลั้วทุกข์ ทับถม
                         ดีเด่น เห็นผล คนชม                  ชั่วช้า พาจม ตรมตรอม



          กลอน ๗





                    ตัวอย่าง

                             หวานคำ ล้ำรส อมฤต              ชโลมจิต สร่างโรค โศกศัลย์
                        น้ำคำ น้ำชุบ ชูชีวัน                      ชวนชื่น หื่นหรรษ์ ห่มฤดี
                        คำเพราะ เสนาะ สนานจิต               ทุกข์หน่าย คลายพิษ พูนสุขศรี
                        ร้อยยา แพทย์ยา ยาชีวี                 ฤาถึง กึ่งวจี เจรจา



          กลอน ๘





                    ตัวอย่าง

                          ถึงบางบอน ย้อนคิด ถึงเรื่องเก่า          โบราณเล่า ว่าบอน ซ่อนไม่ได้
                    มันคันยิบ คันยับ จับหัวใจ                        ถ้าพูดออก บอกได้ ก็หายคัน
                    รู้อะไร นิ่งอั้น มันคันปาก                          ให้นึกอยาก พูดยิ่ง ทุกสิ่งสรรพ์
                    ขยายออก บอกใคร ได้ทุกวัน                    หายอัดอั้น คันปาก เพราะอยากบอน



          กลอน ๙





                    ตัวอย่าง

                       รักประเทศ รักเพื่อนบ้าน งานทุกสิ่ง               รักสัตย์จริง รักวิชา ใจกล้าหาญ
                  สามัคคี ไมตรีมิตร จิตชื่นบาน                           ตลอดกาล มรณะ อย่าละธรรม์
                  อย่าเสียศีล กินสินบน ขนเงินหลวง                     อย่าล่อลวง โกงเงินราษฎร์ ขาดขยัน
                  หนักก็เอา เบาก็ทำ ประจำวัน                           ยุติธรรม์ ขันติเลิศ ประเสริฐแล


          เอาล่ะค่ะ ตอนนี้เราได้รู้หลักการแต่งกลอนที่ถูกต้องกันอย่างละเอียดไปแล้ว สำหรับผู้ที่ชอบแต่งกลอนหรือนักแต่งกลอนมือใหม่ ก็สามารถส่งกลอนต่าง ๆ มาแชร์กันได้ที่ Kapook Poem นะคะ...



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
thaiarc.tu.ac.th, sirimajan.exteen.com, vcharkarn.com



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กลอนไทยนั้นไซร้ เป็นไฉนกัน? อัปเดตล่าสุด 28 กันยายน 2554 เวลา 15:42:20 29,724 อ่าน
TOP
x close