กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ ใครที่สนใจในกีฬาคงพอจะทราบว่า มีกีฬาประเภทที่เรียกว่า กรีฑา อยู่ด้วย แต่รู้หรือไม่ว่า กรีฑา นั้น ถูกแบ่งออกเป็นหลายประเภทด้วยนะ หนึ่งในนั้นคือก็ ทศกรีฑา กีฬาที่ต้องแข่งขันกันถึง 10 อย่างกว่าจะรู้ผลแพ้ชนะ ส่วน ทศกรีฑา จะมีที่มาที่ไป และ รายละเอียดอย่างไร วันนี้เรามีข้อมูลมาฝากกันจ้า
การแข่งขันกรีฑา คือ การแข่งขันกีฬาที่มีมานานตั้งแต่สมัยมนุษย์ยุคหิน ซึ่งได้วิวัฒนาการมาจากการใช้ชีวิตในสมัยโบราณที่ต้องวิ่งหนีสัตว์ดุร้าย วิ่งฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ จนทำให้พัฒนามาเป็นกีฬา โดยเชื่อกันว่าเริ่มต้นมาจากประเทศกรีก และแตกแขนงออกไปหลากหลายประเภท หนึ่งในนั้นคือ ทศกรีฑา (Decathlon)
เกร็ดความรู้ : ตามประวัติกรีฑานั้น กีฬาประเภทนี้มีต้นกำเนิดมาจากการแข่งขันในเทศกาลโอลิมปิกโบราณของกรีกซึ่งเริ่มขึ้นในปี 776 ก่อนคริสตกาล และประกอบด้วยการแข่งขันหลากหลาย เช่น วิ่ง, กระโดด, และการขว้าง ในศตวรรษที่ 19 กรีฑาได้รับการฟื้นฟูใหม่และเริ่มแพร่หลายในระดับสากล การแข่งขันกรีฑาสมัยใหม่ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยสมาคมกรีฑาสากลในปี 1912 เพื่อกำหนดมาตรฐานและกฎกติกาที่เป็นที่ยอมรับระดับโลก ในปัจจุบันกรีฑายังคงเป็นส่วนสำคัญของการแข่งขันโอลิมปิกและมีนักกีฬาจากทั่วโลกเข้าร่วม
ทศกรีฑา คือ การแข่งขันกรีฑาประเภทผสม ซึ่งรวมเอากรีฑาชนิดลู่และลานเข้าไว้ด้วยกัน โดยกรีฑาชนิดลู่นั้น หมายถึง กีฬาที่แข่งขันกันบนทางวิ่งหรือลู่ ส่วนใหญ่เป็นกีฬาประเภทวิ่งแข่ง ขณะที่กีฬาชนิดลาน หมายถึง กีฬาที่ตัดสินกันด้วยระยะทาง เช่น ระยะความสูง หรือ ระยะความไกล เป็นต้น โดยการแข่งขันทศกรีฑานั้นสามารถเข้าแข่งขันได้เฉพาะผู้ชาย และใช้เวลาในการแข่งขัน 2 วัน ซึ่งจะเป็นการแข่งขันตามรายการที่กำหนด แบ่งออกเป็นวันละ 5 รายการ รวมทั้งหมด 10 รายการ ดังนี้
วันแรก
1. วิ่ง 100 เมตร เป็นการแข่งขันวิ่งในลู่กว้าง 1.22 เมตร ผู้แข่งขันต้องไม่ออกนอกเส้น เข้าไปในลู่ของผู้แข่งขันคนอื่น
2. กระโดดไกล หลังจากกระโดดไปแล้ว จะวัดจากรอยหลุมทรายที่เกิดขึ้นใกล้กับกระดานกระโดดมากที่สุด ไม่จำเป็นต้องเป็นรอยเท้าเสมอไป
3. ทุ่มน้ำหนัก ต้องยืนอยู่ในวงกลมขนาด 2.135 เมตร เตรียมถือลูกน้ำหนักไว้บริเวณคอใกล้ ๆ คาง เมื่อพร้อมแล้วให้ทุ่มออกไปข้างหน้าให้ลูกตกภายในรัศมีที่กำหนด โดยใช้มือทุ่มแค่มือเดียว และห้ามเงื้อมือออกมา
4. กระโดดสูง วิ่งและกระโดดผ่านไม้พาด ลงสู่เบาะที่รองรับอยู่ด้านล่าง โดยไม่ให้ไม้พาดตก
5. วิ่ง 400 เมตร เหมือนการวิ่ง 100 เมตรแต่เพิ่มระยะทางมากขึ้น
วันที่สอง
1. วิ่งข้ามรั้ว ระยะทาง 110 เมตร ความสูงของรั้ว (1.067 เมตร) น้ำหนักของรั้ว 10 กิโลกรัม ใครเข้าเส้นชัยก่อนเป็นผู้ชนะ
2. ขว้างจักร ยืนอยู่ในวงกลมขนาด 2.5 เมตร และเหวี่ยงจักรออกไปให้ตกภายในรัศมีที่กำหนด
3. กระโดดค้ำถ่อ ผู้แข่งขันจะใช้สารยึดเกาะทามือ แล้วใช้ไม้ค้ำยันตัวให้กระโดดสูงความสิ่งกีดขวาง
4. พุ่งแหลน เป็นการพุ่งไม้ออกไปให้ไกลที่สุด ตัดสินผลจากความไกลของจุดที่ไม้ตก
5. วิ่ง 1,500 เมตร เป็นการวิ่งบนลู่ที่มีระยะค่อนข้างยาว กติการการวิ่งเหมือนกับการวิ่งชนิดอื่น ๆ คือให้วิ่งในลู่ของตนเอง และใครเข้าเส้นชัยก่อนเป็นผู้ชนะ
สำหรับผู้ชนะจะต้องเป็นผู้ที่ทำคะแนนได้มากที่สุดในการแข่งขัน โดยต้องเข้าแข่งขันให้ครบทั้ง 10 รายการ หากพลาดการแข่งขันรายการใดรายการหนึ่ง ให้ถือว่าหมดสิทธิ์ทันที