สภาปรองดองดุเดือด พท. - ปชป.ปะทะคารมวุ่น


สภาเดือด


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ไทยโพสต์youtube.com โพสต์โดย ZipperAlien

          สภาพิจารณาร่างปรองดองเดือด ประชาธิปัตย์ จี้ให้ถอนร่างกฎหมายการเงินคืนเงิน 4.6 หมื่นล้านให้ทักษิณ ไม่มีใครยอมใคร ส.ส.ประชาธิปัตย์ แห่ขึ้นบัลลังก์เชิญประธานออกนอกห้องประชุม

           เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเวลา 15.10 น. โดยมี นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ....

           โดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน เปิดฉากอภิปรายว่า พ.ร.บ.ปรองดอง แม้ชื่อปรองดอง แต่เนื้อหาไม่ปรองดอง เป็นการล้มล้างความผิดให้คนเพียงคนเดียว และให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น รัฐบาลเคยให้คำมั่นว่าจะไม่เสนอจนกว่าจะสานเสวนาและรับฟังความเห็นจากประชาชน หาความเห็นพ้องกันก่อนจะตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง จนวันนี้เกือบจะเรียกว่าไม่มีปี่มีขลุ่ย อยู่ ๆ ก็เสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพียงแต่ใช้ชื่อปรองดอง ลับลวงพรางให้เกิดความเข้าใจผิด ให้เข้าใจว่าเป็นกฎหมายนำไปสู่ความปรองดอง แต่คือการล้มล้างความผิดให้คนเพียงคนเดียว แล้วนำไปสู่ความแตกแยก

           ประธานวิปฝ่ายค้าน ยังชี้ประเด็นว่า ทำไมประธานถึงวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.ปรองดองถึงไม่ใช่กฎหมายที่ไม่เกี่ยวกับการเงิน เพราะถ้ากฎหมายฉบับนี้เกี่ยวด้วยการเงิน ประธานจะไม่สามารถบรรจุได้ทันที เนื่องจากต้องมีข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ มาตรา 143 ระบุไว้ชัดเจนว่า ถ้าเป็นกฎหมายเกี่ยวการเงิน จะต้องมีการรับรองจากนายกรัฐมนตรีก่อนจึงจะบรรจุเข้าสู่วาระของสภาได้ ซึ่งการที่ต้องให้นายกฯ รับรองก่อน เพราะเป็นผู้บริหารสูงสุดของฝ่ายบริหาร มีอำนาจดูแลเงินและทรัพย์สินของแผ่นดินประเทศ ดังนั้นนายกฯ จึงต้องใช้ดุลพินิจว่ากฎหมายนี้มีการนำเงินของแผ่นดินไปใช้จ่ายหรือไม่ และเงินในคลังของแผ่นดินจะมีเพียงพอต่อการนำไปใช้ในกฎหมายนั้นๆ หรือไม่ ซึ่งเราเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ปรองดองอาจเข้าข่ายว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน เพราะมาตรา 143 ระบุไว้ชัดเจน เช่น (2) เป็นกฎหมายที่ต้องจ่ายเงินแผ่นดิน (3) การวินิจฉัยว่าผูกพันกับทรัพย์สินของรัฐ

           "ประธานต้องทำความชัดเจนในเรื่องนี้ก่อน โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.ปรองดองที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิเป็นผู้เสนอ เพราะจะผลกระทบตามมาต่อการจ่ายเงินแผ่นดิน คือคืนทรัพย์สินให้ผู้กระทำความผิดและได้รับการนิรโทษกรรม เพราะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ตัดสินคดีเป็นที่สิ้นสุด พร้อมกับให้ยึดทรัพย์สินเป็นของแผ่นดิน ดังนั้นเมื่อนิรโทษกรรมแล้วยังต้องคืนทรัพย์สินให้ด้วยหรือไม่" นายจุรินทร์ กล่าว

           ด้านนายสมศักดิ์ ชี้แจงว่า ได้วินิจฉัยไปแล้วว่าเป็นเรื่องด่วนและไม่เกี่ยวกับกฎหมายการเงิน ถือว่าประธานได้วินิจฉัยไปแล้วอย่างถูกต้องทุกอย่าง และบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมแล้ว ทำให้ ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์พากันส่งเสียงโห่ด้วยความไม่พอใจต่อคำชี้แจงของนายสมศักดิ์ ทำให้นายสมศักดิ์ต้องปิดไมค์พร้อมกับขอร้องให้สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อยู่ในความสงบ และขอร้องให้สำรวมมารยาทด้วย

          จากนั้นบรรยากาศในห้องประชุมเริ่มตึงเครียดขึ้นเรื่อย ๆ มีการปะทะคารมนอกไมค์กันเป็นระยะ มีกระทั่งด่าว่าควาย และเมื่อนายสมศักดิ์ตัดบทและขอถามมติที่ประชุมว่าจะให้เลื่อนระเบียบวาระการประชุมหรือไม่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายแย้งว่า ประธานจะมาถามมติเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะญัตติโมฆะด้วยตนเองอยู่แล้ว เพราะประธานใช้อำนาจผิดรัฐธรรมนูญ ไม่มีสิทธิ์วินิจฉัยว่าร่างนี้เป็นเรื่องการเงินหรือไม่ รัฐธรรมนูญใหญ่กว่าข้อบังคับ ถ้าประธานไม่เคารพรัฐธรรมนูญ พวกตนก็ไม่เคารพประธาน ซึ่งทำให้บรรยากาศในห้องประชุมยังคงวุ่นวายมากขึ้น จนทำให้นายสมศักดิ์ต้องสั่งพักการประชุมประมาณ 15 นาที

           ทั้งนี้ นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ใช้สิทธิ์ประท้วงว่า ตามข้อบังคับการประชุมที่ 111 เมื่อประธานวินิจฉัยเห็นว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงินให้แจ้งต่อผู้เสนอทราบ แต่หากผู้เสนอไม่คัดค้านภายใน 7 วัน ไม่ถือว่าเป็นข้อสงสัยว่าเป็นกฎหมายการเงินและให้ผ่านไป ถ้าเห็นเป็นอื่นคงต้องไปตีความกัน แต่ตอนนี้เมื่อมีการเสนอญัตติมีผู้รับรองถูกต้องก็ต้องอยู่ประเด็นนี้ ส่วนจะเป็นกฎหมายการเงินหรือไม่ ค่อยว่ากันอีกประเด็นหนึ่ง

           จากนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ กล่าวว่าขั้นตอนว่าจะพิจารณาเรื่องไหนก่อนต้องดูข้อบังคับและรัฐธรรมนูญประกอบกัน ประเด็นที่ว่าสามารถบรรจุในระเบียบวาระได้หรือไม่ต้องพิจารณาก่อน เพราะหากวาระใดบรรจุไม่ได้ก็ไม่สามารถเลื่อนญัตติได้ แต่เรื่องกฎหมายการเงินเขียนในรัฐธรรมนูญมาตรา 143 แล้ว เกี่ยวพันกับสิทธิของผู้เสนอ จึงเป็นเรื่องก่อน เพราะหากผู้เสนอไม่มีสิทธิ์เสนอ ก็ไม่สามารถเลื่อนได้ โดยกฎหมายการเงินที่จะเสนอได้ต้องให้ ครม.เสนอ หรือไม่ก็ต้องให้นายกฯ รับรอง เพราะถือเป็นสิทธิของฝ่ายบริหาร เพราะพิจารณาว่าหากฝ่ายนิติบัญญัติไปออกกฎหมายผูกพันการเงิน ฝ่ายบริหารมีสิทธิ์ระงับหรือตัดสินใจว่าสมควรจะเดินหน้าหรือไม่

           นายอภิสิทธิ์ อภิปรายต่อว่า หากมีการประชุมว่าเป็นกฎหมายการเงิน ก็ส่งให้นายกฯ รับรอง ถ้าไม่เป็นก็มาพิจารณาว่าจะเลื่อนหรือไม่ ทั้งนี้ หากประธานบอกว่า พ.ร.บ.นี้ไม่เป็นกฎหมายการเงิน แม้จะลบล้างความผิด ก็จะต้องไม่มีการคืนเงินให้ ประธานก็ต้องยืนยันว่าจะไม่มีการคืนเงิน และรัฐบาลชุดต่อ ๆ ไปก็ต้องไม่มีการคืนเงิน แต่หากร่างกฎหมายนี้เป็นกฎหมายการเงิน ก็ต้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เซ็นรับรองก่อนว่าจะเอาอย่างไร เพราะหากเห็นว่าลบล้างคำพิพากษาโดยไม่ต้องคืนเงินก็มาพิจารณากัน

           อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการประชุมวุ่นวายมากขึ้น เมื่อนายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ใช้สิทธิ์ประท้วง โดยแสดงความไม่พอใจว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ชอบส่งเสียงโห่ร้องกันขณะที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยพยายามอภิปราย โดยขณะที่นายประชากำลังอภิปรายอยู่นั้น ก็มี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ส่งเสียงเป็นระยะ ๆ ทำให้นายประชาตะโกนขึ้นว่า "โห่ทำ...อะไร" กลางที่ประชุม ทำให้นายสมศักดิ์ขอร้องให้นายประชาถอนคำพูดดังกล่าว ท่ามกลางเสียงการตะโกนด่าตอบโต้กันไปมาของ ส.ส.พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ จนสุดท้ายนายประชาจึงได้ถอนคำพูดไปในที่สุด

           เมื่อถึงเวลาประมาณ 18.00 น. นายสมศักดิ์ได้ตัดบทการอภิปราย เพราะเห็นว่าได้มีการเสนอญัตติและมีผู้รับรองเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทำให้นายธนา ชีรวินิจ ส.ส.กทม. ตะโกนว่า "เผด็จการรัฐสภาหรือ พวกผมเป็น ส.ส. ไม่ได้เป็นขี้ข้าใคร พวกผมเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย ท่านมีสิทธิ์อะไร" หลังจากนั้น ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ต่างพากันลุกจากที่นั่งไปยืนตะโกนด่าทอประธานอยู่ที่หน้าบัลลังก์ โดยมีนายอภิชาติ สุภาแพ่ง ส.ส.เพชรบุรี ที่ขึ้นไปบัลลังก์ประธานพร้อมยกมือไหว้หนึ่งครั้งก่อนดึงแขนนายสมศักดิ์ให้เลิกทำหน้าที่ แต่นายสมศักดิ์ไม่ยอม 

           จากนั้น นายกุลเดช พัวพัฒนกุล ส.ส.อุทัยธานี พรรคประชาธิปัตย์ ได้พยายามไปกระชากคอของนายสมศักดิ์จากด้านหลัง และอีกหลายคนพยายามขึ้นไปดึงตัวนายสมศักดิ์ให้ลงจากบัลลังก์ แต่นายสมศักดิ์ยังคงนั่งต่อไปด้วยสีหน้าเคร่งเครียด ขณะที่ ส.ส.ทั้งหมดต่างลุกฮือกันชุลมุนอยู่ที่บริเวณบัลลังก์ของประธาน มีการเผชิญหน้ากันระหว่าง ส.ส.พรรคเพื่อไทย กับ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 


รังสิมา รอดรัศมี


           โดย น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ ได้ไปดึงเก้าอี้ที่อยู่ข้าง ๆ ประธานลงจากบัลลังก์ ระหว่างนั้น น.ส.เปล่งมณี เร่งสมบูรณ์สุข ส.ส.เลย พรรคเพื่อไทย ได้ปีนข้ามเก้าอี้ยกเท้าขึ้นหวังจะถีบ น.ส.รังสิมา โดยมี น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ปรี่จะเข้ามาร่วมด้วย แต่ได้มี ส.ส.ชายของพรรคประชาธิปัตย์หลายคนมาห้ามปรามเอาไว้ ขณะนั้นเองเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของรัฐสภาก็พยายามเข้ามาห้ามปราม และได้ยืนล้อมนายสมศักดิ์ไว้กว่า 30 นาย หลังจากความวุ่นวายเกิดขึ้นประมาณ 10 นาที นายสมศักดิ์ได้สั่งพักการประชุม 15 นาที

           ต่อมาเวลา 18.27 น. ได้กลับเข้ามาประชุมกันอีกครั้ง โดยนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ขึ้นทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมแทน แต่ ส.ส.ประชาธิปัตย์ออกมายืนล้อมวงกลางห้อง โดยนายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตะโกนซ้ำ ๆ ว่า ปิดประชุม ๆ ๆ ซึ่งนายวิสุทธิ์กล่าวขอร้องว่าให้ฝ่ายค้านค่อยมาพูดจากัน มีเหตุมีผลก็พูดจากัน แต่นายธนากล่าวย้ำว่า ตั้งแต่เปิดประชุมมาจนถึงช่วงนี้ ไม่ทราบว่า พล.อ.สนธิ ไปอยู่ที่ไหน ถ้าเสนอร่าง พ.ร.บ.จริงก็ต้องออกมาชี้แจง

           จากนั้นนายวิสุทธิ์ ได้ปล่อยให้ ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาลสลับกันอภิปราย โดยฝ่ายค้านยืนกรานให้ปิดการประชุม และให้วิปทั้ง 2 ฝ่ายไปหารือกัน ก่อนที่จะประชุมอีกครั้งวันนี้ (31 พฤษภาคม) เมื่อบรรยากาศเริ่มเบาลง นายวิสุทธิ์ได้สั่งปิดประชุมในเวลาประมาณ 19.30 น.




 คลิป สภาวุ่น แย่งเก้าอี้ ประธานสภา 



สภาป่วน สส.ดึงประธานออกจากที่นั่ง



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
 




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สภาปรองดองดุเดือด พท. - ปชป.ปะทะคารมวุ่น โพสต์เมื่อ 30 พฤษภาคม 2555 เวลา 19:15:09 8,503 อ่าน
TOP
x close