เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก news.springnewstv.tv, cth.co.th
ชื่อของ "CTH" เคเบิลท้องถิ่นชื่อนี้... กลายเป็นที่สนใจอกสนใจขึ้นมาโดยพลัน เมื่อกลายเป็นม้ามืดคว้าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอล พรีเมียร์ลีก อังกฤษ อย่างเป็นทางการถึง 3 ปี เริ่มตั้งแต่ฤดูกาล 2013-2016 แซงคู่แข่งอย่าง ทรู วิชันส์ หรือแม้กระทั่ง จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และอาร์เอส ที่ขอร่วมประมูลลิขสิทธิ์ในครั้งนี้ด้วย
ทั้งนี้ เรียกได้ว่า "CTH" ทำเอาคอบอล และช่องเคเบิลยักษ์ใหญ่ทั้งหลายถึงกับช็อก! เพราะเคเบิลดังกล่าว รู้จักกันในฐานะช่องเคเบิลท้องถิ่นหน้าใหม่ หรือบางคนแทบไม่รู้จักช่องนี้เลยก็ได้ แต่รู้ไหมว่าจริง ๆ แล้ว ช่อง "CTH" ไม่ใช่หน้าใหม่ในวงการสื่อแต่อย่างใด... วันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ "CTH" ม้ามืดแห่งวงการสื่อกัน
"CTH" เป็นเคเบิลท้องถิ่น มีชื่อบริษัทเต็ม ๆ ว่า บริษัท เคเบิล ไทยโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดตัวอย่างเป็นทางการในนาม "เคเบิลท้องถิ่น" เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ซึ่งในช่วงแรก "CTH" ใช้วิธีรวบรวมผู้ให้บริการเคเบิลท้องถิ่นรายย่อยต่าง ๆ จำนวนหลายร้อยรายทั่วประเทศ ให้มารวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน เพื่อให้มีอำนาจต่อรองทั้งในแง่การแข่งขันและการซื้อลิขสิทธิ์รายการทีวีจากต่างประเทศ ซึ่งในช่วงแรกหัวเรือใหญ่ของ "CTH" คือ นายเกษม อินทร์แก้ว นายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย
การรวมตัวกันจากกลุ่มย่อย ๆ หลายกลุ่ม ก็ค่อย ๆ เกาะกลุ่มกันหนาแน่นขึ้น ก่อนที่จะปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยลดการถือหุ้นเดิมเพียง 30% และการถือหุ้นฝ่ายละ 25% ของ นายวิชัย ทองแตง ฉายาพ่อมดตลาดหุ้น และนายวัชร วัชรพล ทายาทหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งการจับมือของสองยักษ์ใหญ่ครั้งนี้ ทำให้ "CTH" ถูกพัฒนาระบบเครือข่ายแบบก้าวกระโดดเลยทีเดียว อีกทั้งยังถูกจับตามองว่าอาจจะมีพันธมิตรอีกหลายรายเข้ามาร่วมธุรกิจ
Program - CTH
ส่วนจุดเด่นของ "CTH" นั้น คือ เงินทุนที่เพิ่มขึ้นจากเดิม จาก 300 ล้านบาท มาเป็น 1,000 ล้านบาท อีกทั้งยังอาวุธหลัก คือ "โครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง" หรือ เครือข่ายไฟเบอร์ออปติก ที่ครอบคลุมพื้นที่จำนวนมากของประเทศไทย นอกจากนี้ "CTH" ยังมีไม้เด็ดที่อยู่เหนือระบบการส่งสัญญาณดาวเทียม หรือให้บริการเสริมนอกเหนือจากการสัญญาณโทรทัศน์ นั่นก็คือ "บริการอินเทอร์เน็ต" และ "บริการทีวีแบบอินเทอร์แอคทีฟ" เป็นต้น
ทั้งนี้ การเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วของ "CTH" ยังสะท้อนให้เห็นอีกแง่หนึ่งของ "ไทยรัฐ" สิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่ ที่กำลังเริ่มผลิตอาวุธใหม่ ๆ ตีตลาดอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นแอพฯ มือถือ เว็บไซต์ และล่าสุดการรวมสื่อสิ่งพิมพ์เข้ากับวงการโทรทัศน์ภายใต้ช่อง "ไทยรัฐทีวี"
นอกจากนี้ เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทาง "CTH" ก็ควักกระเป๋าทุ่มอีก 2 หมื่นล้าน เตรียมวางโครงข่ายใยแก้วนำแสง เพื่อเข้าสู่การเป็นผู้ให้บริการโครงการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างเต็มรูปแบบในปีหน้า (2556) โดยกำหนดกลยุทธ์เอาไว้ 3 เฟส ได้แก่ การอัพเกรดสมาชิกจากระบบดิจิตอลเป็นเครือข่ายไฟเบอร์ออปติก, ให้บริการระบบอินเทอร์เน็ต พร้อมระบบโทรศัพท์ผ่านสัญญาณอินเทอร์เน็ต (VOIP), ขยายธุรกิจดิจิตอลมัลติมีเดียอย่างเต็มรูปแบบ
ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ "CTH" ยังตั้งเป้าว่าจะเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็ว 1 กิกะบิต ให้เข้าถึงสมาชิกทุกครัวเรือน ในรูปแบบ "คอนเวอร์เจนซ์" ให้ได้อีกด้วย
ส่วนไม้เด็ดที่ทาง "CTH" สามารถคว้าลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกส์มาได้นั้น คือ ต้องล้มเจ้าแห่งวงการซ็อคเกอร์อย่าง "ทรูวิชันส์" ให้ได้ ส่วนก้าวต่อไปก็คือการแย่งลิขสิทธิ์กีฬารายการใหญ่ เพื่อสร้างจุดขายต่อผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้วันนี้ "CTH" จะสามารถคว่ำ ทรูวิชันส์ เจ้าของลิขสิทธิ์เจ้าเก่าเอาไว้ได้ แต่หากมองในเชิงธุรกิจนั้น จำนวนเงินที่คาดกันว่าทุ่มไปกว่า 9 พันล้านบาท (ครั้งก่อน ทรูวิชันส์ประมูลไปไม่ถึง 2 พันล้านบาท) อาจจะไม่คุ้มค่าในแง่ธุรกิจก็เป็นได้ เนื่องจากคอบอลในประเทศไทยมีจำนวนเท่าเดิม แต่ทาง "CTH" ทุ่มวงเงินอันเกินพอดีกับต้นทุนและกำไร
ทั้งนี้ เราก็ต้องคอยจับตาดูการเดินเกมของ "CTH" กันว่า... จะสามารถหาช่องทางทำกำไรได้จากไหน แต่มีข่าวแว่ว ๆ ว่า ทาง "CTH" คงถ่ายทอดสดฟุตบอลแมตช์ใหญ่เอง ส่วนฟุตบอลคู่เล็กคงให้พันธมิตรรายอื่น ๆ ถ่ายทอด ซึ่งเหมือนกับวิธีที่ทางทรูวิชันส์ปฏิบัติมาโดยตลอด และแน่นอนกลยุทธ์แบบ "เซ็ตท็อปบ็อกซ์" ก็ต้องถูกนำมาใช้อย่างแน่นอน ด้วยการขายกล่อง "CTH" เนื่องจากทาง "GMM Z" เคยทำวิธีนี้แล้วประสบความสำเร็จมาแล้ว
...จากภาพรวมแล้ว หลายคนคงมองว่า "กำไร" ของ "CTH" คงจะได้ไม่คุ้มทุน แต่เชื่อเลยว่าอำนาจการต่อรองในการแข่งขันอุตสาหกรรมทีวีในระยะยาวนั้น ชื่อของ "CTH" คงจะน่ากลัวเลยทีเดียว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
cth.co.th