พื้นที่ลุ่มน้ำ...ลมหายใจของสิ่งมีชีวิตที่กำลังถูก (รัฐ) คุกคาม


พื้นที่ลุ่มน้ำ...ลมหายใจของสิ่งมีชีวิตที่กำลังถูก (รัฐ) คุกคาม

พื้นที่ลุ่มน้ำ...ลมหายใจของสิ่งมีชีวิตที่กำลังถูก (รัฐ) คุกคาม

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

           "มนุษย์" เป็นส่วนหนึ่งของ "สิ่งแวดล้อม" อย่างแยกจากกันไม่ได้ และทั้งสองสิ่งนี้ก็มีอิทธิพลต่อกันอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง แต่การที่มนุษย์กำลังพยายาม "เปลี่ยนแปลง" สิ่งแวดล้อม โดยไม่เลือกที่จะ "ปรับตัว" ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งที่ "สิ่งแวดล้อม" สะท้อนผลกลับ มันก็ได้สร้างความหายนะให้เรา ไม่แพ้คุณประโยชน์ที่เคยให้แก่มนุษย์เรามาก่อนเลย

           ถึงจะรู้เช่นนี้แล้ว แต่น่าเศร้าใจนักที่การเบียดเบียนสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยยังปรากฏให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ ทั้ง "ป่าไม้", "อากาศ", "ผืนดิน" หรือแม้กระทั่ง "น้ำ" ที่ขณะนี้มีความพยายามที่จะทำลาย "พื้นที่ชุ่มน้ำ" อันเป็นระบบนิเวศสำคัญที่มีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จากหลายโครงการที่วาดภาพขึ้น เพื่อบริหารจัดการแก้ไขปัญหาอุทกภัยของชาติ ไม่ให้เกิดมหาวิปโยคซ้ำรอยปลายปี 2554

พื้นที่ลุ่มน้ำ...ลมหายใจของสิ่งมีชีวิตที่กำลังถูก (รัฐ) คุกคาม

           หลายคนอาจกำลังสงสัยว่า "พื้นที่ชุ่มน้ำ" หมายถึงพื้นที่แบบไหน? เรื่องนี้ ทางภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ หรืออนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar convention) ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า พื้นที่ชุ่มน้ำ คือ "ที่ลุ่ม ที่ราบลุ่ม ที่ลุ่มชื้นแฉะ พรุ แหล่งน้ำ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งที่มีน้ำขังหรือท่วมอยู่ถาวรและชั่วครั้งชั่วคราว ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหล ทั้งที่เป็นน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม รวมไปถึงที่ชายฝั่งทะเลและที่ในทะเล ในบริเวณซึ่งเมื่อน้ำลดลงต่ำสุด มีความลึกของระดับน้ำ ไม่เกิน 6 เมตร"

           นั่นหมายความว่า ห้วย หนอง คลอง บึง แม่น้ำ หาดทราย หาดโคลน น้ำตก นากุ้ง นาข้าว บ่อปลา ป่าชายเลน ป่าพรุ อ่างเก็บน้ำ ทะเล ฯลฯ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำทั้งหมด และสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นระบบนิเวศที่มีคุณค่าของวิถีชีวิตของมนุษย์ เพราะเป็นทั้งแหล่งอุปโภค บริโภค ช่วยเก็บกักน้ำฝนและน้ำท่าที่ไหลบ่าจากพื้นที่ตอนบน ช่วยชะลอการไหลของน้ำ ป้องกันไม่ให้น้ำเค็มรุกล้ำแผ่นดิน และยังเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญของมนุษย์ พืช และสรรพสัตว์นานาพันธุ์

พื้นที่ลุ่มน้ำ...ลมหายใจของสิ่งมีชีวิตที่กำลังถูก (รัฐ) คุกคาม

           ในประเทศไทย มีพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetlands) อยู่ประมาณ 21.63 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 6.75 ของพื้นที่ประเทศ และประเทศไทยเองก็ได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar convention) ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2541 ซึ่งต้องปฏิบัติตามสัญญาในการรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำที่ขึ้นทะเบียนไว้ 10 แห่งไม่ให้ถูกทำลาย

           ส่วนพื้นที่ชุ่มน้ำอีกนับหมื่นแห่ง ก็ได้รับความคุ้มครองตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543 และได้รับการทบทวนอีกครั้งในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 เพื่อกำหนดให้พื้นที่ชุ่มน้ำแหล่งน้ำจืดเป็นพื้นที่สีเขียวที่สงวนไว้เป็นแหล่งรองรับน้ำ และกักเก็บน้ำ โดยมิให้ส่วนราชการเข้าไปใช้ประโยชน์ และต้องดำเนินการส่งเสริมการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำนั้น ๆ อย่างชาญฉลาดให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

           หากได้ศึกษาประวัติศาสตร์ จะทราบว่า วิถีชีวิตของคนไทยผูกพันกับ "พื้นที่ชุ่มน้ำ" อย่างตัดกันไม่ขาด ทั้งใช้ประโยชน์ในการสัญจร การอุปโภค บริโภค การประกอบสัมมาอาชีพ จนมีผู้กล่าวว่า "พื้นที่ชุ่มน้ำเปรียบเสมือนซูเปอร์มาร์เก็ตของชุมชน" ที่คนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงิน นั่นจึงทำให้คนหลากหลายชาติพันธุ์นิยมอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้ลุ่มน้ำ

พื้นที่ลุ่มน้ำ...ลมหายใจของสิ่งมีชีวิตที่กำลังถูก (รัฐ) คุกคาม

           แม้แต่การสร้างเมืองในสมัยโบราณ ผู้ปกครองก็ยังเลือกสร้างเมืองในพื้นที่ใกล้ลุ่มน้ำ เพราะลุ่มน้ำเปรียบเสมือนสายโลหิตหล่อเลี้ยงชีวิต หลายเมืองกลายเป็นศูนย์กลางอำนาจทางการเมือง ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และศูนย์กลางทางวัฒนธรรมที่สืบทอดความงดงามต่อกันมานับพันปี คนสมัยนั้นพึ่งพิงและพึ่งพา "พื้นที่ชุ่มน้ำ" ด้วยจิตใจที่หวงแหน จึงไม่แปลกที่จะเราจะได้ยินสุภาษิตแสนคุ้นหูที่ว่า "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" อันบ่งบอกถึงระบบนิเวศ และความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ลุ่มน้ำในยุคก่อนที่ทุกคนช่วยกันอนุรักษ์ได้อย่างชัดแจ้ง

           แต่น่าตกใจอย่างยิ่ง ที่วันนี้ เวลานี้ พื้นที่ชุ่มน้ำอันเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยถูกทำลายไปแล้วเป็นจำนวนมาก ที่ยังเหลืออยู่หลายแห่งก็อยู่ในสภาพเสื่อมโทรม และกำลังจะถูกสังเวยให้กับกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นไปตามแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วเพื่อรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น คนในยุคปัจจุบันกลับเห็นลุ่มน้ำเป็นที่รกร้าง ไร้ประโยชน์ กีดขวางการสัญจร และการสร้างบ้านเรือน ไม่คิดพึ่งพิงลุ่มน้ำอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยเฉกเช่นคนสมัยก่อนอีกต่อไป แต่เลือกที่จะทำลาย ไม่เพียงแต่ประชาชน องค์กร หรือเอกชนเท่านั้น แม้แต่ภาครัฐก็ไม่มีความรู้ ขาดความตระหนักถึงคุณประโยชน์ของพื้นที่ชุ่มน้ำ จึงไม่มีการจัดการอย่างถูกต้อง พื้นที่ชุ่มน้ำจึงถูกบุกรุกคุกคามอยู่เป็นนิตย์

           ซ้ำร้ายไปกว่านั้น เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวออกมาว่า รัฐบาลเองก็แสดงเจตจำนงต้องการให้ยกเลิกสถานะความเป็น "พื้นที่ชุ่มน้ำ" ของระบบนิเวศแม่น้ำและปากแม่น้ำในภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง เพื่อสร้างอภิมหาโปรเจคท์ป้องกันน้ำท่วม โดยปัจจุบันมีการขุดลอกแหล่งน้ำมากมาย เพื่อใช้เป็นแก้มลิง และรัฐก็ได้อนุมัติงบประมาณพร้อมดำเนินการโดยยังไม่ได้ทำการศึกษาอย่างรอบคอบ ซึ่งเป็นการขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีที่ให้อนุรักษ์ "พื้นที่ชุ่มน้ำ"

           สิ่งนี้ทำให้นักวิชาการ และนักอนุรักษ์ตั้งคำถามว่า การแก้ปัญหาอุทกภัยด้วยการ "เปลี่ยน" และ "ทำลาย" โครงสร้างการทำงานของระบบนิเวศธรรมชาติ ใช่แนวทางที่ถูกต้องหรือ? เพราะการเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้ไม่ใช่หรือ ที่เป็นบ่อเกิดของภัยธรรมชาติซึ่งเคยแสดงพิษสงกลับมาเอาคืนมนุษย์อย่างแสนสาหัส

พื้นที่ลุ่มน้ำ...ลมหายใจของสิ่งมีชีวิตที่กำลังถูก (รัฐ) คุกคาม

           ตัวอย่าง "พื้นที่ชุ่มน้ำ" ที่ถูกกล่าวถึงว่ากำลังจะถูกพัฒนาให้กลายเป็นแก้มลิงก็คือ บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ และบึงสีไฟ จังหวัดพิจิตร เรื่องนี้ ได้ทำให้ นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่เข้าใจ และขาดความรอบคอบในการทำโครงการป้องกันน้ำท่วม เพราะพื้นที่ชุ่มน้ำมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก การไปขุดลอกเอาแต่ระดับความลึก 5-7 เมตร จะกระทบกับพันธุ์ปลา สัตว์น้ำ พันธุ์พืช นอกจากนี้ พื้นที่ชุ่มน้ำทั้ง 2 แห่งนี้ ยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี ดังนั้น การดำเนินกิจกรรมใด ๆ ในพื้นที่ชุ่มน้ำต้องทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และเสนอต่อ ครม. ด้วย

           ไม่ต่างจาก ดร.วสันต์ จอมภักดี จากโครงการวิศวกรรมเพื่อชุมชนและการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่เคยเสนอให้รัฐบาลรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำให้ยังคงสภาพตามธรรมชาติ และไม่ควรเปลี่ยนพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นอ่างเก็บน้ำ เพราะพื้นที่ชุ่มน้ำเปรียบได้กับป่าที่ต่ำ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก การจะสร้างระบบป้องกันอุทกภัย ต้องออกแบบไม่ให้พื้นที่ชุ่มน้ำเสื่อมสภาพ หลักการสำคัญในแก้ไขปัญหาด้วยวิธีหนึ่งจะต้องไม่เกิดปัญหาอื่น ๆ อีกมากมายตามมา หากแก้แบบลัดวงจรตามแผน 3.5 แสนล้าน ก็อาจจะยิ่งเพิ่มปัญหา เร่งประเทศให้เข้าสู่หายนะมากกว่า

พื้นที่ลุ่มน้ำ...ลมหายใจของสิ่งมีชีวิตที่กำลังถูก (รัฐ) คุกคาม

           ส่วน นายสันติ บุญประคับ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ชี้ให้เห็นว่า การบุกรุกพื้นที่ชุ่มน้ำ ตัดถนนผ่าน ถมที่สร้างตึกรามบ้านช่อง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อาคารบ้านเรือนเหล่านั้นเผชิญกับน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 เนื่องจากแหล่งกักเก็บน้ำตามธรรมชาติ "ไร้ความสามารถ" ในการทำหน้าที่กักเก็บน้ำอีกต่อไป

           ดังเช่น อาคารเรียนและสนามกีฬาของมหาวิทยาลัยมหิดลในจังหวัดนครสวรรค์ ที่สร้างบนพื้นที่ชุ่มน้ำทุ่งสร้าง อันเป็นทางน้ำไหลเข้าสู่บึงบอระเพ็ด สุดท้ายก็ต้องถูกน้ำท่วมจนเสียหายอย่างหนัก หรืออีกตัวอย่างที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ใช้พื้นที่บึงกะโล่ก่อสร้างอาคาร เมื่อน้ำหลากมา อาคารเหล่านั้นก็ต้องสยบต่อมวลน้ำอย่างที่ไม่มีใครสกัดกั้นได้

           สิ่งเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า การเบียดเบียน "พื้นที่ชุ่มน้ำ" เพื่อสร้างเป็นฟลัดเวย์ หรือเพื่อใช้เป็นแก้มลิง อาจจะยังไม่ใช่ทางออกที่ดีนักก็ได้ และยิ่งถ้าเรื่องนี้ยังไม่ผ่านการพิจารณาผลกระทบอย่างรอบคอบแล้ว งบประมาณจำนวนมหาศาลที่จะใช้ในโครงการป้องกันอุทกภัยอาจเป็นเพียงแค่การตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ซ้ำการที่ทำลาย "พื้นที่ชุ่มน้ำ" ไปแล้ว ยังเปรียบเสมือนการฆ่าช้างเอางา ที่ท้ายที่สุดแล้วจะไม่สามารถเรียกลมหายใจของสรรพสิ่งที่สูญไปให้คืนกลับมาได้เลย



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พื้นที่ลุ่มน้ำ...ลมหายใจของสิ่งมีชีวิตที่กำลังถูก (รัฐ) คุกคาม โพสต์เมื่อ 21 พฤษภาคม 2556 เวลา 09:51:33 3,365 อ่าน
TOP
x close