เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
หอการค้าไทย เผยผลสำรวจคนไทยมีหนี้ครัวเรือนพุ่ง 12% สูงสุดรอบ 5 ปี เฉลี่ยครัวเรือนละ 188,774.54 บาท เผยเงินเดือนเกิน 15,000 บาท เป็นหนี้บัตรเครดิต 90%
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2556 นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือน พฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนในการก่อหนี้ภาคครัวเรือน ซึ่งสำรวจจากประชาชนทั่วประเทศ 1,200 ราย ระหว่างวันที่ 18-23 มิถุนายน 2556 พบว่า ประชาชน 64.6% มีภาระหนี้ครัวเรือน และ 35.4% ไม่มีหนี้ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เพิ่มต่อเนื่องและสูงสุดในรอบ 7 ปี ทำให้มูลค่าหนี้ครัวเรือนปี 2556 เพิ่มเป็น 1.88 แสนบาท จากปีก่อน 1.68 แสนบาท หรือขยายตัว 12% ทำสถิติมูลค่าและขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ปี นับจากปี 2552
การก่อหนี้ของกลุ่มตัวอย่างจำแนกตามรายได้ พบว่า
กลุ่มผู้มีรายได้ต่ำกว่า 5,000 บาท หนี้ในระบบ 20.2% หนี้นอกระบบ 49.8% มีทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ 30%
กลุ่มผู้มีรายได้ 5,000-10,000 บาท หนี้ในระบบ 40.4% นอกระบบ 15.1% มีทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ 44.5%
กลุ่มผู้มีรายได้ 10,001-15,000 บาท หนี้ในระบบ 38.9% นอกระบบ 19.6% มีทั้งหนี้ในและนอกระบบ 42.5%
กลุ่มผู้มีรายได้ 15,001-30,000 บาท หนี้ในระบบ 43.8% นอกระบบ 29.2 มีทั้งหนี้ในและนอกระบบ 27%
กลุ่มผู้มีรายได้ 30,001-50,000 บาท หนี้ในระบบ 45.6% นอกระบบ 28.4% มีหนี้ทั้งในและนอกระบบ 25%
กลุ่มผู้มีรายได้มากกว่า 50,000 บาท หนี้ในระบบ 81.2% นอกระบบ 9.4% มีหนี้ทั้งในและนอกระบบ 9.4%
โดยภาระหนี้ครัวเรือน จำนวนหนี้สินครัวเรือนเฉลี่ยต่อครัวเรือน 188,774.54 บาท ผ่อนชำระเฉลี่ยเดือนละ 11,671.93 บาท โดยแบ่งเป็นหนี้ในระบบ จำนวน 10,990.28 คิดเป็น 50.4% หนี้นอกระบบ จำนวน 6,377.70 คิดเป็น 49.6%
ทั้งนี้ ประชาชนที่มีรายได้เกิน 15,000 บาทต่อเดือน มีการกู้หนี้มากขึ้นและกู้หนี้ผ่านบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นสัดส่วนถึง 89.9% จำนวนนี้ 80% เป็นหนี้บัตรเครดิตสูงกว่ารายได้และมีมูลหนี้ 2-4 เท่าของรายได้ เฉลี่ยต่อคนจะมีบัตรเครดิต 2 ใบ ที่น่าวิตกคือประชาชนที่ใช้บัตรเครดิต ชำระหนี้เงินขั้นต่ำเพิ่มขึ้นจาก 13% เป็น 17% อีก 25% ชำระบางส่วน และ 2% มีการขาดชำระหนี้แล้ว สะท้อนถึงปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้น ซึ่งเอ็นพีแอลในอัตรา 2-3% ถือว่าปกติ แต่หากเกิน 5% รัฐบาลคงต้องเอามาดูแลแล้ว เพื่อไม่ให้เกิน 10% ที่เป็นอัตรายอมรับได้และไม่กระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก
สำหรับสาเหตุที่ทำให้หนี้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน
23% ระบุว่ามาจากค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น
22% ระบุว่ามาจากค่าเล่าเรียนบุตรหลาน
13.5% ระบุว่าจากการซื้อสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น เช่น บ้าน รถ
10.4% ระบุว่ามาจากการขาดรายได้เนื่องจากถูกออกจากงาน
8.9% ระบุว่ามาจากการผ่อนสินค้ามากเกินไป
7.7% ระบุว่ามาจากการปรับปรุงกิจการที่เกิดจากภัยธรรมชาติ
6.6% ระบุว่ามีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมาก
4% ระบุว่าไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้จากภัยธรรมชาติ
3% ระบุว่าซ่อมแซมบ้านจากภัยธรรมชาติ
นายธนวรรธน์ ระบุว่า จากผลสำรวจนี้ สะท้อนให้เห็นว่าหนี้ครัวเรือนมีการขยายตัวเร็วมาก เมื่อเทียบกับปี 2555 จากอัตราการขยายตัว 5.7% ปรับขึ้นมาเป็น 12% และภาวะหนี้ครัวเรือนปัจจุบันถือว่าเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ปี แต่ที่น่าห่วงที่สุดคือ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากผลสำรวจนี้ชี้ให้เห็นเลยว่าหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อีกทั้งสัดส่วนหนี้ที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งก็เพื่อนำเงินไปชำระหนี้นอกระบบ และคาดว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนจะส่งภาพชัดเจนขึ้นในไตรมาส 3
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก