ชาร์ลส์ แบบเบจ บิดาแห่งคอมพิวเตอร์

ชาร์ลส์ แบบเบจ Charles Babbage บิดาแห่งคอมพิวเตอร์

ชาร์ลส์ แบบเบจ (Charles Babbage)


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก nawinda071.blogspot.com , chambsru.blogspot.com ,il.mahidol.ac.th

            หากจะเอ่ยถึงสิ่งประดิษฐ์ของโลกยุคปัจจุบัน ที่นำความเจริญให้กับมนุษยชาติ หนึ่งในนั้นคงจะหนีไม่พ้น "คอมพิวเตอร์" หรือ เทคโนโลยีสมองกล ที่นำความเจริญก้าวหน้าและความสะดวกสบายต่าง ๆ มาให้กับมนุษย์ ซึ่งตอนนี้เชื่อว่าหลายคนอาจจะสงสัยว่า ใครที่เป็นคนสร้างคอมพิวเตอร์ขึ้นมา วันนี้กระปุกดอทคอมก็มีเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ มาฝากเพื่อน ๆ อีกเช่นเคย

            สำหรับผู้บุกเบิกสร้างคอมพิวเตอร์ก็คือ ชาร์ลส์ แบบเบจ (Charles Babbage) บุคคลสำคัญทางคอมพิวเตอร์ที่เป็นทั้งนักคณิตศาสตร์ นักปรัชญาวิเคราะห์ และเป็นนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ เนื่องจากเขาเป็นคนแรกที่มีแนวคิดเรื่องเครื่องคำนวณที่สามารถสร้างโปรแกรมหรือสั่งให้ทำงานได้ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับส่วนประกอบของระบบคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน แม้เขาจะเสียชีวิตก่อนที่จะได้เห็นเครื่องในจินตนาการของเขาเสร็จสมบูรณ์ แต่เขาก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเครื่องจักรจากแนวคิดของเขาสามารถทำงานได้จริงและมีคุณูปการต่อโลกเป็นอย่างยิ่ง

            โดย ชาร์ลส์ แบบเบจ เกิดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 1791 (พ.ศ. 2334) ในครอบครัวของนายธนาคาร และเติบโตมาในยุคที่อังกฤษเป็นประเทศที่มีอำนาจ และกำลังอยู่ในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนทุนพัฒนาในสาขาต่างๆ อย่างเต็มที่ แบบเบจศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่ ทรินิตี้ คอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ที่คณะคณิตศาสตร์ (Mathematical Laboratory) พอเรียนจบ แบบเบจก็ตัดสินใจเป็นอาจารย์ต่อที่คณะ ในปี ค.ศ. 1814 (พ.ศ. 2357) และได้สมรสกับ จอร์เจียนา วิธมอร์ นักคณิตศาสตร์หญิงคนเก่งคนหนึ่งในยุคนั้น


เครื่องผลต่าง (Difference Engine)

เครื่องผลต่าง (Difference Engine)

            ทั้งนี้ แบบเบจมีความสนใจในการศึกษาด้านแคลคูลัสเป็นพิเศษ โดยในปี 1822 (พ.ศ. 2365) งานวิจัยที่ทำให้เขาโด่งดังมากคือ เครื่องผลต่าง (Difference Engine) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาล โดยเครื่องนี้สามารถคำนวณค่าของฟังก์ชันทางตรีโกณมิติได้ ซึ่งอาศัยหลักการต่าง ๆ ทางคณิตศาสตร์ แต่โครงการก็ต้องยุติลงเมื่อเขาได้ค้นพบความไม่น่าเชื่อถือบางประการในการคำนวณ

            หลังจากนั้นแบบเบจหันไปคิดเครื่องใหม่ที่ชื่อว่า เครื่องวิเคราะห์ (Analytical Engine) โดยเครื่องนี้ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 4 ส่วน คือ

            1. ส่วนเก็บข้อมูล เป็นส่วนที่ใช้ในการเก็บข้อมูลนำเข้าและผลลัพธ์ที่ได้จากการคำนวณ

            2. ส่วนประมวลผล เป็นส่วนที่ใช้ในการประมวลผลทางคณิตศาสตร์

            3. ส่วนควบคุม เป็นส่วนที่ใช้ในการเคลื่อนย้ายข้อมูลระหว่างส่วนเก็บข้อมูลและส่วนประมวลผล

            4. ส่วนรับข้อมูลเข้าและแสดงผลลัพธ์ เป็นส่วนที่ใช้รับข้อมูลจากภายนอกเครื่องเข้าสู่ส่วนเก็บข้อมูล และแสดงผลลัพธ์ที่ได้จากการคำนวณ


 เครื่องวิเคราะห์ (Analytical Engine)

 เครื่องวิเคราะห์ (Analytical Engine)

            อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวเป็นเพียงทฤษฎีเท่านั้น เพราะเขาไม่สามารถสร้างออกมาในช่วงที่เขามีชีวิตอยู่ เนื่องจากมีคนไม่เห็นด้วยมากมาย เพราะความคิดของเขาทันสมัยเกินกว่าเทคโนโลยีในยุคนั้น จนทุก ๆ คนคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ แต่บุคคลที่นำแนวคิดของแบบเบจมาสร้างเครื่องวิเคราะห์ (Analytical Engine) ก็คือ เฮนรี่ ลูกชายของแบบเบจ ในปี 1910 (พ.ศ. 2453) และด้วยเครื่อง Analytical Engine มีฟังก์ชั่นหน้าที่หลายอย่างเช่นเดียวกับคอมพิวเตอร์ในยุคปัจจุบัน ทำให้ ชาลส์ แบบเบจ (Charles Babbage) ถูกขนานนามให้เป็นบิดาแห่งคอมพิวเตอร์เป็นต้นมา




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

- nawinda071.blogspot.com
- chambsru.blogspot.com
- il.mahidol.ac.th

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ชาร์ลส์ แบบเบจ บิดาแห่งคอมพิวเตอร์ อัปเดตล่าสุด 29 เมษายน 2567 เวลา 18:10:48 227,732 อ่าน
TOP
x close