เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ewt.prd.go.th
มารู้จัก ประเทศฟิลิปปินส์ ดินแดนแห่งหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งล่าสุดถูกไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนถล่ม จนได้รับความเสียหายหนัก
ภาพความเสียหายหลังพายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน พัดเข้าถล่มประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2556 นั้นช่างเป็นภาพที่น่าสะเทือนใจและชวนให้หดหู่ใจไม่น้อย ด้วยสภาพของภูมิประเทศทำให้ฟิลิปปินส์ต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติหลายครั้ง ทั้งจากพายุ แผ่นดินไหว รวมทั้งภูเขาไฟ และในวันนี้ กระปุกดอทคอมก็จะขอพาทุกท่านไปรู้จักประเทศฟิลิปปินส์กันอีกครั้ง
ชื่ออย่างเป็นทางการ
สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (Republic of the Philippines)
เมืองหลวง
กรุงมะนิลา ตั้งอยู่บนเกาะลูซอน เกาะใหญ่ที่สุดซึ่งอยู่ทางเหนือสุดของฟิลิปปินส์
การปกครอง
ระบอบประชาธิปไตย ในรูปแบบสาธารณรัฐ ภายใต้การนำของ นายเบนิกโน เอส อาคีโน ที่สาม (Benigno S. Aquino III) ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน
ลักษณะทางกายภาพ
ฟิลิปปินส์เป็นดินแดนแห่งหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก มีลักษณะพิเศษคือเป็นประเทศเพียงหนึ่งเดียวที่มีพรมแดนทางทะเลที่ติดต่อระหว่างกันยาวมากที่สุดในโลก ประกอบด้วยเกาะจำนวน 7,107 เกาะ โดยมีเกาะใหญ่ 11 เกาะ ซึ่งมีพื้นที่รวมกันเท่ากับร้อยละ 90 ของพื้นที่ทั้งหมด 298.170 ตารางกิโลเมตร ในบรรดาเกาะทั้งหมดมีเกาะที่มีคนอาศัยอยู่เพียงราว 900 เกาะเท่านั้น เกาะที่ใหญ่ที่สุดคือ เกาะลูซอน (Luzon) ที่อยู่ทางเหนือ และ เกาะมินดาเนา (Mindanao) ที่อยู่ทางใต้
เกาะต่าง ๆ ของฟิลิปปินส์แบ่งออกเป็น 3 หมู่ คือ
หมู่เหนือ ประกอบด้วย สองเกาะใหญ่ ๆ คือ เกาะลูซอน และเกาะะมินโดโร (Mindoro)
หมู่กลาง เรียกว่า Visa yas ประกอบด้วยเกาะต่าง ๆ ประมาณ 7,000 เกาะ
หมู่เกาะใต้ ประกอบด้วย เกาะมินดาเนา และ Sulu Archipa lago ซึ่งหมายถึง หมู่เกาะต่าง ๆ ประมาณ 400 เกาะ ที่อยู่เรียงรายทางใต้ของเกาะมินดาเนา ไปจนถึงทางทิศตะวันตกของเกาะบอร์เนียว
ลักษณะภูมิประเทศ-ภูมิอากาศ
ฟิลิปปินส์เป็นหมู่เกาะของเทือกเขาหินใหม่ พื้นที่ทุกเกาะมีภูเขาเป็นแกนกลาง มีที่ราบอยู่น้อยและเป็นที่ราบแคบ ๆ โดยมีที่ราบสำคัญคือที่ราบตอนกลางของเกาะลูซอน หรือที่ราบมะนิลา ซึ่งเป็นที่ราบที่ใหญ่ที่สุด มีลักษณะภูมิอากาศ อยู่ในโซนมรสุมเขตร้อน ได้รับความชุ่มชื้นจากลมมรสุมทั้ง 2 ฤดู โดยได้รับฝนจากลมพายุไต้ฝุ่นและดีเปรสชัน บริเวณที่ฝนตกมากที่สุดอยู่ที่เมืองบาเกียว
ประวัติความเป็นมา
ชาวตะวันตกได้รู้จักหมู่เกาะฟิลิปปินส์ เมื่อ พ.ศ. 2064 หลังจากที่ เฟอร์ดินานด์ มาเจแลน (Ferdinand Magellan) นักสำรวจชาวโปรตุเกสค้นพบหมู่เกาะฟิลิปปินส์ และในเวลาต่อมา สเปนก็ได้พยายามเข้ามาทำให้คนพื้นเมืองหันมานับถือศาสนาคริสต์ และยึดครองฟิลิปปินส์เป็นระยะเวลายาวนานกว่า 300 ปี
ต่อมา ฟิลิปปินส์ได้เกิดขบวนการเรียกร้องอิสรภาพที่นำโดย โฮเซ ไรชัล (Jose Rizal) ปัญญาชนชาวฟิลิปปินส์ ซึ่งแม้ว่าการปลดแอกในครั้งนั้นจะไม่เป็นผล และ โฮเซ ไรชัล จะได้รับโทษประหารชีวิตในเวลาต่อมา แต่เขาก็ได้กลายมาเป็นวีรบุรุษของชาวฟิลิปปินส์มาจนถึงปัจจุบัน
ใน พ.ศ. 2441 สหรัฐฯ และสเปนได้เกิดความขัดแย้งกันจนเกิดเป็นสงครามขึ้น ก่อนที่สหรัฐฯ จะเข้ามาปกครองฟิลิปปินส์แทนสเปนนานถึง 14 ปี (ตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2442-2456) จนกระทั่งในที่สุด ฟิลิปปินส์ก็ได้เกิดสงครามต่อต้านสหรัฐฯ ที่เรียกว่า PhilippineAmerican War ก่อนที่ฟิลลิปปินส์จะได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์ในวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2489
ข้อมูลทั่วไป
จากข้อมูลในปี พ.ศ. 2556 พบว่า ฟิลิปปินส์มีประชากรอยู่ราว 98 ล้านคน โดยร้อยละ 83 นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาธอลิก, ร้อยละ 9 นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโปรเตสแตนท์ อีกร้อยละ 5 นับถือศาสนาอิสลาม และที่เหลือนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิตามความเชื่อต่าง ๆ ชาวฟิลิปปินส์ใช้ภาษาฟิลิปิโน (Filipino) และภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ โดยมีภาษาประจำชาติคือ ภาษาตากาล็อก และมีดอกพุดแก้ว (Sampaguita Jasmine) เป็นดอกไม้ประจำชาติ วันชาติของฟิลิปปินส์ ตรงกับวันที่ 12 มิถุนายน ของทุกปี
ประชากร
ชาวฟิลิปปินส์ในปัจจุบัน มีรูปร่างหน้าตาคล้ายพวกมองโกล ผสมผสาน มีผิวสีน้ำตาล แต่บางกลุ่มมีผิวค่อนข้างขาว ซึ่งการที่ชาวฟิลิปปินส์มีลักษณะที่แตกต่างกันนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากความซับซ้อนของเผ่าพันธุ์ อันเกิดจากการผสมผสาน ระหว่างเชื้อชาติต่าง ๆ ทั้งจากชนเผ่าดั้งเดิม ซึ่งเป็นมนุษย์ชวา (Java man) ที่อาศัยอยู่ตามหมู่เกาะฟิลิปปินส์มาตั้งแต่ยุคน้ำแข็ง (Ice Age) ร่วมถึงชนเผ่าอินโดนีเซีย ที่ได้เดินทางเข้ามาอาศัยอยู่บนเกาะฟิลิปปินส์ จนกลายเป็นชนเผ่าพื้นเมืองในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีชาวต่างชาติอีกหลายกลุ่มที่เข้ามาอาศัยตั้งรกรากอยู่ที่เกาะฟิลิปปินส์ เช่น ชาวมาเลย์ ชาวจีน ชาวสเปน ชาวโปรตุเกส ชาวฮอลันดา และชาวอังกฤษ เป็นต้น
ทั้งนี้ ประชากรส่วนใหญ่ คือร้อยละ 60 ประกอบอาชีพเกษตรกร แต่เนื่องจากภูมิประเทศเป็นหมู่เกาะ พื้นที่เพาะปลูกมีเพียง 15-27% เท่านั้น ดังนั้น ชาวฟิลิปปินส์จึงนิยมทำเกษตรกรรมแบบขั้นบันได ขณะที่ชาวฟิลิปปินส์อีกกลุ่มหนึ่งจะนิยมไปประกอบอาชีพในต่างประเทศ ทำให้ฟิลิปปินส์พึ่งพารายได้จากแรงงานฟิลิปปินส์ในต่างประเทศ เพื่อการพัฒนาประเทศเป็นส่วนใหญ่
วัฒนธรรมและประเพณี
วัฒนธรรมของฟิลิปปินส์นั้นเป็นวัฒนธรรมผสมผสานกันระหว่างตะวันตกและตะวันออก ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับอิทธิพลจากสเปน จีน และอเมริกัน โดยมีเทศกาลสำคัญ ดังนี้
เทศกาลอาติ อาติหาน (Ati - Atihan) จัดขึ้นเพื่อรำลึกและแสดงความเคารพต่อ เอตาส (Aetas) ชนเผ่าแรกที่มาตั้งรกรากอยู่บนเกาะแห่งหนึ่งในฟิลิปปินส์ และรำลึกถึงพระเยซูคริสต์ในวัยเด็ก โดยจะแต่งตัวเลียนแบบชนเผ่าเอตาส แล้วออกมารำรื่นเริงบนท้องถนนในเมืองคาลิบู (Kalibu)
เทศกาลชินูล็อก (Sinulog) งานนี้จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 3 ของเดือนมกราคมในทุกปี เป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงนักบุญซานโต นินอย (Santo Nino) โดยจะจัดแสดงดนตรีและมีขบวนพาเหรดแฟนซีทั่วเมืองเซบู (Cebu)
เทศกาลดินาญัง (Dinagyang) งานนี้จะจัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงนักบุญซานโต นินอย (Santo Nino) เช่นเดียวกับเทศกาลชินูล็อก แต่จะจัดขึ้นในสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนมกราคมที่เมืองอิโลอิโย (Iloilo)
เศรษฐกิจ
หน่วยเงินตรา
เปโซ โดย 1 เปโซ มีค่าราว 2.40 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2556)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
423.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูลเมื่อ พ.ศ. 2555) โดยมี GDP รายหัวอยู่ที่ 4,300 ดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูลเมื่อ พ.ศ. 2555)
สินค้าส่งออกที่สำคัญ
สินค้าส่งออกที่สำคัญของฟิลิปปินส์มีหลายประเภท ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์สารกึ่งตัวนำและอุปกรณ์ไฟฟ้า, อุปกรณ์การขนส่ง, เสื้อผ้าสำเร็จรูป, ผลิตภัณฑ์ทองแดง, ผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม, น้ำมันมะพร้าว และผลไม้ โดยมีมูลค่าการส่งออก 50.96 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูลเมื่อ พ.ศ. 2555) คู่ค้าที่สำคัญคือ ญี่ปุ่น, สหรัฐฯ, ฮ่องกง, สิงคโปร์, จีน และเกาหลีใต้
สินค้านำเข้าที่สำคัญ
ฟิลิปปินส์มีการนำเข้าสินค้าประเภท ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า, แร่เชื้อเพลิง, เครื่องจักรและอุปกรณ์การขนส่ง, เหล็กและเหล็กกล้า, สิ่งทอ, ธัญพืช, เคมีภัณฑ์ และพลาสติก โดยมีประเทศคู่ค้าที่สำคัญคือ สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, สิงคโปร์, จีน, เกาหลีใต้ , ไทย, อินโดนีเซีย และมาเลเซีย
บุคคลสำคัญ-บุคคลมีชื่อเสียงของประเทศ
โฮเซ ไรชัล (Jose Rizal) เป็นนักเขียนและวีรบุรุษคนสำคัญในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชจากสเปน เขาเสียชีวิตจากการตัดสินโทษระหาร ซึ่งส่งผลให้ชาวฟิลิปปินส์ลุกขึ้นสู้จนขับไล่สเปนออกไปได้
รามอน แมกไซไซ (Ramon del Fierro Magsaysay) อดีตประธานาธิบดีคนที่ 3 ของฟิลิปปินส์ ผู้ที่ทุ่มเทให้กับการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราช และอุทิศตนช่วยเหลือผู้ยากไร้ในประเทศเหล่าประชาชนจึงยกย่องให้เขาเป็นวีรบุรุษ และมีการจัดตั้ง "มูลนิธิรางวัลรามอน แมกไซไซ (Ramon Magsaysay Award Foundation) ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์และเป็นเกียรติแก่เขา ซึ่งต่อมาก็มีการมอบรางวัล "แมกไซไซ ให้แก่ผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับสังคม โดยรางวัลนี้ก็เปรียบได้ดั่งรางวัลโนเบลแห่งเอเชีย
คอรีย์ อากีโน (Cory Aquino) ประธานาธิบดีคนที่ 11 ของฟิลิปปินส์ หลังจากเป็นผู้นำประชาชนเดินขบวนประท้วงโค่นล้มอำนาจของอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส และเธอยังเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศฟิลิปปินส์และเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของทวีปเอเชียอีกด้วย
แมนนี่ ปาเกียว (Manny Pacquiao) หรือชื่อเต็มว่า เอ็มมานูเอล ดาปิดราน ปาเกียว (Emmanuel Dapidran Pacquiao) นักมวยสากลและนักการเมืองชาวฟิลิปปินส์ เป็นมวยทรหด หมักหนักทั้งซ้ายและขวา อีกทั้งยังเป็นนักมวยชาวเอเชียรายแรกที่ได้ครองแชมป์โลกถึง 8 รุ่น และมักได้รับการติดต่อให้ไปชกที่สหรัฐอเมริกาบ่อยครั้ง โดยมีค่าตัวไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท
ในปี พ.ศ. 2550 แมนนี่ ปาเกียวได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในระดับเทศบาลของกรุงมะนิลา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ก่อนที่ต่อมาในกลางปี พ.ศ. 2553 ปาเกียวได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดซารังกานี ในการเลือกตั้งทั่วไป และได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนที่ขาดลอยจากคู่แข่งเป็นอย่างมาก
การท่องเที่ยว
ในด้านการท่องเที่ยว ฟิลิปปินส์มีสถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลายทั้งภายในเมือง และสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติในหมู่เกาะต่าง ๆ ดังเช่น เกาะโบราเคย์ (Boracay Island) ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นเกาะที่สวยที่สุดในโลก ที่นักท่องเที่ยวจะได้พบกับชายหาดชั้นเยี่ยมหลายหาด เช่น หาดยาพัค ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องของเปลือกหอยที่ขาวสะอาด หรือจะเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกดินยอดนิยมอย่างหาดไวท์ รวมทั้งหากบาลิงไฮที่ค่อนข้างจะมีความเป็นส่วนตัวสูง เหมาะสำหรับคู่รักฮันนีมูนอย่างที่สุด
นอกจากนี้ยังมี เกาะปาลาวัน (Palawan Island) ซึ่งเป็นเหมือนศูนย์กลางของนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบในธรรมชาติ ดึงดูดผู้คนให้มาเยือนด้วยท้องทะเลกันงดงามและหาดทรายขาวสะอาดอันเป็นเอกลักษณ์ ยิ่งไปกว่านั้น ในเกาะปาลาวันยังเป็นสถานที่ดำน้ำยอดนิยมเพื่อดำชมปะการังและสัตว์ต่าง ๆ ใต้ท้องทะเลอีกด้วย
และสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวภายในเมือง กรุงมะนิลา ก็คือจุดหมายหนึ่งที่จะพลาดไม่ได้ เพราะในเมืองหลวงของฟิลิปปินส์แห่งนี้ มีกลิ่นอายของทั้งความเก่าแก่และความทันสมัยปะปนกันอยู่ โดยสถานที่ยอดนิยมคือบริเวณที่มีกำแพงล้อมที่เรียกว่า อินทรามูรอส (Intramuros) ซึ่งเป็นเมืองหลวงในสมัยที่อยู่ใต้อาณานิคมของสเปน อินทรามูรอสยังคงรักษาคุกใต้ดินและห้องเก็บดินปืนเก่าแก่เอาไว้
ภายในเมืองแห่งนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ ร้านค้า สวนสาธารณะและโบสถ์ต่าง ๆ มากมาย โดยแหล่งช้อปปิงที่มีชื่อเสียงที่สุดของกรุงมะนิลาก็คงหนีไม่พ้น มาคาติ (Makati) ย่านธุรกิจชั้นนำของกรุงมะนิลา ที่มีโรงแรมระดับ 5 ดาวมากมาย รวมไปถึงห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ ถึง 4 แห่ง และร้านค้าปลีกย่อยอีกมากมาย
ส่วนใครที่ชื่นชอบสถานที่ทางประวัติศาสตร์ ขอแนะนำให้เดินทางไปยัง สวนไรซาล (Rizal Park) หรือ ลูเนตา (Luneta) ซึ่งเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์ โฮเซ่ ไรซาล (Jose Rizal) ผู้นำในการปลดแอกฟิลิปปินส์จากสเปนในช่วง พ.ศ. 2439-2441 และในบริเวณเดียวกันก็เป็นจุดที่ฟิลิปปินส์ประกาศอิสรภาพเหนือสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2484 ด้วย
ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ฟิลิปปินส์
ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์กับไทยเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์กันในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม และการศึกษา อีกทั้งฟิลิปปินส์ซึ่งมีทัศนคติและแนวคิดที่คล้ายคลึงกับไทย ยังเป็นแนวร่วมที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะเรื่องของประชาธิปไตยและการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และฟิลิปปินส์ยังเป็นประเทศแรกที่ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตด้วยเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2492 และในอนาคตอันใกล้นี้ ในฐานะสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ฟิลิปปินส์ก็จะกลายเป็นศูนย์กลางของอิเล็กทรอนิกส์ ในกลุ่มประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียน
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
, ewt.prd.go.th , mfa.go.th , thaiembassymnl.ph