x close

วิโรจน์ นวลแข กับ 9 ปี "คดีมหากาพย์ปล่อยกู้กรุงไทย" ก่อนจบที่คุก 18 ปี

วิโรจน์ นวลแข กับ 9 ปี คดีมหากาพย์ปล่อยกู้กรุงไทย

          
วิโรจน์ นวลแข กับ เส้นทาง 9 ปี คดีทุจริตปล่อยสินเชื่อธนาคารกรุงไทยกว่า 9 พันล้าน ให้ "กฤษดามหานคร" ก่อนถูกศาลพิพากษาจำคุก  18 ปี

           จบไปแล้วสำหรับมหากาพย์คดีทุจริตในภาครัฐ ของนายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ตัดสินให้ นายวิโรจน์ ต้องโทษจำคุก 18 ปี ฐานอนุมัติสินเชื่อกว่า 9,000 ล้านบาท ให้กับบริษัทกฤษดามหานคร ที่นำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว (อ่านข่าว : สั่งจำคุก 18 ปี สุชาย-วิโรจน์ คดีทุจริตปล่อยกู้กรุงไทย 9.9 พันล้าน)

วิโรจน์ นวลแข กับ 9 ปี คดีมหากาพย์ปล่อยกู้กรุงไทย

           หากย้อนประวัติศาสตร์ของคดีดังกล่าวพบว่า ใช้เวลาทั้งสิ้นกว่า 9 ปี จนมาจบในยุครัฐบาล คสช. ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะตั้งแต่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ชูนโยบายที่สำคัญต่อรัฐสภาในเรื่องของการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและคอร์รัปชัน

           เส้นทางของนายวิโรจน์ ไม่ธรรมดาในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัทเงินทุนภัทรธนกิจ เขาสามารถนำบริษัทเงินทุนดังกล่าวฝ่าวิกฤตทางการเงินในเอเชีย หรือที่เรียกว่า "วิกฤตต้มยำกุ้ง" ในยุคปี พ.ศ. 2540 ซึ่งจากวิกฤตดังกล่าวบริษัทไฟแนนซ์ที่รอดจากการถูกปิดมีเพียง 3 รายในประเทศ จากผลงานอันโดดเด่นทำให้ในปี พ.ศ. 2544 นายวิโรจน์ ได้ก้าวมาเป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย ที่เป็นธนาคารที่มีทรัพย์สินใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย

           เมื่อนายวิโรจน์ เข้ามาเป็นหัวเรือใหญ่ธนาคารกรุงไทย ตัวเขาเองได้เดินหน้าหวังพลิกโฉมธนาคารกรุงไทย ให้มีความสามารถในการแข่งขันทัดเทียมกับธนาคารพาณิชย์รายอื่น โดยการวางแคมเปญ "อัศวินขี่ม้าขาว" กลยุทธ์ และนโยบายที่หวังให้ฉุดลูกค้าที่เป็นหนี้เอ็นพีแอล หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ฟื้นตัวขึ้นมา พร้อมกับความหวังที่จะกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้นให้กระเตื้องขึ้น อย่างไรก็ตามสำหรับการปล่อยสินเชื่อวงเงินกว่า 8 พันล้านบาทนั้น จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากบอร์ดใหญ่ก่อน

วิโรจน์ นวลแข กับ 9 ปี คดีมหากาพย์ปล่อยกู้กรุงไทย

           ทั้งนี้คดีทุจริตปล่อยสินเชื่อกรุงไทยนั้น ถูกขุดขึ้นมาอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2549  ซึ่งมี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์แก่ธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ บริษัทในเครือกฤษดามหานครกว่า 9 พันล้านบาท โดยหน่วยงานที่เปิดโปงขึ้นมาคือ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. ที่ผุดขึ้นมาในยุครัฐบาลรัฐประหาร คณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ซึ่งเอาไว้ดำเนินคดีทุจริตที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลทักษิณในสมัยนั้น ซึ่งคดีกรุงไทยเป็น 1 ใน 13 คดีที่ คตส. เป็นผู้เริ่มเรื่อง

           อย่างไรก็ตามเมื่อปี 2551 คตส. ได้หมดวาระลง จึงส่งเรื่องต่อให้กับทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการต่อ ทั้งนี้ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2551 ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้วมีมติลงความเห็นให้ชี้มูลความผิด พ.ต.ท. ทักษิณ, นายวิโรจน์ นวลแข พร้อมพวกอีก 27 คน เป็นจำเลย ฐานผิดต่อหน้าที่ราชการโดยการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และฐานความผิดอื่น ๆ อีก 5 ข้อกล่าวหา จึงยื่นเรื่องให้อัยการสูงสุด (อสส.) ฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป

           ขณะที่ อสส. เห็นว่า พยานหลักฐานยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ จึงนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่าง อสส. กับ ป.ป.ช. เพื่อให้กระบวนการหาหลักฐานและพยานชัดเจนขึ้น ซึ่งขั้นตอนนี้ใช้เวลากว่า 4 ปีกว่าจะสามารถรวบรวมหลักฐานได้ชัดเจนขึ้น

วิโรจน์ นวลแข กับ 9 ปี คดีมหากาพย์ปล่อยกู้กรุงไทย

           ต่อมาเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2555 อสส. ก็ได้ยื่นฟ้องคดีดังกล่าวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และศาลฎีกาฯ ได้มีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีในเดือนกันยายนปีเดียวกัน และศาลได้นัดไต่สวนครั้งแรกในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2555 ซึ่ง พ.ต.ท. ทักษิณ ไม่ได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา เนื่องจากอยู่ในระหว่างหนีคดีที่ดินรัชดา และได้เดินทางออกนอกประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ศาลฎีกาฯ จึงได้ออกหมายจับ พ.ต.ท. ทักษิณ ทันที พร้อมกับจำหน่ายคดีของ พ.ต.ท. ทักษิณออกชั่วคราว

           สำหรับคดีของนายวิโรจน์ กับพวกอีก 27 คน ให้เข้าสู่กระบวนการไต่สวนต่อไป โดยกระบวนการไต่สวนฝ่ายโจทก์และจำเลยเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2555-กรกฎาคม พ.ศ. 2558 รวมใช้เวลาเกือบ 3 ปี กระทั่งล่าสุดศาลฎีกาได้นัดฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยรวมแล้วคดีนี้ใช้เวลาในการดำเนินการกว่า 9 ปี ก่อนที่จะพิพากษา

วิโรจน์ นวลแข กับ 9 ปี คดีมหากาพย์ปล่อยกู้กรุงไทย

           ซึ่งคดีดังกล่าวถูกจับตาจากสังคมเป็นอย่างมาก เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มักจะเป็นตัวกำหนดทิศทางทางการเมืองในยุคนั้น ๆ โดยเฉพาะในยุคนี้ ที่ คสช. เร่งดำเนินการในส่วนของคดีทุจริตและคอร์รัปชัน และวางไว้เป็นวาระในการปฏิรูปด้านหนึ่ง อีกทั้งคดีทุจริตลักษณะนี้มักจะเป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของนักการเมืองที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับอำนาจหน้าที่ 


ภาพจาก SpringNews

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
,


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิโรจน์ นวลแข กับ 9 ปี "คดีมหากาพย์ปล่อยกู้กรุงไทย" ก่อนจบที่คุก 18 ปี อัปเดตล่าสุด 28 สิงหาคม 2558 เวลา 13:59:48 32,861 อ่าน
TOP