x close

ปลุกพลังสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ เริ่มต้นให้รุ่ง-จากต้นแบบคนไอที



คุณปรเมศวร์ มินศิริ

          ท่ามกลางกระแสธุรกิจและการค้าขายในยุคดิจิตอล-โซเชียลมีเดีย อย่างปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่านวัตกรรมด้านไอทีและองค์ความรู้ใหม่ ๆ นั้นได้เข้ามามีส่วนช่วยผลักดันให้ธุรกิจเกิดใหม่แต่ไอเดียเขย่าโลก ในนาม "สตาร์ทอัพ" (Startup) ผุดขึ้นทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย 

          ล่าสุด ทางรายการ Lightning Talk ทางช่อง 3 แฟมิลี่ ของพิธีกรคนดัง คุณหนิง สายสวรรค์ ขยันยิ่ง ก็เล็งเห็นความสำคัญในแง่มุมดังกล่าว จึงได้เชิญคุณปรเมศวร์ มินศิริ กรรมการผู้จัดการบริษัท บัณฑิต เซ็นเตอร์ และผู้บริหารเว็บไซต์ชั้นนำ "กระปุกดอทคอม" (kapook.com) ไปนั่งจับเข่าคุยเปิดใจถึงแรงบันดาลใจ กลยุทธ์ เทคนิค เคล็ดลับต่าง ๆ ในการเริ่มต้นบุกธุรกิจยุคโซเชียลให้รุ่งในยุคสตาร์ทอัพ พร้อมกับแนวทางลงทุนให้น้อย แต่ผลลัพธ์ที่กลับมาสุดคุ้มค่า
 
          โดยออกอากาศไปเมื่อวันที่  1 มีนาคม 2559 ในชื่อตอน "ปลุกพลังสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ เริ่มต้นให้รุ่ง จากต้นแบบคนไอที" มีประเด็นน่าสนใจ ให้ข้อคิดดี ๆ ปลุกไฟคนรุ่นใหม่
 
ย้อนที่มาก่อตั้งเว็บระดับประเทศ
 
           คุณสายสวรรค์ พิธีกรคนเก่งประจำรายการ Lightning Talk เริ่มต้นคำถามถึงที่ไปที่มาของการที่ "พี่เอ๋อ-ปรเมศวร์" จัดได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจสตาร์ทอัพเกี่ยวกับการทำเว็บไซต์รายแรก ๆ ของประเทศไทย ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง
         
          ปรเมศวร์ เผยว่า เส้นทางการก้าวเข้าสู่ธุรกิจเว็บไซต์-ไอทีเมื่อสิบกว่าปีก่อนนั้น เริ่มจากการทำเว็บ sanook.com ซึ่งขณะนั้นธุรกิจประเภทนี้คู่แข่งยังมีไม่มาก ประกอบกับเป็นช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศเติบโตมาก นักลงทุนต่างชาติต่างอยากเข้ามาขยับขยายการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เผอิญนักลงทุนได้มาเจอกับตนและเอ่ยปากขอซื้อ จึงขายเว็บ sanook  ไป  หลังจากนั้นก็ไปซื้อกิจการของเว็บไซต์ kapook.com เพื่อนำมาพัฒนาต่อ

คุณปรเมศวร์ มินศิริ

          อย่างไรก็ดี ขณะนั้นธุรกิจเกี่ยวกับเว็บไซต์กำลังเกิดภาวะฟองสบู่ดอทคอม จึงต้องใช้เวลาในการปั้นเว็บอยู่ประมาณ 10 ปีจึงสามารถชักธงนำเว็บไซต์ kapook.com ให้ทะยานขึ้นมาเป็นเว็บไซต์ลำดับต้น ๆ ของประเทศได้

          "ตอนนั้นคิดว่าน่าจะมีอนาคต แต่ต้องใช้เวลา เราพูดกับทีมงานเสมอว่า เราไม่ได้อยากเป็นแชมป์วิ่ง 100 เมตร แต่เราอยากเป็นแชมป์วิ่งมาราธอน แปลว่า เราซื้อมาเราไม่ได้หวังว่า อีก 3 ปี เราจะขึ้นมาใหญ่ ผมมองไปอีก 10 ปีข้างหน้า เหมือนกับนักวิ่งมาราธอน ตอนนี้ kapook.com ก็ขึ้นมาเป็นที่ 1 หรือที่ 2 คู่คี่กันมาตลอด" คุณปรเมศวร์กล่าว และบอกด้วยว่า "ผมศรัทธาในธุรกิจออนไลน์มาโดยตลอด ผมเชื่อว่าสักวันมันจะต้องกลับมา"

ยอดผู้ใช้เน็ตพุ่ง 'เว็บ-แอพฯ-แฟจเพจ' แรงไม่หยุด

          ปรเมศวร์ กล่าวว่า ขณะนี้ตัวเลขผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมีถึง 38 ล้านคนในประเทศไทย การจะประสบความสำเร็จมีความเป็นไปได้มากกว่าสมัยก่อนเยอะ แถมตลาดไอทียังเปิดกว้างอยู่มาก

          เชื่อว่าในอนาคตทุกคนที่ทำธุรกิจจะต้องหันมาให้ความสนใจกับการทำเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น หรือแม้กระทั่งแฟนเพจ (ในเฟซบุ๊ก) เพราะฉะนั้นอยากให้ก้าวเข้ามา ทำให้เหมาะสมกับสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ และเราต้องจับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอให้ได้ เพราะนั่นคือหัวใจสำคัญ

          ทุกวันนี้ "ความเร็ว" ถือเป็นเรื่องใหญ่ เป็นปัจจัยสำคัญ แต่สำหรับ kapook.com แล้วนอกจากความเร็ว เรายังให้ความสำคัญกับการจัดวางรูปในกระทู้ มีการวางเรื่องที่เกี่ยวข้องให้ได้ติดตามต่อ ส่วนการใช้ภาษาเราจะเน้นให้สามารถอ่านและเข้าใจได้ง่าย

คุณปรเมศวร์ มินศิริ

          "ผมให้นโยบายว่า ทุกข่าวที่เราเขียน เด็กมัธยมต้องอ่านรู้เรื่อง เพราะถ้าเด็กมัธยมอ่านรู้เรื่อง ผู้ใหญ่อ่านต้องรู้เรื่องแน่นอน เลยใช้หลักการนี้ คนไหนที่ลึกซึ้งอ่านของเราจนเหมือนเขียนให้เด็กอ่าน ตรงนี้เป็นความตั้งใจของเรา" 

          "ปัจจุบันเว็บไซต์ kapook.com ของเรามีกระบวนการคัดกรองเนื้อหาที่ละเอียดเข้มข้นถึง 99.99 เปอร์เซ็นต์ เรื่องไหนที่ไม่ควรจะลอกเลียนแบบจะมีการกากบาทสีแดงไปที่รูปภาพ และพยายามอธิบายท้ายเนื้อหาว่า จริง ๆ แล้วการกระทำดังกล่าวโทษของมันคืออะไร" ปรเมศวร์ ระบุ

ตีให้แตก-ยาแก้ปวดหรือวิตามิน

          ปรเมศวร์ ยังพูดคุยอธิบายถึงแนวคิด "เริ่มธุรกิจให้รุ่งยุคโซเชียล สินค้าคือยาแก้ปวด หรือวิตามิน ?" ว่า ความจริงแล้วแนวคิดนี้เป็นของฝรั่ง แต่ตนเองหยิบเอาแนวคิดนี้มาเขียนต่อ 

          พร้อมกับเปรียบเทียบเป็นสินค้า 2 อย่าง หนึ่งคือ ยาแก้ปวด อีกอย่างหนึ่งคือวิตามิน แต่ของหนึ่งอย่างไม่ได้หมายความว่า จะเป็นยาแก้ปวดหรือวิตามินสำหรับทุกคน เวลาคิดไอเดียใหม่ ๆ เพื่อทำธุรกิจเราต้องรู้ให้ได้ว่าสินค้าของเราจะเป็นยาแก้ปวด หรือวิตามินให้ลูกค้าได้อย่างไร 

          "แนวคิดนี้ เอาไปใช้กับอะไรก็ได้ เช่น ถ้าเราจะสร้างเว็บไซต์ หรือแอพพลิเคชั่นบริการอะไรขึ้นมา ลองถามตัวเราเองดูว่า ใครที่ปวดตรงนี้อยู่ จะได้ไปบอกเขาว่า เรามีตรงนี้อยู่ เขาจะได้รู้สึกว่าจะได้รีบมาใช้บริการของเรา" ปรเมศวร์ กล่าว

เคล็ดลับทำสินค้า-บริการให้เป็นที่นิยม

          ผู้บุกเบิกธุรกิจเว็บไซต์อันดับต้น ๆ ของเมืองไทย ระบุว่า ยุคที่มีการใช้เพจเจอร์ตนเผอิญกลายเป็นยาแก้ปวด ทุกอย่างตอนนั้นเป็นเหมือนวิตามินหมดเลย

          แต่มีอยู่อันนึงที่เป็นเหมือน "Pain"  คือการส่งข้อความผ่านเพจเจอร์ ที่ต้องโทรหาโอเปอเรเตอร์ และจะยุ่งยากมากกับการใช้โทรศัพท์

          เมื่อวัยรุ่นเริ่มใช้มากขึ้น ก็จะส่งกลอนหากัน คนส่งเริ่มเหนื่อยกับการพูด คนรับก็ต้องมานั่งคีย์ข้อมูล ที่สำคัญคือส่งไปบ่อยครั้งก็เริ่มหมดมุก เราก็เลยเปิดพื้นที่พื้นที่หนึ่งขึ้นมาเพื่อให้คนเข้ามาค้นคำกลอน และบริการส่งไปในทีเดียวกัน จากนั้นจึงมีผู้เข้ามาใช้งานถล่มทลาย เพราะเขามองว่า พื้นที่ตรงนั้นเป็นบริการที่ช่วยแก้ปวดให้กับเขา ด้วยเหตุผลที่ว่า 1. ไม่รู้จะส่งอะไรก็เข้ามาหาดูได้ 2. ไม่ต้องคีย์หรือพิมพ์อะไร แค่ก๊อบปี้วางแล้วส่งได้เลย

           "หลังจากนั้นเราจึงเริ่มจับทางยาแก้ปวดได้ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องง่าย ๆ ก็ได้ ที่สามารถแก้อาการปวดได้ตรงจุด ซึ่งผมอยากให้จับหลักการนี้ เพราะจะทำให้เกิดความนิยมในตัวสินค้าขึ้นมา"

ตัวอย่างจากเฟซบุ๊ก

         หากถามว่า Startup ยุคนี้ คนที่ประสบความสำเร็จจะเป็นยาแก้ปวดหรือวิตามิน ปรเมศวร์มองว่า ทั้งคู่ดีทั้งหมด เพียงแต่ว่าผู้บริโภคนิยมซื้อยาแก้ปวดมาใช้ก่อนวิตามินเสมอ

          ยกตัวอย่าง "เฟซบุ๊ก" เป็นบริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดียที่คนนิยมที่สุด เพราะแก้ความปวดได้หลายเรื่อง เช่น ความเบื่อ แต่ในที่นี้ไม่ได้บอกว่าวิตามินไม่ดี เนื่องจากมันก็สามารถส่งผลดีในระยาว หลายคนก็ไปซื้อ

          ฉะนั้นใน 1 การบริการ เราอาจจะมองว่าเป็นยาแก้ปวดสำหรับคนกลุ่มหนึ่ง แต่ในทางเดียวกันก็เป็นวิตามินเสริมให้กับคนอีกกลุ่มหนึ่งได้ด้วย

คุณปรเมศวร์ มินศิริ

กรองไอเดียเด็ด-ทำให้เข้าใจง่าย

          ปรเมศวร์ กล่าวถึงช่องทางของ Startup ว่า ตอนนี้นโยบายต่าง ๆ ของทั้งรัฐบาล และเอกชนค่อนข้างเอื้อกลุ่มธุรกิจ Tech Startup (ธุรกิจสตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี) ให้ตั้งเนื้อตั้งตัวได้ 

          นอกจากนั้น ยังมีเงินจากกองทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่รัฐบาลมีแผนสนับสนุน Startup ในไทยอย่างเต็มที่ ให้มีโอกาสได้แจ้งเกิด

          คำถามก็คือ แต่จะทำอย่างไรให้ธุรกิจของเราโดดเด่นจนคว้าเงินจากกองทุนมาได้ ซึ่งจริง ๆ แล้ว ปัญหาของคนส่วนใหญ่มีอยู่ 2 ปัญหา คือ

         1. ไม่รู้ทำอะไร
         2. ไอเดียในหัวเยอะไปหมด

          สำหรับกลุ่มคนที่ไม่รู้จะทำอะไร แนวคิดยาแก้ปวดกับวิตามิน สามารถพลิกมุมมองทำให้เห็นว่ายังมีคนปวดอยู่อีกเยอะ แล้วเราก็จะเสนอวิธีการแก้ปวดเหล่านั้นออกไป

         ส่วนคนที่มีไอเดียเยอะ กลุ่มนี้ต้องมีวิธีกรองไอเดียตัวเอง จนเหลือไอเดียที่ใช่จริง ๆ นอกจากนี้เมื่อต้องเสนอต่อนายทุนก็ควรจะเรียบเรียงออกมาให้ "เข้าใจง่าย" ด้วย

         "kapook.com นั้นเราพยายามให้ใช้งานง่ายมาก สังเกตได้เลยว่า อะไรที่ใช้งานได้ง่าย เราจะชอบ ดังนั้นเราต้องทำทุกอย่างให้ผู้ใช้ชอบของเราเพราะเข้าใจง่าย นักลงทุนเข้าใจง่าย เราอธิบายให้เขาเข้าใจง่ายเพราะรายละเอียดไปดูตอนหลังได้ ฟังปุ๊บต้องเข้าใจได้ทันที"

เปิดเพจ-สัมมนา แชร์ความรู้สตาร์ทอัพรุ่นใหม่

           ปรเมศวร์ ให้สัมภาษณ์กับคุณสายสวรรค์ ว่า ความจริงแล้ว Startup เกิดมาค่อนข้างเยอะ ในส่วนตัวนั้นก็เคยไปเรียนมาแล้วบ้าง ปรากฏว่าไปเจอศัพท์เทคนิคค่อนข้างเยอะ ทำให้บางคนไม่เข้าใจ เป็นที่มาทำให้อยากถ่ายทอด และแบ่งปันความรู้เพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพใหม่ ๆ ได้เรียนรู้

          ล่าสุด ตั้งเพจเฟซบุ๊กขึ้นมา ชื่อว่า Startup class เริ่มต้นให้รุ่ง ซึ่งจะมีเนื้อหาที่ตนเรียบเรียงเองทั้งหมด เปิดอ่านได้ฟรี ๆ

         แต่หากใครอยากได้ความรู้ในเชิงสัมมนา เรามีจัดสัมมนาด้วยในวันที่ 10 มีนาคม นี้ที่โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด ถ.รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ ในหัวข้อ "กลยุทธ์บุกธุรกิจยุคโซเชียล : Social Media Strategy for Business Startup" แต่อันนี้จะมีค่าใช้จ่าย คอร์สนี้ใช้เวลาเพียง 1 วัน โดยไม่ได้เรียนรู้เพียงทฤษฎีแต่เพียงอย่างเดียว เน้นมุมปฏิบัติด้วย มั่นใจว่าความรู้ที่ได้จากการสัมมนาจะสามารถกลับไปเริ่มต้นได้เลยในทันที

คุณปรเมศวร์ มินศิริ

         "สุดท้าย ผมอยากฝากข้อคิดดี ๆ ว่า ไอเดียดี ๆ อยู่เฉยแล้วจะปิ๊งขึ้นมาไม่ได้ ไอเดียดี ๆ เกิดจากการลงมือทำอะไรสักอย่างไปก่อน เรียนรู้กับมันว่าไม่สำเร็จ แล้วคอยปรับแก้ไปเรื่อย ๆ แล้วจะมีตัวหนึ่งออกมาแล้วโดนใจ เริ่มกล้าทำอะไรเล็ก ๆ อย่าเพิ่งไปทำอะไรใหญ่ ๆ เรียนรู้จากมันไปก่อน แล้วจะมีจุดหนึ่งที่ออกมาว่าใช่ คราวนี้ก็เดินหน้าเต็มที่ไปเลย"

         สำหรับงานสัมมนา "กลยุทธ์บุกธุรกิจยุคโซเชียล : Social Media Strategy for Business Startup" จัดขึ้นโดยบริษัท บัณฑิต เซ็นเตอร์ จำกัด วันที่ 10 มีนาคม 2559 เวลา 09.00-17.00 น. ณ โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด ถ.รัชดาภิเษก ติดต่อสำรองที่นั่งผ่าน Call center โทร. 02-556-178902 รวมถึงช่องทางอีเมล seminar@bunditcenter.com หรือจะเข้าไปดูข้อมูลพร้อมลงทะเบียนร่วมงานกันได้เลยที่เว็บไซต์ seminar.bunditcenter.com ที่นั่งมีจำนวนจำกัด

       สิ่งที่ทางผู้จัดมุ่งมั่นจะมอบให้กับผู้ร่วมงาน กลั่นออกมาสรุปได้แบบสั้นกระชับ อาทิ การสอนวิธีทำแผนนำเสนอแหล่งทุนง่าย ๆ สำหรับสตาร์ทอัพ, เคล็ดลับขายดี เพิ่มยอดไลค์คนเข้าเว็บ, จุดประกายไอเดียทำธุรกิจ, จับกระบวนความคิด ลดความเสี่ยงแบบเถ้าแก่รุ่นใหม่ และวิธีใช้โซเชียล เสียเงินน้อย แต่ได้ผลมาก

        "คนเราเรียนรู้ได้จากอะไรทุกอย่าง อย่าเรียนรู้จากความสำเร็จของผมเพียงอย่างเดียว ให้เรียนรู้จากความล้มเหลวด้วย คนรุ่นใหม่ยังไงก็ไฟแรงกว่าคนรุ่นผม คลื่นลูกใหม่ต้องมาแรงกว่าคลื่นลูกเก่า หน้าที่ของคลื่นลูกเก่าคือต้องถ่ายทอดให้เต็มที่ว่าอันนี้ที่เราทำแบบนี้ใช่ อันนี้มันไม่ใช่ เรามาผิดทางเราบอก แต่ว่าเขาจะตัดสินใจไปทางไหน เขาไม่จำเป็นจะต้องไปตามทางที่เราบอก คือเอาไปต่อและไปให้ไกลกว่าเรา" ปรเมศวร์ กล่าวทิ้งท้าย

กฤต ขุนพิทักษ์ / รายงาน



ภาพจาก  รายการ Lightning Talk ทางช่อง 3 แฟมิลี่

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปลุกพลังสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ เริ่มต้นให้รุ่ง-จากต้นแบบคนไอที อัปเดตล่าสุด 14 ธันวาคม 2563 เวลา 14:19:11 5,763 อ่าน
TOP