x close

ศาลอังกฤษ สั่งยึดทรัพย์ ผู้ผลิต GT200 กว่า 395 ล้าน เพื่อจ่ายเงินเยียวยาเหยื่อ



จีที 200
ภาพจาก AFP

           ศาลอังกฤษสั่งยึดทรัพย์ เจมส์ แมคคอร์มิค นักธุรกิจผู้ผลิต GT200 เป็นมูลค่าร่วม 395 ล้าน นำไปชดเชยให้ประเทศทั่วโลกที่ตกเป็นเหยื่อโดนต้มซื้อเครื่องตรวจจับระเบิดเก๊


          สำนักข่าวบีบีซี มีรายงานในวันที่ 15 มิถุนายน 2559 ว่า นายเจมส์ แมคคอร์มิค นักธุรกิจชาวอังกฤษ ผู้เคยทำเงินได้มหาศาลจากการขายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดให้กับอิรักและอีกหลายประเทศทั่วโลก ได้รับคำพิพากษาจากศาลโอลด์ เบลีย์ ในอังกฤษ ให้ถูกยึดทรัพย์ ทั้งเงิน อสังหาริมทรัพย์ที่ครอบครอง ตลอดจนเรือยอทช์หรู รวมแล้วเป็นมูลค่า 7.9 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 395 ล้านบาท โดยจะนำเงินดังกล่าวไปจ่ายชดเชยค่าเสียหายให้กับนานาประเทศที่ตกเป็นเหยื่อซื้ออุปกรณ์ตรวจระเบิดเก๊ไปจากเขา โดยเฉพาะลูกค้ารายใหญ่อย่างอิรัก จะได้รับเงินชดเชย 2.3 ล้านปอนด์ (ประมาณ 113 ล้านบาท) นอกจากนี้ก็มีรายชื่อของประเทศบาห์เรน เลบานอน ไนเจอร์ จอร์เจีย รวมอยู่แล้ว
           ก่อนหน้านี้ นายแมคคอร์มิค ก็ได้รับคำพิพากษาจำคุก 10 ปี ไปแล้วเมื่อปี 2556 โดยผู้พิพากษาเห็นว่า สิ่งที่เขากระทำส่งมีผลอย่างชัดเจนต่อสวัสดิภาพของชีวิตผู้อื่น ก่อให้เกิดอันตรายและการสูญเสียชีวิตอย่างปฏิเสธไม่ได้ ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวถูกนำไปใช้และเป็นที่ไว้วางใจทั้งในกลุ่มทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่อารักขาแนวชายแดน ตลอดจนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตามโรงแรม

จีที 200
เจมส์ แมคคอร์มิค
ภาพจาก JUSTIN TALLIS / AFP

            
สำหรับอุปกรณ์ตรวจจับระเบิดที่นายแมคคอร์มิคทำขึ้น มาจากการนำเครื่องตรวจหาลูกกอล์ฟ (golf ball detectors) สิ่งประดิษฐ์แปลกใหม่ที่มีขายในสหรัฐฯ ราคาเพียงชิ้นละ 20 ดอลลาห์สหรัฐฯ (ประมาณ 700 บาท) แล้วเอามาขายต่อเป็นเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด ในราคาถึงชิ้นละ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 175,000 บาท) โดยยังแบ่งออกเป็นรุ่นที่แตกต่างกัน ทั้ง ADE651, GT200 และ Alpha 6

           เป็นที่คาดการณ์กันว่า นายแมคคอร์มิค ทำเงินได้กว่า 50 ล้านปอนด์ (ประมาณ 2,475 ล้านบาท) จากการขายอุปกรณ์ตรวจระเบิดปลอม โดยมีข้อมูลรายรับหนึ่งที่ถูกนำแสดงต่อศาล ในเวลาเพียง 3 ปี นายแมคคอร์มิคทำเงินได้ถึง 38 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1,881 ล้านบาท) จากการขายอุปกรณ์ดังกล่าวให้กับอิรักเพียงประเทศเดียวเท่านั้น

           ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับกรณีเครื่องตรวจวัตถุระเบิด รุ่น GT200 ในไทยนั้น ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เคยออกมาระบุว่า การไต่สวนคดีนี้ค่อนข้างลำบากเนื่องจากเป็นเรื่องลึกลับ แน่นอนว่าประสิทธิภาพของ GT200 ไม่ได้คุณภาพ แต่การจะวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ทุจริตหรือไม่ยังต้องการอะไรมากกว่าเรื่องของประสิทธิภาพ ส่วนการแสวงหาพยานหลักฐานก็มีข้อขัดข้องทางเทคนิค โดยเฉพาะการขอความร่วมมือไปยังบริษัทที่จำหน่ายในประเทศอังกฤษก็ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลต่อ ป.ป.ช.

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
เฟซบุ๊ก BBCThai

หมายเหตุ : อัพเดทข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลา 13.45 น. วันที่ 17 มิถุนายน 2559

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ศาลอังกฤษ สั่งยึดทรัพย์ ผู้ผลิต GT200 กว่า 395 ล้าน เพื่อจ่ายเงินเยียวยาเหยื่อ อัปเดตล่าสุด 17 มิถุนายน 2559 เวลา 16:25:49 27,500 อ่าน
TOP