x close

ของขวัญจากพ่อ 81 พรรษามหาราชาของคนไทย

วันพ่อ

วันพ่อ

วันพ่อ

          ปี 2551 นี้ถือเป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 81 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม เป็น 81 พรรษาที่พระมหาราชาอันเป็นที่รักของทวยราษฎร์ทรงครองราชย์มาแล้ว 63 ปี โดยไม่มีวันไหนเลยที่ไม่ทรงงานเพื่อราษฎร

          ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เคยกล่าวไว้ว่า ...หากเปรียบกษัตริย์เป็นพีระมิดชั้นสูงสุด พระองค์ก็ทรงเป็นพีระมิดหัวคว่ำ อยู่ข้างล่างทรงพระราชกรณียกิจหนักเพื่อราษฎร ต่างกับชั้นกษัตริย์อื่นที่เป็นพีระมิดหัวตั้ง รางวัลระดับสากลมากมายที่พระองค์ทรงได้รับทูลเกล้าฯถวายนั้น แสดงให้เห็นแล้วว่า เป็นความยิ่งใหญ่ในเรื่องของพระอัจฉริยะ จนชาวโลกรับรู้และยอมรับ ดังที่พระองค์เคยตรัสในวันขึ้นครองราชย์ว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม" คุณธรรม จริยธรรม ทศพิธราชธรรม และความยุติธรรม

          "พระองค์ทรงสร้างคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวงให้กับแผ่นดินไม่ใช่สำหรับวันนี้ แต่ถึงลูกหลานด้วยเจตนารมณ์ที่พระองค์ทรงตั้งพระทัยอย่างแรงกล้า"

          ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 81 พรรษา DLife ขอหยิบโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมานำเสนอ 9 สิ่ง ด้วยระลึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ เป็น 9 ของขวัญจากพ่อหลวง ผู้ทรงงานหนักเพื่อราษฎรของพระองค์มาตลอด แม้ในยามที่พระพลานามัยของพระองค์ท่านทรงเริ่มเหนื่อยล้าตามพระชนมายุที่มากขึ้น

          อายุ 81 ปี หากเป็นประชาชนคนธรรมดาคงเลือกเก็บเกี่ยวชีวิตในบั้นปลายอย่างมีความสุข แต่เมื่อทรงเป็นพระมหากษัตริย์ แม้จะมีพระชนมายุ 81 พรรษา พระองค์กลับยังคงทรงงานหนักเพื่อราษฎร โดยไม่เคยมีสักวันที่พระองค์จะละทิ้งภาระสำคัญในการครองแผ่นดินโดยธรรมดังที่พระองค์เคยตรัส

          แล้วประชาชนคนไทยอย่างเราๆ ล่ะ เคยคิดที่จะมอบของขวัญอะไรให้กับพระมหาราชาผู้ทรงงานหนักพระองค์นี้บ้าง !

บทเพลงพระราชนิพนธ์

          "ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของข้าพเจ้า จะเป็นแจ๊ซหรือไม่เป็นแจ๊ซก็ตาม ดนตรีล้วนอยู่ในตัวคนทุกคน เป็นส่วนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคนเรา สำหรับข้าพเจ้า... ดนตรีคือสิ่งประณีตงดงาม และทุกคนควรนิยมในคุณค่าของดนตรีทุกประเภท เพราะว่าดนตรีทุกประเภทต่างก็มีความเหมาะสมตามแต่โอกาสและอารมณ์ที่แตกต่างกัน..."

          พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระราชทานสัมภาษณ์ออกอากาศในรายการวิทยุเสียงอเมริกาเกี่ยวกับเรื่องดนตรี เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2503

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงตั้งแต่ยังทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช มีด้วยกันทั้งสิ้น 48 เพลง เพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง และคำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง มี 5 เพลง คือ Echo, Still on My Mind, Old-Fashioned Melody, No Moon และ Dream Island อีกทั้งยังโปรดเกล้าฯให้หลายท่านมาร่วมแต่งคำร้องประกอบเพลง

          พระราชนิพนธ์ ในยุคแรกหลังจากที่เพลงพระราชนิพนธ์มีทำนองและคำร้องสมบูรณ์แล้วจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ครูเอื้อ สุนทรสนาน นำไปบรรเลงในวงดนตรีกรมโฆษณาการ หรือวง สุนทราภรณ์ เพื่อให้แพร่หลายไปในหมู่ประชาชน

          เพลงพระราชนิพนธ์ที่พระราชทานไม่ได้มีเพียงเพื่อความบันเทิงเท่านั้น ความหมายของเพลงยังมีจุดหมายที่จะส่งเสริมและให้กำลังใจผู้ฟังอีกด้วย เช่น เพลง "ยิ้มสู้" ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงประพันธ์คำร้องภาษาไทย เพื่อเป็นการปลอบขวัญและให้กำลังใจแก่คนตาบอด แล้วพระราชทานให้นำไปบรรเลงในงานสมาคมช่วยคนตาบอด ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อ พ.ศ.2495

          เพลงสุดท้ายที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ออกมาคือเพลง "เมนูไข่" เป็นเพลงแนวสนุกสนาน มีเนื้อร้องโดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พระราชทานเป็นของขวัญวันพระราชสมภพครบ 72 พรรษาแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อ พ.ศ.2538

          ล่าสุดมีการอัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์มาเรียบเรียงให้ถูกต้องตามแบบฉบับดั้งเดิม และขับร้องโดยศิลปินรุ่นใหม่ร่วมสมัย ในชื่อโครงการ H.M. Blue ร้องบรรเลงเพลงของพ่อ

เรือใบมด-ซูเปอร์มด-ไมโครมด

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดกีฬาเรือใบเป็นพิเศษ แต่ในการทรงกีฬาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงโปรดซื้ออุปกรณ์ที่แพง ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงโปรดต่อเรือใบด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง และทรงประดิษฐ์อย่างถูกต้องตามหลักสากล โดยศึกษาแบบแปลนและข้อบังคับของเรือแต่ละประเภท จากตำราต่างๆ ทั่วโลกจนรู้จริงอย่างถี่ถ้วน และทรงประดิษฐ์ด้วยความละเอียดอ่อนถี่ถ้วน
 
          เรือใบฝีพระหัตถ์ลำแรกที่ทรงต่อด้วยพระองค์เอง เป็นเรือใบพระที่นั่งเอ็นเตอร์ไพรส์ โดยพระราชทานชื่อเรือว่า "ราชปะแตน" และต่อมาทรงต่อเรือใบประเภทโอเคขึ้นอีก พระราชทานชื่อว่า "นวฤกษ์" ซึ่งเรือนวฤกษ์นั้นทรงนำมาใช้ในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 นอกจากนี้พระองค์ยังทรงคิดค้น ออกแบบ และสร้างเรือใบขึ้นมาด้วยพระองค์เอง โดยพระราชทานชื่อว่า "เรือมด" เนื่องจากทรงมีรับสั่งว่า "ที่ชื่อมดนั้นเพราะมันกัดเจ็บๆ คันๆ ดี" ต่อมาทรงพัฒนาเรือแบบมดขึ้นมาใหม่ โดยพระราชทานชื่อว่าเรือใบ "ซูเปอร์มด" ซึ่งทรงออกแบบและต่อขึ้นด้วยพระองค์เอง โดยทรงต่อตามแบบสากลจากเรือใบประเภทม็อธ (International Moth Class) และจดลิขสิทธิ์เป็นสากล ในประเทศอังกฤษ

          เรือใบซูเปอร์มด เป็นเรือใบขนาดเล็ก มีตัวเรือยาว 11 ฟุต กว้าง 4 ฟุต 11 นิ้ว ท้องแบน น้ำหนักประมาณ 34 กิโลกรัม คุณสมบัติการทรงตัวดี มีความเร็วมากขึ้น ตัวเรือคงทนแข็งแรง สู้คลื่นลมได้ดี และมีความปลอดภัยสูง เรือใบซูเปอร์มดถูกใช้ในการแข่งขันกีฬานานาชาติเป็นครั้งแรกในกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 ณ ประเทศไทย เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2510 และถูกใช้ในการแข่งขันกีฬานานาชาติทุกๆ ครั้งที่แข่งในประเทศไทย นอกจากนั้นในการแข่งขันหัวหินรีกัตต้า ก็จะมีการนำเอาเรือใบซูเปอร์มดมาลงแข่งขัน อีกทั้งเมื่อซีเกมส์ 2007 เรือใบซูเปอร์มดก็ได้ไปร่วมแข่งขันรายการแข่งเรือใบอีกด้วย

ฝนหลวง

          ปัญหาภัยแล้งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนไทยมาตลอด จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเยี่ยมราษฎรในจังหวัดต่างๆ ได้ทรงพบเห็นท้องถิ่นหลายแห่งประสบปัญหาความแห้งแล้ง หรือขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการทำเกษตร เนื่องจากฝนได้ทิ้งช่วงนานหรือภาวะฝนทิ้งช่วง ภาวะฝนแล้งในแต่ละครั้งสร้างความเดือดร้อน และความสูญเสียทางเศรษฐกิจแก่เกษตรกรเป็นอย่างมาก

          ดังนั้นในปี 2498 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้มีพระราชดำริค้นหาวิธีการที่จะทำให้เกิดฝนตกนอกจากได้รับจากธรรมชาติ โดยนำเทคโนโลยีนำสมัยและทรัพยากรที่มีอยู่ประยุกต์กับศักยภาพของการเกิดฝนในเขตร้อน และต่อมาในปี 2499 ทรงพระมหากรุณาพระราชทานโครงการพระราชดำริ "ฝนหลวง" ให้ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล รับไปดำเนินการศึกษา วิจัย และพัฒนากรรมวิธีการทำฝนให้เกิดผลโดยเร็ว

การทำฝนหลวงว่ามี 3 ขั้นตอน คือ

          ขั้นตอนที่ 1 ก่อกวน เป็นการกระตุ้นให้เมฆรวมตัวเป็นกลุ่มแกน เพื่อใช้เป็นแกนกลางในการสร้างกลุ่มเมฆฝน สารเคมีที่ใช้ ได้แก่ แคลเซียมคลอไรด์ แคลเซียมคาร์ไบด์ แคลเซียมออกไซด์ หรือสารผสมระหว่างเกลือแกงกับสารยูเรีย หรือสารผสมระหว่างสารยูเรียกับแอมโมเนียมไนเตรต ซึ่งจะก่อให้เกิดกระบวนการกลั่นตัวของไอน้ำในอากาศ

          ขั้นตอนที่ 2 เลี้ยงให้อ้วน ใช้เกลือแกง สารประกอบสูตร ท.1 ยูเรีย แอมโมเนียไนเตรต น้ำแข็งแห้ง และอาจใช้แคลเซียมคลอไรด์ร่วมด้วยเพื่อเป็นการเพิ่มแกนเม็ดไอน้ำ ให้กลุ่มเมฆฝนมีความหนาแน่นมากขึ้น

          ขั้นตอนที่ 3 โจมตี ใช้ซิลเวอร์ไอโอได น้ำแข็งแห้ง เพื่อทำให้เกิดภาวะความไม่สมดุลมากที่สุดจะเกิดเป็นเม็ดน้ำขนาดใหญ่มากและตกกลายเป็นฝนในที่สุด

โดยทุกขั้นตอนจะต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ในการตัดสินใจที่จะเลือกใช้สารเคมีในปริมาณที่พอเหมาะ ทั้งนี้จะต้องคำนึงถึงสภาพอากาศสภาพภูมิประเทศทิศทางและความเร็วของลม ตลอดจนกำหนดบริเวณหรือแนวพิกัดที่จะโปรยสารเคมีด้วย

กังหันชัยพัฒนา...ปั่นน้ำเสียเป็นน้ำดี

           ปี 2532 กำเนิดสิ่งประดิษฐ์จากพระปรีชาสามารถ เพื่อการแก้มลพิษทางน้ำ ภายใต้ชื่อ "กังหันชัยพัฒนา"

          กังหันชัยพัฒนา คือ เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย ซึ่งประกอบด้วยซองวิดน้ำ 6 ซอง แต่ละซองจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ห้องเท่าๆ กัน ทั้งหมดถูกติดตั้งบนโครงเหล็ก 12 โครงใน 2 ด้าน มีศูนย์กลางของกังหันที่เรียกว่า "เพลากังหัน" ซึ่งวางตัวอยู่บนตุ๊กตารองรับเพลาที่ติดตั้งอยู่บนทุ่นลอย และมีระบบขับส่งกำลังด้วยเฟืองจานขนาดใหญ่อยู่บนโครงเหล็กที่ยึดทุ่นทั้ง 2 ด้านเข้าไว้ด้วยกัน ด้านล่างของกังหันในส่วนที่จมน้ำจะมีแผ่นไฮโดรฟอยล์ยึดปลายของทุ่นลอยด้านล่าง ทำงานด้วยการหมุนปั่นเพื่อเติมอากาศให้น้ำเสียกลายเป็นน้ำดี สามารถประยุกต์ใช้บำบัดน้ำเสียจากการอุปโภคของประชาชน น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งเพิ่มออกซิเจนให้กับบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทางการเกษตร

          กังหันน้ำชัยพัฒนา ได้รับสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2536 เป็นสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทย และครั้งแรกของโลก ด้วยเหตุนี้จึงถือว่า วันที่ 2 ก.พ.ของทุกปีเป็น "วันนักประดิษฐ์" นับแต่นั้นเป็นต้นมา

แก้มลิง...คลายทุกข์น้ำท่วม

          ของขวัญอันยิ่งใหญ่ที่ช่วยคลายทุกข์น้ำท่วมของชาวกรุง คือ "โครงการแก้มลิง"

          โครงการแก้มลิงกำเนิดจากพระราชดำรัส 4 ธันวาคมตั้งแต่เมื่อ 13 ปีที่แล้ว เป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยการขุดลอกคลองชายฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นคลองพักน้ำขนาดใหญ่ ก่อนระบายน้ำออกสู่ทะเลโดยใช้หลักทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลกหรือน้ำขึ้นน้ำลงตามธรรมชาติ ปัจจุบัน ขยายการดำเนินงานไปที่โครงการบรรเทาอุทกภัยตามพระราชดำริ (แก้มลิงหนองใหญ่) จังหวัดชุมพร และโครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

          นอกจากปัญหาน้ำเยอะ (เกินไป) พระองค์ท่านยังพระราชทานแนวทางการแก้ปัญหาน้ำน้อย (เกินไป) อาทิ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนคลองท่าด่าน เขื่อนขุนด่านปราการชล ตลอดจนโครงการอ่างเก็บน้ำและฝายที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ

สะพานพระราม 8 ...คลายความคับคั่ง

          ชื่อสะพานพระราม 8 เพื่อระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ก็จริง แต่ทว่าดำริสร้างขึ้นในรัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2538 นี่เอง

          โครงการสะพานพระราม 8 เป็นหนึ่งในโครงการจตุรทิศ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้กรุงเทพมหานครพิจารณาก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง บริเวณโรงงานสุราบางยี่ขัน บรรจบกับปลายถนนวิสุทธิกษัตริย์ ใกล้ธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยทรงตระหนักถึงความคับคั่งของการจราจรบนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าที่จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นในอนาคต อีกทั้งเป็นการแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ ระหว่างพื้นที่ฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีที่ยังขาดการเชื่อมต่อที่เพียงพอทำให้เกิดการคับคั่งของการจราจรบริเวณพื้นที่ด้านตะวันออกโดยเฉพาะกรุงเทพฯชั้นใน บริเวณถนนราชดำเนินกลาง ซึ่งต่อกับฝั่งธนบุรี โดยผ่านสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าและถนนจรัญสนิทวงศ์ ซึ่งเป็นถนนสายหลักเส้นหนึ่งของฝั่งธนบุรีที่มีปริมาณการจราจรคับคั่งให้สามารถคลี่คลายลงได้

          นอกจากแก้ปัญหาจราจรแล้ว ทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ตั้งแต่เวลาเย็นย่ำไปจนถึง 4 ทุ่ม เราจึงได้เห็นสะพานแขวนกลางกรุงเปิดไฟเรืองรองเป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นอีกแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยบริเวณใต้สะพานมีสวนสาธารณะให้นั่งพักผ่อน และเป็นลานกิจกรรมสำหรับเด็กๆ ทั้งขี่จักรยาน ซ้อมเต้น

เล่นบอล ฯลฯ

          มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม โรงเรียนวังไกลกังวล

          มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2538 นายขวัญแก้ว วัชโรทัย ในฐานะรองเลขาธิการพระราชวัง และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เสนอให้กรมสามัญศึกษาจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ด้วยระบบทางไกลผ่านดาวเทียม ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อช่วยเหลือนักเรียนตามถิ่นทุรกันดาร และโรงเรียนที่มีครูไม่ครบทุกกระบวนวิชา อีกทั้งเพื่อเฉลิมพระเกียรติในปีฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี

          สถานีวิทยุโทรทัศน์ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลฯได้ถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียมในเรื่องการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ตามเวลาเรียนปกติของกรมสามัญศึกษา และในเวลาบ่ายและค่ำ ได้มีการสอนวิชาชีพระดับวิทยาลัยการอาชีพ เช่น วิชาการท่องเที่ยว วิชาการโรงแรม ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น จีน) กฎหมาย และคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

          ปัจจุบัน มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ได้ออกอากาศทั่วประเทศในส่วนของโรงเรียนสังกัดกรมสามัญศึกษากว่า 2,500 โรงเรียน

เศรษฐกิจพอเพียง

          เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทย โดยความเป็นมาเริ่มตั้งแต่พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2517 และพูดถึงอย่างชัดเจนในวันที่ 4 ธ.ค.2540 (ภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ.2540) เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขเศรษฐกิจของประเทศไทย

โดยความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย 3 คุณลักษณะพร้อมๆ กัน ดังนี้

          1. ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกิดไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ

          2. ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้นจะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ

          3. การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล

          ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ได้รับการเชิดชูสูงสุดจากองค์การสหประชาชาติ ว่าเป็นปรัชญาที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทยและนานาประเทศ และสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกยึดเป็นแนวทางสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน

          ต่อมาเศรษฐกิจพอเพียงจึงถูกบรรจุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549) และในปัจจุบัน เศรษฐกิจพอเพียงได้กลายเป็นหนึ่งในนโยบายหลักในการพัฒนาประเทศ

ทฤษฎีใหม่

          จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับทฤษฎีใหม่ที่ได้ทรงพระราชทานไว้เนื่องในวโรกาสต่างๆ พอจะสรุปความหมายของ "ทฤษฎีใหม่" (New Theory) น่าจะหมายถึง "แนวทางปฏิบัติเพื่อให้เกษตรกรมีที่ดินถือครองประมาณ 10-15 ไร่ (อันที่จริงมีที่ดินถือครองมากกว่านี้ก็ได้ แล้วปรับเปลี่ยนทฤษฎีตามความเหมาะสม-จากผู้เรียบเรียง) สามารถมีน้ำใช้เพื่อการเกษตรอย่างเพียงพอตลอดปี และใช้น้ำกับที่ดินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้มีกินตามอัตภาพ คือไม่ได้รวยมาก แต่พอกิน ไม่อดอยาก

          โดยการแบ่งที่ดินถือครองออกเป็นสัดส่วน ดังนี้ ส่วนที่ 1 ร้อยละ 30 ของพื้นที่ สำหรับขุดสระ ส่วนที่ 2 ร้อยละ 60 ของพื้นที่ สำหรับทำนาปลูกข้าว ปลูกพืชไร่สวน และส่วนที่ 3 ร้อยละ 10 ของพื้นที่สำหรับเป็นที่บริการ เช่น ทางเดิน ที่อยู่อาศัย หรืออื่นๆ" (จากหนังสือ "ตามรอยพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง ทฤษฎีใหม่", สุนทร กุลวัฒนวรพงศ์ เรียบเรียง, ส.น.พ.ชมรมเด็ก)

          อย่างไรก็ดี แม้ว่าเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่จะมีแนวคิดบางอย่างคล้ายกัน แต่ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เพราะเศรษฐกิจพอเพียงมิได้หมายถึงการปฏิเสธอุตสาหกรรมแล้ว กลับไปสู่เกษตรกรรม แต่เป็นการดำเนินชีวิตอย่างพอดีตามทางสายกลาง ภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ ส่วนทฤษฎีใหม่ เป็นแนวทางด้านการเกษตรที่เพิ่มประสิทธิภาพของพื้นที่การเกษตร รวมไปถึงการกระจายความเสี่ยงจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพียงชนิดเดียวด้วย

          "...คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขาจะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งใหม่แต่เราอยู่อย่างพอมีพอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน มีความสงบ ช่วยกันรักษาส่วนรวม ให้อยู่ที่พอสมควร ขอย้ำพอควร พออยู่พอกิน มีความสงบไม่ให้คนอื่นมาแย่งคุณสมบัตินี้ไปจากเราได้..."

          พระราชกระแสรับสั่งในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงแก่ผู้เข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา พ.ศ.2517



คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

คอลัมน์ : STORY
โดย : ทีมงาน DLife
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ของขวัญจากพ่อ 81 พรรษามหาราชาของคนไทย อัปเดตล่าสุด 2 ธันวาคม 2551 เวลา 15:40:58 8,084 อ่าน
TOP