x close

คุมให้ดี ไม่ต้องโทษปี่โทษกลอง

คุมกำเนิด



คุมให้ดี ไม่ต้องโทษปี่โทษกลอง (อ.ส.ม.ท.)

          เศรษกิจลุ่มๆ ดอนๆ ปีนี้ยังไม่รู้ว่าจะตกงานหรือเปล่า แผนการมีเจ้าตัวเล็กเลยต้องพับเข้าลิ้นชักไว้ก่อนไม่อย่างงั้นมีหวัง ลูกเกิดมาได้กินน้ำข้าวแทนนมแน่

          แต่จะเลือกคุมกำเนิดแบบไหน ยาคุม ใส่ห่วง หรือตั้งหน้าตั้งตานับระยะปลอดภัย หน้า 7 หลัง 7 "แต่งงานแล้วและไม่อยากมีลูกสามารถคุมกำเนิดได้ เอาแบบไหนล่ะ แบบชั่วคราวหรือถาวร" ผศ. นพ. สัญญาภัทราชัย สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กระแอมเล็กน้อย ก่อนหยิบรายงานสถิติคุมกำเนิดมาเล่าให้ฟังว่า...

          หญิงไทยกว่า 30 ล้านคน จะมีผู้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ประมาณ 10 ล้านคน ผู้หญิงกว่า 75% คุมกำเนิด อีก 25% ไม่ได้คุมกำเนิด และกลุ่มหลังยังแบ่งออกเป็น 2 สาเหตุคือ ผู้หญิงที่อยากมีลูก และผู้หญิงที่ไม่อยากมีลูก แต่ก้ไม่ยอมคุมกำเนิด หากพลาดพลั้งตั้งครรภ์อาจตัดสินใจบางอย่างที่ต้องเสียใจภายหลัง

          ถึงแม้คุมกำเนิดเป็นเรื่องฟังดูพื้นๆ แต่ก็ทำเอาปวดหัวได้เหมือนกันถ้าเลือกไม่ถูกโฉลกกับตัวเอง

          การคุมกำเนิดมีอยู่สารพัดวิธี เริ่มจากยาเม็ดคุมกำเนิด ยาแบบฝัง ถ้าไม่อยากกินก็มีแผ่นแปะคุมกำเนิด ยาคุมแบบฝัง หรือว่าถ้าผู้ชายไม่เรื่องมาก (งี่เง่า) ก็ต้องถุงยางอนามัย ซึ่งมีทั้งสำหรับผู้ชายและสำหรับผู้หญิง

          บางคู่ใช้วิธีนับระยะปลอดภัยตามสูตรหน้า 7 หลัง 7 หมายความว่า ก่อนมีประจำเดือน 7 วัน และหลังเริ่มมีประจำเดือน 7 วัน แต่หลายคนเข้าใจผิด คิดว่าหลังหมดประจำเดือน 7 วัน แทนที่จะไม่ท้องเลยท้อง 

          ส่วนวิธีที่หมอไม่แนะนำเลย แต่หลายคู่นิยมใช้คือ หลั่งข้างนอกซึ่งมีความเสี่ยงสูงมาก เนื่องจากระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ผู้ชายอาจมีน้ำซึมออกมาบ้างถึงแม้จะมีปริมาณเล็กน้อย แต่เชื่อหรือไม่ว่ามีอสุจิอยู่นับล้านตัวพร้อมแวกว่ายไปปฏิสนธิกับไข่

          วิธีคุมกำเนิดอีกวิธีหนึ่งคือ ทำหมันถาวรไปเลยสำหรับคู่ชีวิตที่คิดว่ามีทายาทพอแล้ว และไม่อยากพลาดมีลูกอีก

          วิธีคุมกำเนิดดังกล่าวหาซื้อได้ง่ายและปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นถุงยางอนามัยหรือยาคุมกำเนิดกลุ่มฮอร์โมน ทั้งชนิดกิน และฝัง แปะ ส่วนหญิงที่มีโรคประจำตัวเล็กน้อยอาทิ เช่น ภูมิแพ้ ไมเกรน เบาหวานหรือความดันโลหิตสูงที่ไม่หนักหนามากนักก็คุมกำเนิดได้

          "คนทั่วไปมักจะคิดว่า เป็นโรคเล็กน้อยเหล่านี้ หรือการมีโรคประจำตัวที่ต้องกินยาบางประเภทที่จะทำให้ไม่ท้อง ถือว่าคิดผิด ผู้หญิงเหล่านี้มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ เพราะระบบสืบพันธุ์ปกติ อย่างไรก็ดี ปัจจัยสำคัญคือ แพทย์ผู้รักษาจำเป็นต้องให้คำแนะนำเรื่องการคุมกำเนิดให้เข้าใจ" ผศ.นพ. กล่าว

คุมกำเนิด


          สำหรับหญิงกลุ่มพิเศษที่มีโรคร้ายเช่น มะเร็งระยะสุดท้าย เบาหวาน หรือความดันโลหิตสูงระยะรุนแรง อาจเป็นกลุ่มที่มีปัญหา กล่าวคือ ตั้งครรภ์ไม่ได้กินยาคุมก็อันตราย จึงจำเป็นอย่างยิ่งต้องปรึกษาแพทย์เพื่อความปลอดภัย

          แพทย์จะมีคู่มือในการตรวจวินิจฉัยกลุ่มหญิงพิเศษที่อาจเสียชีวิตได้หากรับประทานคุมกำเนิด ได้แก่ หญิงหลังคลอดหรือหญิงแท้งบุตร หากคุมกำเนิดทันทีอาจจะไม่มีน้ำนม เช่นเดียวกับการตั้งครรภ์อายุมากเกินไป หรือน้อยเกินไป อาจเป็นอันตรายต่อแม่และทารกได้

          นอกจากนี้ กลุ่มที่มีโรคประจำตัวบางประเภทต้องคุมกำเนิดให้ถูกวิธีด้วย เช่น ผู้ป่วยโรคจิตเภท ติดยาเสพติด เหล้า บุหรี่ ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคอ้วน ไขมันสูง โรคตับ ถุงน้ำดี และโรคไต ไม่ควรคุมกำเนิดด้วยวิธีฮอร์โมน หรือพวกยาคุม ยาแปะ ยาฝัง

          ขณะที่หากเป็นโรคมะเร็งเนื้องอก โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางชนิด เช่น หนองในแท้-เทียม ไม่ควรใช้วิธีใส่ห่วงอนามัย หากเป็นมะเร็งปากมดลูกก็จะมีปัญหากับการใส่ห่วงอนามัย เนื่องจากอวัยวะเพศที่ผิดรูป แต่หากเป็นมะเร็งที่ไวต่อฮอร์โมน เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม ก็จะเป็นปัญหากับการคุมกำเนิดวิธีฮอร์โมน

          การคุมกำเนิดในหญิงกลุ่มพิเศษ แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าคุมกำเนิดด้วยวิธีใด โดยพิจารณาจากอายุ  ความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์ และเพศรส

          "การคุมกำเนิดแต่ละวิธีขึ้นอยู่กับความชอบ เพราะการคุมกำเนิดก็เหมือนร้านอาหาร ที่มีอาหารให้เลือกมากมาย หากชอบหรูหรา ก็สามารถเลือกห่วงคุมกำเนิดราคา 6,000 บาท หรือยาคุมแผงละ 500 บาท แต่หากต้องการของราคาย่อมเยาก็มียาคุมแผงละไม่กี่สิบบาท หากเลือกได้แล้วก็นำไปปรึกษาแพทย์อีกครั้ง" สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดีกล่าว

          นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับพฤติกรรมทางเพศ หากมีเพศสัมพันธ์ไม่บ่อยครั้งก็เลือกใช้ถุงยางอนามัยจะดีกว่ากินยาคุมกำเนิดเป็นเดือนๆ


 ยาคุมฉุกเฉิน ใช้ยังไงกันแน่?

          ยาคุมฉุกเฉินหรือ Morning-After Pill ถือว่าดีพอสำหรับคนที่ไม่ได้เตรียมตัวสำหรับการมีเพศสัมพันธ์ แต่จะไม่เหมาะกับคนที่มีคู่เป็นตัวเป็นตน เพราะประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดมีเพียง 75- 80 % ขณะที่ยาคุมกำเนิดนั้น จะมีประสิทธิภาพถึง 99.9%

          "คนส่วนมากยังสับสนกับการใช้ยาคุมฉุกเฉิน ไม่รู้ว่าควรจะกินตอนไหน ภายในกี่ชั่วโมง" ผศ.นพ.สัญญากล่าวก่อนอธิบายเพิ่มว่า ยาคุมฉุกเฉินทำหน้าที่ป้องกันช่วงเวลาที่ไข่จะตกมาผสมกับอสุจิ ซึ่งเป็นช่วงที่สั้นมากเพียงเสี้ยววินาที ดังนั้นไม่ควรรอให้เกิน 72 ชั่วโมง ต้องรีบกินทันที หากนานกว่านั้น ไข่จะตกและไปผสมกับเชื้ออสุจิ ก็ไม่สามารถป้องกันได้

 คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คุมให้ดี ไม่ต้องโทษปี่โทษกลอง อัปเดตล่าสุด 14 มีนาคม 2552 เวลา 17:19:10 26,746 อ่าน
TOP