x close

ภัยร้ายรายวัน : ระวังฟ้าผ่า

ฟ้าผ่า

ภัยร้ายรายวัน : ระวังฟ้าผ่า (เดลินิวส์)

         ระยะนี้จะเอาแน่เอานอนกับสภาพอากาศคงจะไม่ได้ วันนี้แดดเปรี้ยงร้อนอบอ้าว แต่พรุ่งนี้ฟ้าสลัว เมฆครึ้มหอบฝนห่าใหญ่ กระหน่ำซ้ำด้วยสายฟ้าแลบ และเสียงฟ้าคำรามดังกระหึ่ม

         ปรากฏการณ์ธรรมชาติบางครั้งก็ส่งผลเลวร้าย คร่าชีวิตผู้คน อย่างกรณีฟ้าผ่า คร่าชีวิตหนูน้อยวัย 4 ปี ที่เปิดตู้เย็นดื่มน้ำขณะฝนตก หรือกรณีของ 2 ชาวสวน ที่หนึ่งในนั้นหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาใช้งาน ระหว่างนั่งหลบฝนอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ ก็ถูกสายฟ้าฟาดเปรี้ยงตัวไหม้เกรียมดับอนาถ

         เมื่อเกิดปรากฏการณ์ฟ้าผ่าใส่คนบ่อยครั้งขึ้น หลายคนคงนึกสงสัยว่า ฟ้าผ่า เกิดขึ้นได้อย่างไร . . .

         ฟ้าผ่า เกิดจากเมฆฝนฟ้าคะนอง โดยภายในก้อนเมฆและบริเวณพื้นดินจะมีประจุไฟฟ้าที่แตกต่างกัน คือ ประจุบวกและประจุลบ เมื่อประจุต่างขั้ววิ่งเข้าหากัน ก็จะทำให้เกิดฟ้าผ่า

         โดยฟ้าผ่าที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต เรียกว่า ฟ้าผ่าจากเมฆลงสู่พื้นดิน ในลักษณะประจุลบเคลื่อนที่จากฐานเมฆลงมาที่อากาศเข้าใกล้พื้นดิน และจะเหนี่ยวนำประจุบวกจากวัตถุบนพื้นโลก รวมทั้งจากพื้นดินให้ไหลขึ้นมาตามต้นไม้ หลังคาบ้าน และที่สูง เมื่อประจุต่างขั้วเดินทางมาพบและเคลื่อนที่สวนกัน จึงเกิดกระแสโต้กลับ และเกิดฟ้าผ่า

         ส่วนสาเหตุของการเสียชีวิตจากการถูกฟ้าผ่า ตามคำกล่าวของดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ คือ

         1. ไฟฟ้าวิ่งเข้าสู่ร่างกายโดยการสัมผัสกับสิ่งที่ถูกฟ้าผ่า เช่น ฟ้าผ่าลงต้นไม้ขณะที่มนุษย์สัมผัสถูกต้นไม้

         2. ฟฟ้าแลบจากด้านข้าง ในลักษณะที่กระแสไฟฟ้ากระโดดเข้าสู่ตัวคน

         3. กระแสไฟฟ้าวิ่งตามพื้น เช่น เมื่อฟ้าผ่าลงต้นไม้ กระแสไฟฟ้ากระจายลงพื้นที่รอบๆ โดยเฉพาะบริเวณที่มีน้ำเจิ่งนอง

         นอกจากนี้ พฤติกรรมการใช้หรือเข้าใกล้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีคลื่นไมโครเวฟเป็นส่วนประกอบ อย่าง ตู้เย็น โทรศัพท์มือถือ (คลื่นไมโครเวฟ คือ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดหนึ่งซึ่งมีอยู่แล้วในธรรมชาติ โดยดวงอาทิตย์เป็นผู้ส่งออกมา โดยไมโครเวฟมีความถี่ตั้งแต่ 300-3000 MHz มีคุณสมบัติสะท้อนคลื่น ดูดซึมคลื่น และทะลุผ่าน) ระหว่างฝนตก เมื่อเกิดฟ้าผ่าลงหลังคาบ้าน แล้วบ้านหลังดังกล่าวไม่มีสายดิน กระแสไฟฟ้าจึงกระจายตามพื้นบ้านและเข้าสู่ร่างกายของผู้ที่ยืนอยู่ในที่มีน้ำเจิ่งนอง หรือร่างกายเปียกชื้น (ตรงตามลักษณะของสาเหตุข้อที่ 3)

         เพื่อความปลอดภัย ลดความเสี่ยงถูกฟ้าผ่า ระหว่างฝนตก ไม่ควรใช้โทรศัพท์ หรือเล่นอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อกับสายโทรศัพท์ รวมทั้งควรถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้า และหลบอยู่ในบริเวณที่มิดชิด หลีกเลี่ยงการหลบฝนใต้ต้นไม้ ในตู้โทรศัพท์



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ภัยร้ายรายวัน : ระวังฟ้าผ่า อัปเดตล่าสุด 22 พฤษภาคม 2563 เวลา 11:37:20 13,639 อ่าน
TOP