x close

ชีวิตลิขิตเองของ ม.ล.อภิมงคล โสณกุล

หม่อมหลวง อภิมงคล โสณกุล

ชีวิตลิขิตเอง. .ม.ล.อภิมงคล โสณกุล (กรุงเทพธุรกิจ)

        ชีวิตและประสบการณ์ที่น่าสนใจของ หม่อมหลวง อภิมงคล โสณกุล คือ นักการเมืองหนุ่มที่ก้าวเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ด้วยวัยเพียง 26 ปี

        แม้มีพรรษาการเมืองเพียงแค่ 4 ปี แต่เขามองย้อนกลับไปพบว่า 4 ปี ที่ผ่านมา เขาพบกับเหตุการณ์สำคัญมากแล้วทุกอย่าง จังหวะเดินชีวิตช่วงแรกของเขาดูคล้ายคลึงกับคุณพ่อ หรือหม่อมราชวงศ์ จตุมงคล โสณกุล ที่รู้จักกันในนามหม่อมเต่า อดีตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีความสุขกับชีวิตหลังเกษียณกับบทบาทของนักธุรกิจ

        ชีวิตช่วงต้นของเขาถูกกำหนดไว้แล้วตั้งแต่อายุครรภ์ได้ 6 เดือนว่า หลังจากจบการศึกษาระดับประถมต้นแล้วต้องไปเรียนที่สหราชอาณาจักรอังกฤษ สถาบันเดียวกับที่หม่อมเต่า และญาติผู้ใหญ่ใช้ชีวิตกันมาก่อน แต่เส้นทางชีวิตหลังจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ อ็อกซ์ฟอร์ด ตามมาด้วยนักแข่งรถสมัครเล่น และล่าสุดอาชีพนักการเมือง ล้วนเป็นเส้นทางที่เขาตัดสินใจเดินเอง และพบพานเหตุการณ์มากมาย

        "ไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรอกครับ เพราะคุณพ่อตั้งใจ คุณพ่อไปอังกฤษตอนนั้นเก้าขวบ คุณพ่อคิดมาตลอด โรงเรียนมัธยมที่ผมเรียน (แฮร์โรว์ สคูล) เรียกว่าเป็นโรงเรียนที่อยู่กันมาทั้งครอบครัวก็ว่าได้ ตั้งแต่สมัยท่านปู่ คุณลุงสองคน และคุณพ่อ พอผมอายุได้ 6 เดือน (ในครรภ์) พอรู้ว่าเป็นผู้ชาย คุณพ่อก็สมัครเลย สมัครไว้ก่อนตั้งแต่ตอนนั้น ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ" ม.ล.อภิมงคล ตอบข้อสงสัย

        เหตุผลที่เขาต้องไปเรียนโรงเรียนประจำตั้งแต่ตอน 10 ขวบ  ส่วนหนึ่งเป็นเพราะครอบครัวต้องการให้คุ้นเคยกับภาษาอังกฤษ และสมัยที่ยังเรียนโรงเรียนประถมอยู่เมืองไทย ก็มีครูพิเศษมาสอนภาษาอังกฤษตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนไปเมืองนอก เป็นการเตรียมตัวมาตลอดเพื่อไปศึกษาต่อ ส่วนที่เลือกเรียนด้านวิศวกรรมศาสตร์เหมือนหม่อมเต่า แต่คนละสถาบัน คำตอบง่ายๆ ไม่มีอะไรซับซ้อนเลยคือ เขาถนัดคณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ มากกว่าศิลป์ภาษา

       คนส่วนใหญ่พอรู้ประวัติวัยหนุ่มของ ม.ล.อภิมงคล มาบ้างแล้วว่า เขาเคยคลุกคลีกับวงการมอเตอร์สปอร์ตมาช่วงหนึ่งในฐานะนักแข่งรถประเภท single seater racing

        "ผมชอบมาตั้งแต่เด็กคุณพ่อพาไปขับโกคาร์ทตั้งแต่ 6-7 ขวบแล้ว ตอนที่อยู่อังกฤษมีโอกาส ไปเรียนขับรถแข่งที่โรงเรียน ก็ชอบมาตลอดนะครับ เป็นกีฬาที่ชอบ พอกลับมาทำงานก็มีสปอนเซอร์ เลยมีโอกาสได้ไปแข่งอยู่สามปี" อดีตนักแข่งรถแชมป์ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา กล่าว

        สำหรับคนอื่นแล้วมักคิดว่าหม่อมเต่าเป็นคนดุ แต่ ม.ล.อภิมงคลบอกว่า ไม่จริง หม่อมเต่า ตลอดชีวิตที่ผ่านมาทั้งหม่อมเต่าและคุณหญิงบูลย์วิภา คอยให้การสนับสนุนทุกอย่างที่เป็นการตัดสินใจของเขา รวมถึงเรื่องขับรถแข่ง

        "พ่อแม่ผมเป็นคนสมัยใหม่สนับสนุนทุกอย่างที่ลูกอยากทำ สนับสนุนก็ไม่ได้แปลว่าเห็นด้วยหรือชอบ ในเมื่อเป็นความต้องการของผมว่าอยากจะทำ คุณพ่อก็เปิดทีมแข่งให้ คุณแม่ก็มีหน้าที่ทำอาหารไว้เลี้ยงตอนกลางวัน ยอมรับในสิ่งที่เราชอบ" สนับสนุนถึงขั้นตั้งทีมหม่อมเต่าเรสซิ่ง ส่งลูกชายและทีมแข่งไปแสดงฝีมือบนสนามหลายครั้ง แต่หลังจากที่เขาก้าวสู่เส้นทางการเมือง ทีมหม่อมเต่าเรสซิ่งเลยพลอยยุติบทบาทลงไปด้วยเงื่อนไขของเวลา

        เนื่องจากการแข่งรถเป็นกีฬาที่กินเวลาและใช้เงินมาก แม้จะมีสปอนเซอร์สนับสนุนก็ตามมาด้วยข้อตกลงกันที่ตัวนักแข่งต้องซ้อม และทำอันดับแข่งให้ได้ เมื่อรับบทบาทใหม่เป็นผู้แทนราษฎร เวลาทั้งหมดจึงโอนมาให้กับภารกิจใหม่อย่างเต็มตัว "ไม่ใช่ว่าผมมาเป็นนักการเมืองและเลิกแข่งรถอย่างที่ทุกคนเข้าใจ บังเอิญว่าเวลามันตรงกัน และอีกอย่างสปอนเซอร์ช่วงนั้นเป็นปีสุดท้ายพอดี และปีสุดท้าย ทีมแข่งผมได้รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพฯ ไปแล้วก็ถือว่าเป็นเกียรติสูงสุดแล้ว ก็เลยตัดสินใจแขวนพวงมาลัย"

        เขาบอกว่า ที่เลือกแข่งรถประเภท single seater รูปทรงคล้ายฟอร์มูล่า วัน มากว่ารถประเภทซาลูนก็เพราะมันท้าทาย สำหรับเขาแล้วไม่คิดว่าเป็นเรื่องเสี่ยงตาย หรือผาดโผน แม้จะยอมรับว่ากลัว แต่ก็มองว่าเป็นเรื่องธรรมดา

        "ถามว่ากลัวไหมก็กลัวเหมือนกัน แต่เราก็ทำดีที่สุดแล้วด้านความปลอดภัย และมันเป็นเรื่องปกติของนักแข่งรถว่า คงเป็นไปไม่ได้ว่าชีวิตจะไม่ชนเลย เลือกมาแล้วคงต้องทำใจไว้ กีฬาประเภท contact sports มันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว"

        ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุขับชนธรรมดาก็เจอมาแล้วหลายสิบรอบในสนาม รถคว่ำ ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เป็นเรื่องปกติของสำหรับเขา ชุดที่ใส่ป้องกันไฟได้สองนาที มีโรลเลอร์บาร์คอยป้องกันการกระแทก สำหรับเขาแล้ว ความเร็ว 200 ก.ม./ชม. ไม่ถือว่าเร็วนัก เนื่องจากสนามเมืองไทยมีระยะทางสั้นแค่ 2.4 กิโลเมตรเท่านั้น ถ้าเป็นสนามต่างประเทศ สมรรถนะรถสามารถวิ่งได้ 300 ก.ม./ชม.สบายๆ ผ่านช่วงเวลาร้างจากการแข่งรถ เขายอมรับว่าคิดถึงอยู่เหมือนกัน และ อยากกลับไปแข่งเหมือนกัน เขาบอกว่า กีฬาแข่งรถกับการเมืองคล้ายกันอยู่อย่างหนึ่ง คือทำเล่นๆ แล้วมันไม่สนุก

        "สิ่งแรกที่เขาสอนเวลาไปเรียน ไม่ใช่วิธีขับรถนะครับ เขาสอนว่า เวลาขับรถแข่งได้ที่สอง แปลว่าเราเป็นผู้แพ้เบอร์หนึ่ง เพราะมันมีผู้ชนะได้คนเดียวก็ต้องทำทุกอย่างให้ชนะให้ได้"

        จุดเปลี่ยนที่ทำให้คนหนุ่มอายุเพิ่งเลยเบญจเพสช่วงนั้น ม.ล.อภิมงคลเล่าว่า หลังจากจบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิตจากอ็อกซ์ฟอร์ด กลับมาเมืองไทยเข้ารับราชการอยู่กระทรวงพลังงานเกือบ 5 ปี แต่สิ่งที่อยู่ในใจเขามาตลอดคือ ทำงานรับใช้ประเทศ และสักวันหนึ่ง ถ้ามีโอกาสก็จะเข้ามาสู่สายทางการเมือง

        "ผมเชื่อว่า ขณะนั้นสายการเมืองถูกหรือผิดก็ตาม มันมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การกำหนดนโยบายของประเทศมีความสำคัญ มากกว่าฝ่ายปฏิบัติอย่างระบบราชการ" นักการเมืองหนุ่ม กล่าว

        เส้นทางการเมืองของม.ล.อภิมงคล ไม่มีใครชักชวน ไม่มีใครทาบทาม เดินเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และไม่ได้กำหนดเงื่อนเวลาว่าจะลงสมัครปีนั้น หรือปีไหน แต่เป็นเพราะจังหวะและโอกาสที่เหมาะเจาะทำให้เขาเริ่มสู่ถนนการเมืองในช่วงที่มีสีสันที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในฐานะผู้แทนราษฎรเขตสัมพันธวงศ์ บางรัก สาทร

        "ถามว่าตั้งใจหรือเปล่าว่า อายุ 26 จะลงสมัครเลือกตั้ง ก็ตอบตรงๆ ว่า ผมไม่เหมือนคุณอภิสิทธิ์ (นายกรัฐมนตรี) คุณอภิสิทธิ์ เขาตั้งใจเลย ตั้งแต่ 9 ขวบ ที่ไปเรียนเมืองนอกว่า โอกาสแรกถ้าลงสมัครเลือกตั้งได้ ก็จะลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผมไม่ได้คิดอย่างนั้น ผมเชื่อว่า วันหนึ่ง ไม่ได้กำหนดอายุให้ตัวเองด้วยซ้ำ วันหนึ่งอาจจะเป็น 30 ปี 50 ปี หรือเกษียณอายุแล้ว 60 ก็ตาม ก็ยังมีโอกาส"

        เขาเล่าว่า ตัดสินใจเดินมาเขียนใบสมัครที่พรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็ไม่ได้คิดสมัครเป็นส.ส. มาเพราะอยากได้ประสบการณ์การเมือง อยากจะรู้เวลาไปติดป้าย ไปเดินหาเสียงให้พรรค จะทำอะไรได้บ้าง อยากมีประสบการณ์ แต่ด้วยเวลาและโอกาส ทำให้เขาก้าวสู่สังเวียนการเมืองตั้งแต่เริ่มต้น  

        "ผมว่า การเมืองถ้าไม่มีความต้องการส่วนตัว หรือมีความประสงค์ทำงานจริงๆ มันอยู่ไม่ได้หรอกครับ แหมชีวิตมันก็ไม่ได้ราบรื่นนะครับ (ยิ้ม) มันมีกระทบกระทั่งเสียดสีอยู่ตลอดเวลา จะผ่านการเลือกตั้งขึ้นมา พี่น้องประชาชนให้โอกาส มันต้องตั้งใจทำตรงนี้จริงๆ สำหรับคนที่คิดมาชั่วครั้งชั่วคราว ก็อยู่ชั่วครั้งชั่วคราวจริงๆ เพราะว่า ชีวิตก็ลำบาก และต้องตัดสินใจให้กับมันเต็ม 100 เหมือนกัน"

        เขายอมรับว่าเขาโชคดีมากที่ลงสมัครครั้งแรก และได้รับเลือกตั้งแต่ผู้แทนฯ ด้วยคะแนนเสียงสามหมื่นสี่พันกว่าคะแนน โคนแชมป์เก่าหลายสมัยได้อย่างไม่น่าเชื่อ

        "ตัวผมเองถือว่าใหม่มากกับการเมือง ถือว่าใหม่เอี่ยม โนเนมเลยทางการเมือง แต่ด้วยทีมงานที่ทำงานในพื้นที่มานาน และได้รับต่อยอดมาจากอดีต ส.ส. อย่างเช่น หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธ์ บริพัตร ก็พร้อมจะทำงานได้เลย รวมทั้งการนำเสนอนโยบาย เรื่องอื่นๆ ณ ขณะนั้น"

        เขาบอกว่า ค่อนข้างโชคดีที่สื่อมวลชนช่วยประชาสัมพันธ์ ด้วยเป็นผู้สมัครอายุน้อย เด็กที่สุด และลงเลือกตั้งช่วงกระแสพรรคการเมืองใหญ่ พรรคไทยรักไทยช่วงนั้นแรกมาก

        "มันก็มีหลายปัจจัยที่ทำให้ผมได้รับความสนใจ แต่ที่สำคัญที่สุดแล้ว มันก็กลับมาที่เดิม ณ วันนั้น  คนต้องการเห็นบุคคลใหม่ในการเมือง และเห็นผมมีความตั้งใจทำงานรับใช้ แม้จะมีประสบการณ์น้อย แม้เป็นผู้สมัครหน้าใหม่ เมื่อคนเห็นความตั้งใจที่นำเสนอ พวกเขาก็พร้อมจะยอมรับ"

        ม.ล.อภิมงคลสะท้อนภาพการหาเสียงเลือกตั้งของไทยกับต่างประเทศให้ฟังว่า ในต่างประเทศนโยบายของพรรคเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก และระยะหลังประชาชนไทยเริ่มมองความสำคัญของนโยบายพรรคมากขึ้น ประชาชนติดตามมากขึ้น ว่าเลือกพรรคนี้เข้ามาแล้วพรรคมีนโยบายทำอะไร ทำได้มากน้อยแค่ไหน

        ภาพการหาเสียงของไทยประเภทต้องขึ้นรถปิคอัพแห่รอบเมือง ถือไมโครโฟนตากแดดหน้าดำขอคะแนนเสียงจากพี่น้องประชาชน ม.ล.อภิมงคล ไม่คิดว่ามันเป็นงานที่หนักหนา ตรงกันข้ามเขาสนุก

        "ผมเป็นคนชอบทรหดอยู่แล้วละครับ จริงๆ รู้สึกสนุกดีด้วยซ้ำ ไม่ได้รู้สึกว่าจะเป็นเรื่องลำบากอะไรได้มีโอกาสพบปะประชาชน วิถีชีวิตของเขากับของเราก็ไม่ได้ต่างอะไรกันเท่าไร ผมก็อยู่ในราชการมา ก็ทำงานปกติเหมือนข้าราชการทั่วไป"

        อย่างที่ทราบกันดี พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเก่าแก่ เต็มไปด้วยผู้อาวุโส และมีวัฒนธรรมองค์กรเฉพาะตัว นักการเมืองหนุ่มที่ก้าวเขามาเป็นสมาชิกพรรคด้วยอายุน้อยอย่างเขาพบบางอย่างที่เขารู้สึกว่ามันเป็นบรรยากาศ และเป็นวัฒนธรรมที่อยู่ด้วยง่าย

        "พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่อยู่บนพื้นฐานอุดมการณ์ที่ไม่มีเจ้าของ หมายความว่า มันต้องมีการผลิตบุคลากรใหม่เพื่อสืบสานเจตนารมณ์ของพรรค ใช่ครับ ตอนนั้นผมอายุ 26 และผู้อาวุโสสุดอายุ 82 ก็มี แต่มันเป็นเรื่องปกติของพรรคการเมืองที่มีความต่อเนื่อง หมายความเป็นเรื่องที่ดี มีคนอายุระดับกลางที่มีประสบการณ์พอสมควร คนอาวุโสที่มีประสบการณ์มาก ซึ่งเขาก็มาสั่งสอนเด็กๆ อย่างผมที่เพิ่งเข้ามา มันก็เหมือนพี่สอนน้องสืบต่อกันไป"

        วัฒนธรรมของพรรคประชาธิปัตย์ที่ ม.ล.อภิมงคลบอกว่า อยู่ได้ง่าย ขยายความได้ว่า พรรคไม่มีใครเป็นเจ้าของพรรค ถ้าไม่มีคุณอภิสิทธิ์ ก็มีคนอื่นที่ สมาชิกพรรคเลือกขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค คนอายุ 26 ปีอย่าง ม.ล.อภิมงคล หรือผู้อาวุโสอายุ 82 ปี ล้วนมีสิทธิ์มีเสียงเท่ากัน

        "หรือผมจะเถียงกับหัวหน้าพรรค ผมก็มีสิทธิ์มีเสียงเท่ากับทุกคน เพราะฉะนั้นเป็นวัฒนธรรมที่ให้เกียรติกันในการแสดงความคิดเห็นของสมาชิกค่อนข้างมาก"

        เส้นทางการเมืองจะยาวนานแค่ไหน เขาบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า “ตอบยาก” เพราะมันไม่ใช่ความสมัครใจส่วนตัว อยากเป็นส.ส.นานกี่สมัย ขึ้นอยู่กับประชาชนจะให้โอกาสเขากลับมาทำงานการเมืองในสมัยต่อไปหรือไม่

        "ส่วนตัวแล้ว เมื่อมาอยู่ตรงนี้ก็สนุกกับมัน และตั้งใจที่จะอาสามาทำงาน แต่ขึ้นอยู่กับว่า คนจะเลือกกลับมาไหม ทำงานได้ดีหรือเปล่า อันนั้นเป็นของที่เราต้องยอมรับครับ"

        ถึงแม้เวลานี้ อายุของเขายังไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดในรัฐธรรมนูญให้นั่งเป็นเจ้ากระทรวงได้ แต่เขาก็คิดว่าเมื่อถึงเวลาแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะกระโจนเข้าหาเก้าอี้ มันไม่ใช่เรื่องสำคัญ สิ่งสำคัญคือ ประชาชนที่ลงคะแนนเสียงเลือกเขาให้มาทำงานต่างหาก แต่ถ้าพรรคและผู้ใหญ่ในพรรคมองเห็นว่ามีประโยชน์ด้านใด ไม่ว่าตำแหน่งไหน ภารกิจใด เขายินดีทำ

        เขามองชีวิตการเมืองไม่ต่างจากชีวิตราชการ หรือพูดให้ถูกก็คือ ทุกอย่างในโลกมันมีขั้นตอนของชีวิตเหมือนกันหมด เหมือนเด็กที่เริ่มจากคลาน เดิน และวิ่ง เวลาที่ผ่านไปคือประสบการณ์ที่ต้องสั่งสม และชีวิตมีจังหวะ มีวาระของตัวเอง

        "ไม่มีหรอกครับในโลกที่เข้ามาแล้วก็ไปได้เลยถึงข้างบน เป็นเรื่องธรรมดาครับ"

        ม.ล. อภิมงคล ยังคงพบกับประชาชนอยู่เนื่องๆ เสียงสะท้อนปัญหาด้านเศรษฐกิจเริ่มหนาหูมากยิ่งขึ้น เขตที่เขารับผิดชอบเป็นเขตค้าขาย มีคนไทยเชื้อสายจีนจำนวนมาก เขาหวังว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจตของรัฐบาลจะเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือ ผลักดันกำลังซื้อได้มากขึ้น และทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้

        อีกปัญหาที่เป็นเสียงสะท้อนจากประชาชนคือปัญหาการเมือง ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น พี่น้องประชาชนตั้งความหวังให้ความขัดแย้งลดลง และให้ประเทศเดินต่อไป
 
        "จริงๆ พื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยพอไปได้ มันก็ติดเรื่องความเชื่อมั่นด้วย เรื่องการเมืองด้วย และเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องแก้ไขให้ได้"

        เวลาที่ทุ่มให้กับงานการเมืองทำให้หนุ่มนักการเมืองแทบจะไม่เหลือเวลาอื่นมากนัก ชีวิตที่ไม่มีวันหยุดราชการเหมือนคนอื่น แต่ถ้ามีเวลาช่วงวันหยุด เขาเลือกชาร์จแบตเตอรี่ให้กับตัวเองด้วยการนอน อ่านหนังสือทุกชนิด และรับประทานอาหารได้อย่างมีความสุข และโชคดีอีกอย่างสำหรับเขาคือ ถึงชีวิตจะไกลหมอ และไม่เคยตรวจร่างกายประจำปี แต่ร่างกายของเขาช่วงที่ผ่านมาไม่เคยเจ็บไข้ได้ป่วยอะไรเลย

        "สี่ปีที่อยู่กับการเมืองมา เป็นสี่ปีที่ต้องยอมรับว่า ได้เห็นครบทุกเหตุการณ์จริงๆ ตั้งแต่การเลือกตั้งของตัวเอง การอภิปรายไม่ไว้วางใจหลายครั้ง การรัฐประหาร การบอยคอตการเลือกตั้ง การจำคุกกรรมการการเลือกตั้ง คือมันเห็นมาหมดแล้ว"

        ถึงชีวิตจะโลดแล่นอยู่บนถนนที่สับสนวุ่นวายของการเมือง แต่เขาเป็นคนที่พูดได้ว่า "ไม่ทุกข์" ตรงกันข้ามกลับคิดว่าเป็นประสบการณ์ที่ดี ที่ได้เห็นอะไรหลายอย่างในชีวิต และบอกกับเราว่า ไม่เคยคิดว่าอายุขนาดนี้จะมีโอกาสได้เห็นขนาดนี้

        "ผมไม่ค่อยรู้สึกกดดันนะ ถามว่า อย่างการเลือกตั้งครั้งแรกปี 48 ผมมีประสบการณ์น้อย ผมคิดว่าเป็นเรื่องท้าทายมาก และเป็นเรื่องที่เป็นประสบการณ์จริง" คำตอบที่เจือด้วยน้ำเสียงร่าเริงคือคำยืนยันคำพูดอย่างชัดเจน

        การทำงานและการใช้ชีวิต ม.ล.อภิมงคล ยึดหลักคำพูดที่พ่อสอนไว้ว่า ให้ทำให้ดีที่สุด

        "ไม่มีใครที่ทำถูกทุกอย่างในโลก ผิดก็ยอมรับว่าผิด ที่สำคัญคือความซื่อสัตย์สุจริต และความตั้งใจก็ตั้งใจดีที่สุด เหมือนที่คุณพ่อทำมา คุณพ่อก็ทำหลายเรื่องที่ยอมรับว่า ทำไปแล้วบางทีก็ไม่ถูก แต่ด้วยความบริสุทธิ์ใจที่ทำไปก็ถือว่า ทำไปด้วยความตั้งใจดี" ชายหนุ่มซึ่งวันที่ 30 เมษายน จะครบรอบ 31 ปีกล่าว

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ชีวิตลิขิตเองของ ม.ล.อภิมงคล โสณกุล อัปเดตล่าสุด 27 เมษายน 2552 เวลา 15:10:54 57,255 อ่าน
TOP