x close

คนไทยแมกไซไซรายล่าสุด เภสัชกรยิปซี กับแนวคิด..ที่น่าคิด




คนไทยแมกไซไซรายล่า เภสัชกรยิปซี' กับแนวคิด..ที่น่าคิด (เดลินิวส์) 

          สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย และน่าจะช่วยฟื้นภาพลักษณ์ด้านสาธารณสุขของไทยที่ขมุกขมัวจากปัญหาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ระบาดหนักได้ระดับหนึ่ง สำหรับการที่คนไทย-บุคลากรด้านสาธารณสุขเลือดไทยได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ได้รับ "รางวัลแมกไซไซ" สาขาบริการสาธารณะ ประจำปี 2009 นี้

          คนไทยคนนี้คือ "ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์" อีกผู้หนึ่งซึ่งมีแนวคิดการใช้ชีวิตที่น่าสนใจ

          รางวัลแมกไซไซ หรือ "รางวัลรามอน แมกไซไซ (Ramon Magsaysay Award)" นั้น ว่ากันว่าเปรียบเสมือน "รางวัลโนเบลของกลุ่มประเทศเอเชีย" โดยรางวัลนี้กำเนิดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่อดีตประธานาธิบดีคนที่ 3 ของประเทศฟิลิปปินส์ ผู้ซึ่งประชาชนของประเทศฟิลิปปินส์ยกย่องให้เป็นวีรบุรุษจากการที่เป็นผู้จัดตั้งขบวนการใต้ดินต่อสู้กับกองทหารญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นหัวหน้าขบวนการเรียกร้องเอกราชของชาติ และที่สำคัญคือเป็นผู้ที่ให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้ยากไร้ 

          ทั้งนี้ ทางมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ได้มอบเงินงบประมาณราว 10 ล้านบาท เพื่อใช้ในการก่อตั้งมูลนิธิรางวัลแมกไซไซในเดือน พ.ค. ปี ค.ศ. 1957 ภายหลังนายรามอนเสียชีวิตในเดือน มี.ค.ปีเดียวกัน อันเนื่องจากอุบัติเหตุเครื่องบินตก ซึ่งทางมูลนิธิรางวัลแมกไซไซมีการดำเนินการประกาศเกียรติคุณและมอบรางวัลให้กับบุคคลที่อยู่ในทวีปเอเชีย ซึ่งมีบทบาทและมีการทำงานในทางสร้างสรรค์ ใน 6 สาขา 

          กล่าวคือ... 1.สาขาบริการภาครัฐ 2.สาขาบริการสาธารณะ 3.สาขาผู้นำชุมชน 4.สาขาวารสารศาสตร์ วรรณกรรม และศิลปะการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์ 5.สาขาสันติภาพและความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ และ 6.สาขาผู้นำในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งผู้ได้รับรางวัลจะได้รับเหรียญสดุดีและเงินรางวัลประมาณ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยมีพิธีมอบที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ในวันที่ 31 ส.ค. วันคล้ายวันเกิดแมกไซไซ

          สำหรับประเทศไทย ที่ผ่านมามีบุคคลสำคัญ สถาบัน-โครงการ ได้รับรางวัลแมกไซไซแล้วกว่า 20 รางวัล และล่าสุดในปี ค.ศ. 2009 นี้ ก็คือ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ กับสาขาบริการสาธารณะ ซึ่งประวัติโดยย่อของ ดร.กฤษณานั้นได้มีการเผยแพร่ไปบ้างแล้ว อย่างไรก็ดี กับชีวิตบุคคลผู้นี้ก็ยังมีข้อมูลลึก ๆ ที่น่าสนใจอีกบางส่วน 

          "เพราะประเทศไทยไปประกาศในที่ประชุมองค์การอนามัยโลก เมื่อ พ.ศ. 2545 ว่าเราจะไปช่วยเขา แต่นักการเมืองซีกรัฐบาลที่เกี่ยว ข้องตอนนั้นประกาศเสร็จแล้วก็แล้วไป กลายเป็นสัญญาปากเปล่า ทีนี้  คนแอฟริกันที่รู้จักกันเขาก็ถามว่าเมื่อไหร่จะไปสักที ก็รู้สึกอายแทนเมืองไทย ก็เลยลาออกดีกว่า แล้วก็ไปช่วยเขาเอง" ...ดร.กฤษณาเคยให้สัมภาษณ์    เดลินิวส์ไว้เมื่อต้นเดือน ก.พ. 2551 ซึ่งคำว่า "ช่วย" นั้นหมายถึงโครงการ     "ดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์" และ "เขา" หมายถึง "คนที่ทวีปแอฟริกา" ซึ่ง ดร.กฤษณา เป็นผู้เขียนโครงการ ขณะที่ตำแหน่งที่ลาออกคือผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม ...นี่เป็นจุดเริ่มต้นจนเป็นที่มาของฉายา "เภสัชกรยิปซี" 

          ก่อนจะได้รับรางวัล "แมกไซไซ" นั้น ในปี พ.ศ. 2547 ดร. กฤษณาเคยได้รับรางวัล "นักวิทยาศาสตร์โลก" จากเล็ทเทน ฟาวน์เดชั่น ประเทศนอร์เวย์ และในปี 2551 นิตยสารรีดเดอร์สไดเจสต์ก็ยกย่องให้เป็น  "บุคคลแห่งปีของเอเชีย" ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์อีกหลายใบ อีกทั้งชีวิตการทำงานยังได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติ ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับเอดส์ ความยาว 45 นาที ซึ่งได้รับรางวัลในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ และเรื่องราวชีวิตยังถูกนำไปสร้างเป็นละครบรอดเวย์ด้วย

          ดร.กฤษณา เคยให้สัมภาษณ์ว่า... จริงๆ แล้วชอบด้านศิลปะ ดนตรี แต่งกลอน เขียนหนังสือ อยากเป็นวาทยกร อยากเป็นคนคุมวงดนตรี แต่เพราะพ่อแม่เป็นหมอเป็นพยาบาล ชีวิตก็เลยเดินเข้าสู่เส้นทางสาธารณสุข เป็นเภสัชกร และที่จริงเกือบจะเป็นหมอ แต่คะแนนสอบคณะแพทยศาสตร์ขาดไป 1 คะแนน ซึ่งเจ้าตัวบอกถึง "แนวคิดการใช้ชีวิตให้เป็นสุข" ว่า... "เมื่อเราไม่ได้เป็นในสิ่งที่เราอยากจะเป็น เราก็ต้องชอบสิ่งที่เรามีอยู่ ต้องทำให้ดีที่สุด" ซึ่งด้วยวัยแค่ 37 ปี บุคคลผู้นี้ก็มีตำแหน่งเป็น ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม

          และเมื่อตัดสินใจทิ้งตำแหน่ง "คองโก" คือประเทศแรกที่เข้าไปช่วยเหลือเรื่องเอดส์ ซึ่งที่สุดก็ผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ในคองโกได้สำเร็จ รวมถึงตระเวนไปทำเรื่องยาเอดส์-ยาอื่นๆ เช่น ยามาลาเรีย ในอีกหลายประเทศ 

          "อยู่ที่คองโก 3 ปี ตรงนั้นรบกันตลอด เรื่องความปลอดภัยไม่มี เราก็ไม่รู้ว่าใครจะยิงเราเมื่อไหร่ มันอันตรายมาก เรียกว่าตื่นเต้นจนไม่ตื่นเต้น" ...ดร.กฤษณา เล่าไว้

          ถามว่าทำไมต้องแอฟริกา? ดร.กฤษณา บอกไว้ว่า... "เพราะคิดว่าในไทยมีการทำเรื่องนี้สำเร็จแล้ว แต่ที่นั่นยังไม่มี" ถามว่าทำไมทิ้งอนาคตการงาน-การเงินที่มั่นคง? ดร.กฤษณา บอกแนวคิดพอเพียงไว้ว่า...    "เพราะไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่ง กับเงินเดือน อีกอย่างมันอยู่ที่ใจ ถ้าคิดว่าพอ เราก็ไม่จำเป็นจะต้องใช้อะไรมากมาย" และแม้จะไปตระเวนช่วยคนในดินแดนกาฬทวีปอยู่นานจนได้ฉายา "เภสัชกรยิปซี" แต่ก็ใช่ว่า ดร.กฤษณาจะไม่สนใจเมืองไทยในยุคคนไทยขัดแย้งแบ่งสีเพราะการเมือง และก็มีแนวคิดน่าคิด ว่า.....

          "เรื่องการเมือง เราเป็นประชาชนก็อย่าไปอินกับสถานการณ์การเมืองมากนัก อย่าเอามาเป็นทุกข์ เพราะเราทำอะไรไม่ได้ ดังนั้น ทำหน้าที่แค่เป็นประชาชนที่ดีก็พอแล้ว!!!"


  คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ






ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คนไทยแมกไซไซรายล่าสุด เภสัชกรยิปซี กับแนวคิด..ที่น่าคิด อัปเดตล่าสุด 15 กรกฎาคม 2552 เวลา 14:59:22 7,140 อ่าน
TOP