x close

กว่าจะเป็น เวียงจันทน์เกมส์




กว่าจะเป็นเวียงจันทน์เกมส์ (ไทยรัฐ)

           มหกรรม กีฬาของชาวอาเซียนใกล้จะเริ่มขึ้น นั่นคือซีเกมส์ครั้งที่ 25 ที่ กรุงเวียงจันทน์  สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว "ฝ่ายข่าวกีฬา ไทยรัฐออนไลน์" จึงถือฤกษ์ครั้งที่ 25 และจัดขึ้นในปี 2552  เริ่มนับถอยหลัง 25 วัน เข้าสู่เกมส์กีฬาครั้งนี้ด้วยการรวบรวมเรื่องราวต่าง ๆ ที่น่าสนใจ เช่น  การเตรียมความพร้อมของชาติต่าง ๆ มารายงานให้แฟน ๆ ทราบแบบสบาย ๆ ผ่านทางคอมลัมน์ สบายดีซีเกมส์ สวัสดีเวียงจันทน์ ทุกเรื่องได้เขียนไว้ล่วงหน้า ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลบางส่วนในภายหลัง โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกฝ่าย ต้องขอกราบขอบพระคุณมา  ณ  ที่นี้  

           สำหรับเรื่องแรกแน่นอนย่อมต้องให้เกียรติเจ้าภาพ   สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  เพราะถือว่าเป็นเจ้าภาพครั้งแรกในการแข่งขันซีเกมส์ วันนี้เราจึงขอเสนอที่มาของการเป็นเจ้าภาพครั้งแรกด้วยเรื่องกว่าจะเป็น เวียงจันทน์เกมส์

           หากจะนับถอยหลังมหกรรมกีฬาแห่งชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ "ซีเกมส์" ครั้งที่ 25 นั้น คงเหลือเวลาอีกประมาณ 25 วัน  ที่กีฬาของชาวอาเซียนจะเปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการที่นครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว)

           เพราะนับตั้งแต่ลาว มั่นใจในศักยภาพของตัวเองพร้อมกับมีแรงสนับสนุนจากประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ  ทำให้ลาวตัดสินใจเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ซีเกมส์ ครั้งที่ 25 ในปี พ.ศ.2552 ต่อที่ประชุมสหพันธ์ซีเกมส์ เมื่อ 4 ปีก่อน และจากนั้นเป็นต้นมาลาวก็เริ่มเตรียมความพร้อมของตัวเองขึ้นทันที






           ซีเกมส์ ครั้งที่ 25 หรือ เวียงจันทน์เกมส์ ได้กำหนดวันแข่งขัน ระหว่างวันที่ 9-18 ธันวาคม พ.ศ.2552  โดยมีมาสคอทหรือตัวนำโชคได้แก่  ช้างเผือกงานิล 2 เชือก เพศผู้ชื่อ จำปา และเพศเมียชื่อ จำปี ซึ่งเป็นชื่อของดอกไม้ประจำชาติ  จึงได้รับคัดเลือกให้เป็นมาสคอทในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 25 อย่างเป็นทางการ

           ส่วนสัญลักษณ์ที่ใช้ในการแข่งขันเป็นการผสม ผสานตัวเลข 25 ซึ่งเป็นจำนวนครั้งที่จัดการแข่งขันของซีเกมส์ขึ้นมา ส่วนพยัญชนะภาษาอังกฤษ L หมายถึงประเทศลาว (LAO) มีแนวคิดสื่อให้เห็นถึงการแข่งขันกีฬาร่วมสมัย อีกทั้งยังทรงความสง่างาม และเผยแพร่ให้เห็นเสน่ห์อันน่าดึงดูดของศิลปะวัฒนธรรม รวมถึงประวัติศาสตร์อันล้ำค่าของประเทศลาวอีกด้วย

           สำหรับ ตราสัญลักษณ์ ซีเกมส์ครั้งที่ 25 เป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบด้านกราฟฟิก เพื่อเผยเอกลักษณ์โดยนำเสนอภาพ "เจดีย์หลวง" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ และสถานที่สำคัญของชาติลาว และรวมเป็นหนึ่งเดียวกับแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นสายน้ำหลักหล่อเลี้ยงประชาชน และสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม รวมถึงความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งแม่น้ำ ยังเปรียบเสมือนสายน้ำแห่งมิตรภาพ และการรวมตัวของประเทศในแถบเอเชีย






           "ความ มีน้ำใจ   ไมตรีจิต  ชีวิตสดชื่น" เป็นถ้อยคำง่าย ๆ แต่ลึกซึ้งด้านความหมาย สื่อถึงประเทศลาว  รวมถึงประเทศทั่วโลกด้วยเช่นกัน  เพราะถ่ายทอดถึงอุดมคติที่ดีของประชาชนเวียงจันทน์ และทั้งประเทศลาว ร่วมกันสรรค์สร้างชุมชนโลกที่สดใส  นอกจากนี้ ยังแสดงถึงศักยภาพ และความเชื่อมั่นของประเทศที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน ซึ่งเป็นหนทางสู่ความล้ำสมัย  เพื่อถ่ายทอดไปสู่ความสงบสุข ความมีมิตรไมตรีในสังคม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นเอง

           ด้วยศักยภาพของลาวที่พร้อมเต็มที่กับการเข้ามาเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ครั้งแรก  เพราะแค่เพียงการเริ่มต้นลาวได้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการก้าวเข้ามา เป็นเจ้าภาพครั้งแรก  ซึ่งเห็นถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจ ของหน่วยงานทุกฝ่ายที่ร่วมมือร่วมใจกัน รวมไปถึงความช่วยเหลือของประเทศต่าง ๆ ที่ยื่นมือเข้ามาช่วยสนับสนุนและผลัก ดันให้ลาวสามารถเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ ครั้งที่ 25 





           ส่วนหัวใจสำคัญของการจัดแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 25 ที่ ลาวรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพนั้น เกิดขึ้นได้เพราะแรงสนับสนุนทั้งกำลังและงบประมาณจากหลายประเทศ ที่ร่วมมือร่วมใจช่วยเหลือเพื่อผลักดันให้ลาวสามารถประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพซีเกมส์

           เริ่มด้วยสนามการแข่งขันซึ่งลาวได้รับความช่วยเหลือจากหลายประเทศ เช่น  สาธารณรัฐประชาชนจีนที่สนับสนุนให้งบประมาณถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3,600 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างสนามกีฬาแห่งชาติแห่งใหม่บนเนื้อที่กว่า 300 ไร่บนที่ดินซึ่งเป็นป่าเสื่อมโทรมในกรุงเวียงจันทน์





          ภายในสนามกีฬาแห่งชาติแห่งใหม่จะประกอบไปด้วย สนามกีฬากลาง, สนามวอร์ม, อินดอร์สเตเดียม 2 หลัง, สระว่ายน้ำ, สนามเทนนิส (เซ็นเตอร์คอร์ต 1 สนามและสนามธรรมดา 6 สนาม), สนามยิงปืน และยังมี สวนสาธารณะ รวมอยู่ด้วย โดยการก่อสร้างได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2550 กำหนดแล้วเสร็จเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ.2552  หรือก่อนการแข่งขัน 6 เดือน และหลังจากการแข่งขันซีเกมส์จบลง รัฐบาลจีนจะจัดสรรงบประมาณอีกก้อนโตในการพัฒนาที่ดินอีกกว่า 2 พันไร่เพื่อสร้างเป็นเขตเศรษฐกิจแห่งใหม่ในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

           ส่วนสนามกีฬาแห่งชาติเดิมที่อยู่ในสภาพทรุดโทรมอย่างมากนั้น  ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากประเทศญี่ปุ่นในการปรับปรุงเพื่อใช้เป็นสนาม แข่งขันด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ เพื่อนบ้านที่เคียงบ่าเคียงไหล่อย่าง เวียดนาม ยังส่งเงินช่วยเหลือในการจัดการแข่งขันอีกจำนวนหลายร้อยล้านบาท





           ด้วยสนามกีฬาที่มีจำกัด ทำให้ลาวสามารถเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันได้ไม่เกิน 25 ชนิดกีฬา โดยเน้นจัดการแข่งขันกีฬาสากลและกีฬาประเภทต่อสู้ซึ่งนักกีฬาลาวมีศักยภาพ ใกล้เคียงนักกีฬาชาติอื่น ๆ ในส่วนของการเตรียมทีมนักกีฬา เจ้าภาพได้เริ่มเตรียมการตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเช่นกัน ด้วยการส่งนักกีฬาส่วนหนึ่งไปฝึกซ้อมที่จีน รวมถึงได้โค้ชจากจีนมาช่วยฝึกนักกีฬาในประเทศด้วย

           ทั้งนี้  บริษัท อาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอร์ตแมนเนจเม้นท์ จำกัด หรือ อาร์เอสบีเอส ของไทย ได้ลงนามร่วมมือกับ บริษัท เพชรจำปา แอดเวอร์ไทด์ซิ่ง จำกัด ของลาว เพื่อร่วมมือกันใน 3 ด้านหลักได้แก่ ด้านการตลาด การจัดตั้งสถานีแม่ข่ายถ่ายทอดโทรทัศน์ และการดำเนินการจัดพิธีเปิด-ปิดการแข่งขันด้วย





           การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันซีเกมส์ครั้งนี้คนลาวตื่นตัวและตั้งใจกับการเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ครั้งนี้มาก ลาวไม่ได้คาดหวังผลกำไรจากการเป็นเจ้าภาพแต่อย่างใด แต่สิ่งสำคัญในการเป็นเจ้าภาพคือ การพัฒนาคนของลาวในทุกๆ ด้านเพื่อสู่ระดับสากล  รวมทั้งต้องการประกาศให้ทุกชาติได้รู้ว่าประเทศเล็กๆอย่างลาวก็สามารถเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันกีฬาระดับอาเซียนได้

           แม้ว่าการแข่งขันจะยังไม่เกิดขึ้น แต่เชื่อว่าทุกสิ่งจะต้องผ่านไปได้ด้วยดีสมกับความรอคอยตลอด 25 ปี ที่ผ่านมา ที่ลาวเฝ้ารอว่าสักวันหนึ่งที่จะขอเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาระดับภูมิภาคให้ได้ และในที่สุดลาวก็สามารถทำได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้                     


  คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
,

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กว่าจะเป็น เวียงจันทน์เกมส์ อัปเดตล่าสุด 2 ธันวาคม 2552 เวลา 18:45:39 28,027 อ่าน
TOP