x close

สนามหลวงเละ ความงามอดีตหายเกลี้ยง

สนามหลวง

สนามหลวงเละ ความงามอดีตหายเกลี้ยง (เดลินิวส์)

มาเฟีย-ค้ากาม ดาหน้ายึดชี้แหล่งรวมสารพัดปัญหา

          "สนามหลวง" โบราณสถานสำคัญของชาติ วันนี้ภาพลักษณ์ย่ำแย่ ความงดงามในอดีตหายเกลี้ยง เหลือแต่ซากความเสื่อมโทรมทิ้งไว้ในใจกลางเมืองหลวง เผยกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สารพัดปัญหาอาชญากรรม-สังคม รุมเร้าตลอด 24 ชั่วโมง แฉพวกค้าประเวณียึดทำเลประวัติศาสตร์ค้ากามโจ่งแจ้งตลอดทั้งคืน ส่วน "มาเฟีย" เก็บค่าที่ขายของในสนามหลวงอ้างส่ง "นาย" ด้านประชาชนคนกรุง-คนทั่วประเทศ เรียกร้องให้รัฐบาลบูรณาการหน่วยงานร่วมกันแก้ไขอย่างเป็นระบบ ทั้ง 16 กลุ่มปัญหาคนใช้ประโยชน์สนามหลวง 

          เมื่อวันที่ 17 ม.ค. กองบรรณาธิการ "เดลินิวส์" ได้รับแจ้งจากประชาชนทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาคต่าง ๆ ว่ามีความรู้สึกเป็นห่วงสนามหลวง ณ วันนี้เป็นอย่างมากเนื่องจากเห็นว่า พื้นที่สนามหลวงในอดีตมีความสวยงาม เป็นสถานที่สำหรับจัดงานรัฐพิธี ราชพิธี ประเพณีสำคัญ ๆ งานของรัฐบาล รวมถึงกิจกรรมของกรุงเทพมหานคร (กทม.) แต่ในปัจจุบันกลายเป็นแหล่งสะสม ปัญหาอาชญากรรมต่าง ๆ อาทิ ค้าประเวณีจี้-ชิงทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย ขู่กรรโชก เป็นต้น  รวมถึงปัญหาสังคม อาทิ คนเร่ร่อนขอทาน ปัญหามลพิษ อาทิ ทิ้งขยะ ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะตามโคนต้นไม้ เป็นต้นซึ่งปัญหาเหล่านี้ได้ทำลายภาพลักษณ์ที่ดีของสนามหลวงเป็นอย่างยิ่ง จึงต้องการให้รัฐบาล เข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ ด้วยการบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมทำงานแก้ไขปัญหากันอย่างจริงจัง
   
          หลังจากได้รับการร้องเรียนทีมข่าว เฉพาะกิจ "เดลินิวส์" ได้ลงพื้นที่สนามหลวง เพื่อดูสภาพที่แท้จริงว่า ณ วันนี้ของสนามหลวงเป็นอย่างไร โดยพบว่าสภาพสนามหลวงในช่วงเช้า กลางวันและเย็นนั้น จะมีประชาชนทุกเพศทุกวัยมาใช้พื้นที่โดยรอบสนามหลวงกันอย่างต่อเนื่อง มีทั้งมายืนรอรถโดยสารประจำทาง นำรถยนต์ส่วนตัวมาจอดค้าขาย ซื้อสินค้า และเที่ยวพักผ่อน เป็นต้น ขณะที่สภาพแวดล้อมโดยทั่วไปนั้นค่อนข้างสกปรกดูรกรุงรังเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งนำผ้าใบมากางเป็นเต็นท์ชั่วคราวอยู่ตามร่มเงาของต้นไม้ บางคนนำรถซาเล้ง รถเข็นมาจอดจับจองพื้นที่ไว้ขายสินค้าและนอนพักผ่อน นอกจากนี้ยังมีเศษขยะชนิดต่าง ๆ ถูกทิ้งเรี่ยราดตามพื้น โดยไม่มีเจ้าหน้าที่หรือคนที่อยู่บริเวณสนามหลวงมาช่วยกันเก็บกวาดแต่อย่างใด

          ทั้งนี้ในช่วงเวลาหัวค่ำจนถึงกลางดึกจะมีกลุ่มคนที่อ้างตัวว่าเป็น "ผู้ดูแลพื้นที่" จัดสรรที่รอบ ๆ สนามหลวงให้พ่อค้า แม่ค้า นำสินค้ามือสองและสินค้าต่าง ๆ หลากหลายชนิดมาวางขายตามพื้น โดยแต่ละร้านนั้นจะต้องเสียค่าจองร้านละ 3,500 บาท ส่วนรายเดือนจ่ายเดือนละ 350 บาท ส่วนรายวันจ่ายวันละ 5 บาท ซึ่งจะมีคนมาเก็บเงินในส่วนนี้ชื่อนายแดง โดยอ้างว่านำเงินส่งให้ "นาย" นอกจากนี้ตามป้ายรถโดยสารประจำทางและใต้ต้นไม้ จะมีกลุ่มคนเร่ร่อนแต่งตัวสกปรกมีกลิ่นเหม็นคลุ้ง เดินมาขอเงินจากประชาชนที่มายืนรอรถโดยสาร หรือผ่านในบริเวณนั้น ซึ่งบางครั้งที่คนทั่วไปไม่ยอมให้เงินก็จะถูกกลุ่มคนพวกนี้ตะโกนต่อว่า หรือไม่ก็ทำร้ายร่างกายด้วย สร้างความหวาดกลัวแก่ประชาชนเป็นอย่างมาก แต่ก็ไม่มีใครเข้าแจ้งความเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย

          สำหรับในช่วงเย็นต่อเนื่องถึงกลางดึกนั้น จะมีผู้หญิงซึ่งเป็นกลุ่มหมอนวดแผนโบราณนำเก้าอี้หรือเสื่อมากางปูตามพื้น รับจ้างนวดแก่คนในบริเวณนั้น ซึ่งบางครั้งหมอนวดบางคนก็ใช้เป็นจุดที่ขายบริการพิเศษอย่างอื่นด้วย ขณะเดียวกันหลังเวลาประมาณ 22.00 น. ไปแล้วนั้นพบว่าบริเวณรอบสนามหลวงจะมีหญิงและสาวประเภทสองมายืนขายบริการกันอย่างโจ่งแจ้ง ซึ่งมี  อายุตั้งแต่ 17-40 ปี โดยจะยืนกันเป็นกลุ่ม ๆ มีการนั่งอยู่บนรถจยย. หรือเดินไปมา เพื่อหาลูกค้าและหลบเลี่ยงเวลาตำรวจมาตรวจพื้นที่

          โดยเทคนิคในการหาลูกค้าของหญิงและสาวประเภทสองขายบริการนั้น มีทั้งการโบกมือให้กับรถที่ผ่านไปมา การรุมพูดคุยกับผู้ที่จะมาใช้บริการ บางครั้งมีการถลกเสื้อให้ดูหน้าอกด้วย เพื่อเรียกร้องความสนใจของลูกค้า ซึ่งเป็นภาพที่อนาถใจและหดหู่เป็นอย่างยิ่ง ที่กลุ่มคนพวกนี้ใช้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และมีประวัติคู่บ้านคู่เมืองมายาวนานเป็นจุดหากินเช่นนี้ จนมีการพูดเปรียบเปรยกันแล้วว่าสนามหลวงเวลานี้เหมือนซ่องกลางกรุง ซึ่งปัญหาเหล่านี้หน่วยงานที่รับผิดชอบควรเข้ามาดำเนินการแก้ไขอย่างเป็นระบบให้มากยิ่งขึ้น เพื่อภาพลักษณ์ที่ดีของสนามหลวงและประเทศไทยในอนาคต

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2552 คณะกรรมการปรับปรุงภูมิทัศน์ สภาพแวดล้อม และปัญหาทางสังคมในพื้นที่สนามหลวงและปริมณฑล ของ กทม. ได้สรุปผลการประชุมและจำแนกกลุ่มคนเร่ร่อนในสนามหลวง หรือที่จำกัดความเรียกกันใหม่ว่าเป็นผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะไว้ 16 กลุ่ม ประกอบด้วย

          1.กลุ่มผู้ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน
          2.กลุ่มผู้ตกงาน
          3.กลุ่มโรคสมองเสื่อม
          4.กลุ่มติดสุราเรื้อรังและติดยาเสพติด
          5.กลุ่มปัญหาสุขภาพอื่น ๆ
          6.กลุ่มขอทาน
          7.กลุ่มคนแก่ถูกทอดทิ้ง
          8.กลุ่มคนมีปัญหาครอบครัว
          9.กลุ่มไม่มีบ้าน
          10.กลุ่มขายบริการทางเพศ
          11.กลุ่มขายยาเสพติด
          12.กลุ่มผู้พ้นโทษ
          13.กลุ่มคนอยากเร่ร่อน
          14.กลุ่มผู้มีอิทธิพล
          15.กลุ่มครอบครัวเร่ร่อน
          และ 16. กลุ่มเด็กเร่ร่อน

          นอกจากนี้ยังมีปัญหานกพิราบ ปัญหาหาบเร่แผงลอย ปัญหากายภาพ และปัญหากิจกรรมที่จัดในพื้นที่ ซึ่งในแต่ละปัญหานั้นได้มีการวางแนวทางแก้ไขไว้แต่ทาง กทม. ได้เน้นให้ใช้หลักการสมัครใจและอะลุ้มอล่วย ไม่ใช้ความรุนแรงเด็ดขาด ทำให้การทำงานค่อนข้างล่าช้า แต่ก็ได้มีการตั้งคณะทำงาน 9 ชุด ขึ้นมารับผิดชอบ ดังนี้

          1.ด้านการจัดให้มีบัตรประจำตัวประชาชน
          2.ด้านดูแลผู้ค้าหาบเร่แผงลอย
          3.ด้านดูแลผู้เร่ร่อนที่มีปัญหาสุขภาพ
          4.ด้านการแก้ปัญหานกพิราบ
          5.ด้านการส่งเสริมอาชีพและเพิ่มรายได้
          6.ด้านเฝ้าระวังผู้กระทำผิดคดีอาญา
          7.ด้านดูแลครอบครัว-เด็กเร่ร่อน คนไร้บ้าน
          8.ด้านกายภาพ
          และ 9.ด้านประชาสัมพันธ์ โดยมี ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯกทม. เป็นประธานการทำงาน

          สำหรับสนามหลวงเดิมเรียกว่า ทุ่งพระเมรุ เนื่องจากใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดิน และพระบรมวงศานุวงศ์ ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2398 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเรียกจาก "ทุ่งพระเมรุ" เป็น "ท้องสนามหลวง" และทรงโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีพืชมงคล พิธีพิรุณศาสตร์ด้วย ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ใช้สนามหลวง  เป็นที่ประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การฉลองพระนครครบ 100 ปี งานฉลองเมื่อเสด็จ  พระราชดำเนินกลับจากยุโรปใน พ.ศ. 2440 และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎ  เกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ ใช้เป็นสนามแข่งม้า สนามกอล์ฟ

          ต่อมามีการใช้สนามหลวงในการเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มคนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง แต่ในรัชกาลปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีการใช้สนามหลวงเป็นที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญ ๆ เช่น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี พระราชพิธีกาญจนาภิเษก รวมทั้งงาน พระเมรุมาศเจ้านายระดับสูง โดยสนามหลวง ซึ่งมีเนื้อที่ 74 ไร่ 63 ตารางวา เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ โดยกรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 94 ตอนที่ 126 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2520




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก wikipedia
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สนามหลวงเละ ความงามอดีตหายเกลี้ยง อัปเดตล่าสุด 19 มกราคม 2553 เวลา 09:37:40 16,693 อ่าน
TOP