เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
รัฐประหาร คืออะไร ปฏิวัติ กับ รัฐประหาร ต่างกันอย่างไร มาดู ความหมาย รัฐประหาร ปฏิวัติ กัน
จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ผอ.รส.) พร้อมด้วย ผบ.เหล่าทัพ และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้แถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ระบุว่า จำเป็นต้องเข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศตั้งแต่นี้เป็นต้นไป โดยขอให้ประชาชนอยู่ในความสงบ ดำเนินชีวิตตามปกติ โดยตนจะเป็นผู้รับผิดชอบทุกประการ
หลังจากที่เพิ่งประกาศ "กฎอัยการศึก" ไปเมื่อเวลา 03.00 น. ของวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และนำความสงบสุขกลับคืนสู่ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายโดยเร็วนั้น ทำให้หลาย ๆ คนอาจสงสัยว่า รัฐประหาร คืออะไร ซึ่งตามมาด้วยคำถามที่ว่า รัฐประหาร ต่างจาก ปฏิวัติ อย่างไร วันนี้เรามีคำตอบมาบอกกันค่ะ
รัฐประหารคืออะไร
รัฐประหาร หรือ การรัฐประหาร (Coup d'état) คือ การยึดอำนาจโดยวิธีการที่ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ แต่ยังคงใช้รัฐธรรมนูญฉบับเก่าต่อไป หรือประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในระยะเวลาไม่นานนัก เช่น หากทหารเห็นว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งบริหารประเทศชาติผิดพลาด และจำเป็นต้องบังคับให้รัฐบาลพ้นจากอำนาจ จึงใช้กำลังบังคับให้ออกจากตำแหน่ง โดยประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ หรือประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายในเวลาที่กำหนด ลักษณะนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นการก่อรัฐประหาร ทั้งนี้ หากความพยายามในการก่อรัฐประหาร ไม่ประสบความสำเร็จ ผู้ก่อการมักถูกดำเนินคดีในข้อหากบฏ
ปฏิวัติ คืออะไร
ส่วน ปฏิวัติ (Revolution) คือ การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองทั้งหมด โดยมีการยกเลิกระบอบเดิมและใช้ระบอบใหม่ หรือรื้อโครงสร้างเดิม สำหรับในประเทศไทยเคยเกิดการปฏิวัติทางการเมืองขึ้นเพียงครั้งเดียว คือ การปฏิวัติสยาม เมื่อในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นการปฏิวัติการปกครอง โดยเปลี่ยนระบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monachy) กลายเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (Constitutional Monarchy)
ภาพโดย ทวิตเตอร์ @news1005fm
ปฏิวัติ กับ รัฐประหาร ต่างกันอย่างไร
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าความหมายของ ปฏิวัติ กับ รัฐประหาร ต่างกัน รวมถึงการปฏิบัติก็ต่างกัน อย่างไรก็ตาม รัฐประหารในประเทศไทยเกิดมาแล้ว 13 ครั้ง (รวมครั้งนี้) ได้แก่
1. รัฐประหาร 1 เมษายน พ.ศ. 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา
2. รัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 นำโดย พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ยึดอำนาจรัฐบาล พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
3. รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
4. รัฐประหาร 6 เมษายน พ.ศ. 2491 คณะนายทหารกลุ่มที่ทำการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 จี้บังคับให้ นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมอบตำแหน่งต่อให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
5. รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 นำโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
6. รัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500 นำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม
7. รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 นำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร (ตามที่ตกลงกันไว้)
8. รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 นำโดย จอมพลถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
9. รัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
10. รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร
11. รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
12. รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
13. รัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นการประกาศรัฐประหารเพื่อให้รัฐมนตรีรักษาการทั้งหมดหมดอำนาจ และเปลี่ยนผ่านสู่การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- mh.ac.th