x close

เรื่องน่ารู้...สายอะไรพาดอยู่บนเสาไฟฟ้าบ้าง


เรื่องน่ารู้...สายอะไรพาดอยู่บนเสาไฟฟ้าบ้าง
เรื่องน่ารู้...สายอะไรพาดอยู่บนเสาไฟฟ้าบ้าง


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ทวิตเตอร์ @MEA_NEWS

              บนเสาไฟฟ้าหนึ่งต้นมีสายอะไรพาดผ่านอยู่บ้าง แล้วสายที่ชอบพันกันระโยงระยางไปหมดคือสายอะไรล่ะ มีความรู้ติดตัวไว้บ้าง ก็ไม่เสียหายนะจ๊ะ

              ถ้าแหงนขึ้นไปมองเสาไฟฟ้า คนที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องไฟฟ้าอย่างคนธรรมดาทั่วไป คงไม่รู้หรอกว่าสายสีดำ ๆ ที่พาดระโยงระยางจากเสาต้นหนึ่งไปอีกต้นหนึ่งเต็มไปหมดคือสายอะไรกันแน่ พอรู้แค่ว่ามีทั้งสายไฟฟ้าแรงสูง และสายโทรศัพท์ แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสายไหนเป็นสายอะไร เพื่อที่เมื่อเห็นความผิดปกติเกิดขึ้นจะได้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ทันท่วงที วันนี้มีคำตอบค่ะ

              โดยข้อมูลจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ระบุว่า เสาไฟฟ้าหนึ่งต้นจะมีสายพาดผ่านอยู่ 3 ชนิด คือ สายไฟฟ้าแรงสูง สายไฟฟ้าแรงต่ำ และสายสื่อสารโทรคมนาคม ลองมารู้จักกันทีละสาย

เรื่องน่ารู้...สายอะไรพาดอยู่บนเสาไฟฟ้าบ้าง

1. สายไฟฟ้าแรงสูง

              ตามปกติแล้ว สายไฟฟ้าแรงสูงคือ ระบบไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟฟ้าระหว่างสายไฟฟ้าสูงเกินกว่า 1,000 โวลต์ขึ้นไป สำหรับสายไฟฟ้าแรงสูงของ กฟน. นี้ คือสายที่อยู่ด้านบนสุดของเสาไฟฟ้า ปัจจุบันจ่ายด้วยระบบแรงดันไฟฟ้าขนาดตั้งแต่ 12,000-115,000 โวลต์ เป็นส่วนใหญ่ และมีการจ่ายด้วยระบบ 230,000 โวลต์อยู่บ้าง

              ทั้งนี้ กฟน. ได้กำหนดมาตรฐานระยะห่างระหว่างสายไฟฟ้าในแนวนอน กับสิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณา เพื่อความปลอดภัยไว้ดังนี้

                   - สายไฟฟ้าขนาดแรงดันไฟฟ้า 12,000-24,000 โวลต์ ต้องอยู่ห่างจากอาคารและระเบียงมากกว่า 1.8 เมตร อยู่ห่างจากป้ายโฆษณามากกว่า 1.5 เมตร

                   - สายไฟฟ้าขนาดแรงดันไฟฟ้า 69,000 โวลต์ ต้องอยู่ห่างจากอาคารและระเบียงมากกว่า 2.13 เมตร อยู่ห่างจากป้ายโฆษณามากกว่า 1.8 เมตร

                   - สายไฟฟ้าขนาดแรงดันไฟฟ้า 115,000 โวลต์ ต้องอยู่ห่างจากอาคารและระเบียงมากกว่า 2.3 เมตร อยู่ห่างจากป้ายโฆษณามากกว่า 2.3 เมตร

              อย่างไรก็ตามระยะดังกล่าวไม่ครอบคลุมการทำงานนอกตัวอาคาร หรือบนระเบียงเปิดที่อาจมีการยื่นวัตถุออกนอกตัวอาคาร ซึ่งจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานระยะห่างที่ปลอดภัยสำหรับการทำงาน หรือจะต้องมีการหุ้มหรือคลุมสายเพื่อความปลอดภัย

              แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าสายไฟฟ้าแรงสูงนั้นมีระดับแรงดันเท่าใด สามารถสังเกตได้ 2 วิธี คือ

                   - ดูจำนวนชั้นของลูกถ้วยคว่ำ ซึ่งก็คือฉนวนไฟฟ้าที่ทำด้วยกระเบื้องเคลือบเป็นชั้น ๆ ถ้ามี 2-3 ชั้น แสดงว่ามีแรงดันขนาด 12,000-24,000 โวลต์, ถ้ามี 4 ชั้น แสดงว่ามีแรงดันขนาด 69,000 โวลต์, ถ้ามี 7 ชั้น แสดงว่ามีแรงดันขนาด 115,000 โวลต์ และถ้ามี 14 ชั้น แสดงว่ามีแรงดันขนาด 230,000 โวลต์

                   - สังเกตจากความสูงของสายไฟฟ้าเทียบอาคาร ถ้าระดับความสูงประมาณอาคารชั้นที่ 2-3 แสดงว่ามีแรงดันขนาด 12,000-24,000 โวลต์, ถ้าอาคารชั้นที่ 4-5 แสดงว่ามีแรงดันขนาด 69,000-115,000 โวลต์ และถ้าสูงตั้งแต่อาคารชั้น 6 ขึ้นไป แสดงว่ามีแรงดันขนาด 230,000 โวลต์

2. สายไฟฟ้าแรงต่ำ

              เป็นสายไฟฟ้าที่อยู่ชั้นถัดลงมาสายไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งปัจจุบัน กฟน. จ่ายด้วยระบบแรงดันไฟฟ้าขนาด 230 และ 400 โวลต์

เสาไฟฟ้า

3. สายสื่อสารโทรคมนาคม

              เป็นสายที่อยู่ชั้นล่างสุดของเสาไฟฟ้า ประกอบไปด้วยสายโทรศัพท์ สายเคเบิลทีวี สายอินเทอร์เน็ต ฯลฯ จากหลากหลายผู้ประกอบการ นั่นจึงทำให้เราเห็นว่าในบางพื้นที่ สายสื่อสารเหล่านี้มีจำนวนมาก พาดระโยงระยางห้อยพันกันวุ่นไปหมด บางจุดก็ห้อยลงมาแทบจะชิดตัวบ้าน หรือห่างจากถนนเพียงไม่กี่เมตรเท่านั้น ดูแล้วชวนให้หวาดเสียวว่าอาจเป็นอันตรายต่อผู้ที่สัญจรบนท้องถนนได้

              อย่างไรก็ดี ภายหลังหน่วยงานต่าง ๆ ก็ได้ร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าภูมิภาค พยายามจัดระเบียบสายสื่อสารโทรคมนาคมเหล่านี้เสียใหม่ โดยนำสายที่ไม่มีการใช้งานออกไปจากเสาไฟฟ้า เพื่อให้เกิดพื้นที่สำหรับผู้ที่ต้องการติดตั้งเส้นใหม่ อีกทั้งยังเป็นการปรับปรุงทัศนียภาพให้น่ามองมากขึ้น และเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน รวมทั้งผู้คนที่เดินผ่านตามจุดต่าง ๆ ด้วย

              จำกันได้แล้วใช่ไหมคะ ว่าสายไฟฟ้าแรงสูงจะอยู่ชั้นบนสุด รองลงมาคือสายไฟฟ้าแรงต่ำ ส่วนสายชั้นล่างสุดที่เรามักเห็นพันกัน บ้างก็ห้อยลงมาจนเกือบติดพื้นก็คือบรรดาสายโทรศัพท์ สายเคเบิล สายอินเทอร์เน็ตทั้งหลายนั่นเอง ทีนี้ถ้าเกิดเราเห็นสายไหนชำรุด หรือเกิดความผิดปกติขึ้น ก็คงสามารถโทรแจ้งผู้ให้บริการได้ถูกต้องแล้ว


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
การไฟฟ้านครหลวง



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรื่องน่ารู้...สายอะไรพาดอยู่บนเสาไฟฟ้าบ้าง อัปเดตล่าสุด 5 ธันวาคม 2557 เวลา 10:13:54 52,283 อ่าน
TOP