x close

มาดู..บทลงโทษคดีข่มขืน ตามกฎหมายกำหนดไว้อย่างไรบ้าง ?



บทลงโทษคดีข่มขืน

          ตามมาดูบทลงโทษคดีข่มขืน ตามกฎหมายกำหนดบทลงโทษอย่างไรบ้าง หลังมีการเรียกร้องปรับโทษ ข่มขืน = ประหาร

          เป็นอีก 1 คดีสะเทือนขวัญที่น่าสลดใจ เมื่อคุณครูสาวถูกข่มขืนและฆ่าอย่างโหดเหี้ยมที่จังหวัดสระบุรี ซึ่งผู้ก่อเหตุเพิ่งพ้นโทษออกมาได้ไม่นาน โดยคดีนี้เป็นที่จับตามองและในโลกโซเชียลมีการเรียกร้องให้ปรับโทษข่มขืนแล้วฆ่า เป็นโทษประหารชีวิตสถานเดียวเท่านั้น อย่างไรก็ตามหากพิจารณาแต่เฉพาะข้อเท็จจริงตามที่มีข่าวนำเสนอของคดีนี้ น่าจะเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาที่ระบุไว้ในลักษณะ 9 ความผิดเกี่ยวกับเพศ ว่าด้วยเรื่องของการข่มขืน
          มาตรา 276 มีใจความว่า “ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่นต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 8,000 บาท ถึง 40,000 บาท

          โดยที่มาตรา 276 วรรค 2 ได้ให้ความหมายของการข่มขืนกระทำชำเราไว้ว่า การกระทำชำเราตามวรรคหนึ่ง หมายความว่าการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดย การใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น

          มาตรา 276 วรรค 3 กำหนดไว้ว่า ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง หรือกระทำกับชายในลักษณะเดียวกันต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 15 ปีถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 30,000 บาท ถึง 40,000 บาท หรือจำคุกตลอดชีวิต

          มาตรา 277 ทวิ มีใจความว่า ถ้าข่มขืนตาม มาตรา 276 จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำ

          (1) รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 15 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 30,000 บาท ถึง 40,000 บาท หรือจำคุกตลอดชีวิต
          (2) ถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต


          มาตรา 277ตรี ถ้าข่มขืนโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือระเบิดตาม มาตรา 276 วรรคสาม เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำ

          (1) รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
          (2) ถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต

          ถ้าพิจารณาจากตัวบทกฎหมาย การข่มขืนผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำนั้นถึงแก่ความตาย จะมีโทษหนักอยู่ 2 สถาน คือ ประหารชีวิต กับจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งนับว่าเป็นโทษที่หนักที่สุด แต่อย่างไรก็ดีมีข้อข้องใจของประชาชนทั่วไปว่า ในเมื่อกฎหมายกำหนดโทษไว้แบบนี้แล้ว แต่ในความเป็นจริงทำไมผู้กระทำความผิดฐานข่มขืนกลับติดคุกแค่เพียง 2 ปีเท่านั้น กล่าวคือในการพิจารณาตัดสินคดีเรื่องของความรับผิดทางอาญานั้น สามารถหยิบยกเหตุบรรเทาโทษ เหตุยกเว้นโทษ เหตุยกเว้นความผิด ลดหย่อนโทษ เพิ่มโทษ หรือชะลอการลงโทษ มาพิจารณาร่วมด้วยว่ามีเหตุให้สามารถกระทำการลดหรือเพิ่มโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่นั่นเอง

          ซึ่งเรามักจะได้ยินประโยคนี้อยู่บ่อยครั้ง เช่น "เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ และไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน เห็นสมควรลดโทษกึ่งหนึ่ง" เป็นต้น อย่างไรก็ตามในคดีสะเทือนขวัญดังกล่าวมีการกระทำความผิดเดิมซ้ำอีก จำเลยน่าจะไม่ได้ลดโทษอีกต่อไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่จะต้องไปพิสูจน์กันในชั้นศาล และศาลยุติธรรมเท่านั้นที่จะเป็นผู้พิจารณาตัดสินคดี


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มาดู..บทลงโทษคดีข่มขืน ตามกฎหมายกำหนดไว้อย่างไรบ้าง ? อัปเดตล่าสุด 8 กรกฎาคม 2559 เวลา 17:24:10 97,985 อ่าน
TOP