x close
hilight > ข่าวฮิตสังคมออนไลน์

เปิดข้อกฎหมาย ปมร้อน พล.ต.อ. สันต์ อนุญาตให้ ยุวเรต ใช้นามสกุล ศรุตานนท์

| 135,257 อ่าน

เปิดข้อกฎหมาย ปม พล.ต.อ. สันต์ ให้ ยุวเรต ใช้นามสกุล ศรุตานนท์ การอนุญาต, เงื่อนไขต่าง ๆ และใครคือคนได้รับมรดก
จากกรณีกระแสข่าวร้อนเรื่องความสัมพันธ์ของ พล.ต.อ. สันต์ ศรุตานนท์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ ยุวเรต ศรุตานนท์ ไฮโซสาวสวย ที่เปิดตัวเป็นสาวข้างกายของ พล.ต.อ. สันต์ กระทั่งต่อมาคุณหญิงเกิดศิริ ศรุตานนท์ ได้ส่งจดหมายชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่าตนยังไม่ได้หย่าร้างกับ พล.ต.อ. สันต์ งานนี้ทำเอางงกันทั้งโซเชียลว่าเรื่องนี้มีเงื่อนงำอะไร
โดยทาง พล.ต.อ. สันต์ ก็ออกมาชี้แจงในงานวันคล้ายวันเกิดอายุครบ 72 ปี ของตัวเองว่า ไม่ใช่การจดทะเบียนสมรส ถ้าจดทะเบียนซ้อนจะผิดกฎหมาย ทำไม่ได้ อันที่สอง จะจดบุตรบุญธรรม ก็ทำไม่ได้ ต้องให้ภรรยาเซ็นด้วย สุดท้ายก็เลยขอให้ใช้นามสกุล ซึ่งกว่าจะได้มาก็ถือว่ายากมาก
ล่าสุด วันที่ 26 ธันวาคม 2559 กระปุกดอทคอม ก็ขอเปิดข้อกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียนสมรส, การรับเป็นบุตรบุญธรรม และการให้ใช้นามสกุล ดังนี้
- ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้ (ปพพ. มาตรา 1452) หากจดทะเบียนสมรสซ้อนการจดทะเบียนในครั้งหลังถือเป็นโมฆะ กล่าวคือ ไม่มีผลมาตั้งแต่ต้น
- การจดทะเบียนสมรสซ้อน ผู้ที่จดทะเบียนซ้อนมีความผิดอาญาฐานแจ้งความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ดีกรณีที่ พล.ต.อ. สันต์ ออกมาบอกว่าตนไม่ได้จดทะเบียนสมรสซ้อนแล้ว การให้ ยุวเรต ใช้นามสกุล ศรุตานนท์ อาจจะเอ็นดูเหมือนลูก และรับเป็นบุตรบุญธรรมก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดไว้ดังนี้
- มาตรา 1598/19 บุคคลที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีจะรับบุคคลอื่นเป็นบุตรบุญธรรมก็ได้ แต่ผู้นั้นต้องมีอายุแก่กว่าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี (พล.ต.อ. สันต์ อายุ 72 ปี ยุวเรต 31 ซึ่งข้อนี้ผ่าน)
- และมาตรา 1598/28 บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น ซึ่งเงื่อนไขของการรับบุตรบุญธรรมนั้นจะติดข้อกฎหมาย ดังนี้
- มาตรา 1598/25 ผู้จะรับบุตรบุญธรรมหรือผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม ถ้ามีคู่สมรสอยู่ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน (คุณหญิงเกิดศิริ เป็นคู่สมรส ไม่ยินยอมด้วยก็รับเป็นบุตรบุญธรรมไม่ได้)
สำหรับเรื่องการให้ใชนามสกุลนั้น น่าจะปรับเข้าได้กับ พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 กล่าวให้เข้าใจง่าย ๆ คือ เจ้าของนามสกุลมีสิทธิ์ที่จะอนุญาตให้ใครใช้นามสกุลของตนก็ได้ ดังนี้
- มาตรา 11 ผู้จดทะเบียนตั้งชื่อสกุลจะอนุญาตให้ผู้มีสัญชาติไทยผู้ใดร่วมใช้ชื่อสกุลของตนก็ได้ โดยยื่นคำขอต่อนายทะเบียนท้องที่ในท้องที่ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร
- การอนุญาตตามมาตรานี้จะสมบูรณ์ต่อเมื่อนายทะเบียนท้องที่ได้ออกหนังสือสำคัญแสดงการอนุญาตให้ใช้ชื่อสกุลให้แก่ผู้ที่จะใช้ชื่อสกุลนั้น
- ในกรณีที่ผู้จดทะเบียนตั้งชื่อสกุลเสียชีวิตแล้ว ให้ผู้สืบสันดานของผู้จดทะเบียนตั้งชื่อสกุลในลำดับที่ใกล้ชิดที่สุดซึ่งยังมีชีวิตอยู่และใช้ชื่อสกุลนั้นมีสิทธิ์อนุญาตตามวรรคหนึ่ง
นอกจากนี้เมื่อมองไปถึงเรื่องมรดกนั้น ภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์ แต่ท่านอื่นก็อาจได้รับมรดกด้วยก็ได้ถ้าระบุในพินัยกรรม ว่ามอบทรัพย์สินให้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดข้อกฎหมาย ปมร้อน พล.ต.อ. สันต์ อนุญาตให้ ยุวเรต ใช้นามสกุล ศรุตานนท์ อัปเดตล่าสุด 27 ธันวาคม 2559 เวลา 11:58 135,257 อ่าน
TOP