x close

คมนาคมแจงวุ่นใช้ ม.44 สร้างรถไฟไทย-จีน ทำไทยเสียหายยับ


สร้างรถไฟไทย-จีน

         กระทรวงคมนาคม ไขข้อข้องใจ ทำไมใช้ ม.44 สร้างรถไฟไทย-จีน ชี้เพื่อประโยชน์ในภาพรวมของประเทศ พร้อมแจงเรื่องการอนุญาตให้สถาปนิกจากจีนเข้ามาทำงานได้โดยไม่ต้องขอรับใบอนุญาต

         เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจิรุตม์ วิศาลจิตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ในฐานะโฆษกกระทรวง ขอชี้แจงประเด็นกรณีนายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เดินหน้าโครงการรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ทำให้มีบุคคลต่าง ๆ ในสังคมออกมาวิพากษ์วิจารณ์ โดยนายจิรุตม์ ได้ชี้แจงแต่ละประเด็นดังต่อไปนี้
         1. กรณีนายดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกชื่อดัง ระบุการใช้ มาตรา 44 ในการอนุญาตให้สถาปนิกจากจีนเข้ามาทำงานได้โดยไม่ต้องขอรับใบอนุญาตนั้นแม้ว่าจะอนุญาตให้เป็นการเฉพาะ แต่ก็เป็นการเปิดช่องให้สถาปนิกจากชาติอื่นเข้าเจรจาภายใต้หลักการว่าด้วยการไม่เลือกปฏิบัติของ WTO ทำให้สถาปนิกทุกชาติทั่วโลกในสนธิสัญญา WTO เข้ามาปฏิบัติวิชาชีพในไทยได้อย่างเสรีทันที โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตปฏิบัติวิชาชีพ ทำให้คนไทยที่ประกอบอาชีพนี้เดือดร้อน 

         ตอบ : การดำเนินการดังกล่าวก็เพื่อให้ฝ่ายจีนเข้ามาดำเนินโครงการตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 (MOU) เท่านั้น ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นสนธิสัญญา WTO แต่อย่างใด

         2. นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศจีน จะส่งผลให้นานาประเทศที่มีเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงขาดโอกาสในการแข่งขันและจะส่งผลตามมาอย่างร้ายแรง คือ ประเทศไทยจะขาดความเชื่อมั่นในสังคมโลก กระบวนการในระบบกฎหมายของไทยไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม โดยเฉพาะในการทำนิติสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

     ตอบ : ตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 (MOU)  รัฐบาลไทยได้ตกลงให้รัฐบาลจีนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐาน เส้นทางหนองคาย-แก่งคอย-โคราช-ท่าเรือมาบตาพุด และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ การดำเนินการจึงสอดคล้องกับบันทึกความเข้าใจดังกล่าวโดยไม่ขัดกับหลักการนิติสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

         3. นายดิสพล ผดุงกุล นายกสมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย (วศรท.) ถามสามประเด็น ประกอบด้วย ข้อ (1.) การทำโครงการรถไฟความเร็วสูงไม่คุ้มกับการลงทุน คิดเฉลี่ยรัฐบาลจะมีรายได้ประมาณ 10 ล้านบาทต่อวัน จากการให้บริการประชาชนประมาณ 10,000 คนต่อวัน ในขณะที่มีการลงทุนในโครงการประมาณ 200,000-300,000 ล้านบาท

         ตอบ : โครงการรถไฟความเร็วสูง เป็นโครงการให้บริการด้านขนส่งมวลชนซึ่งไม่ได้มุ่งเน้นเพื่อการหารายได้จากค่าโดยสาร แต่การพัฒนาเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงพื้นที่ภูมิภาคจะส่งผลต่อการพัฒนาเมืองและการกระจายความเจริญ ซึ่งเป็นผลประโยชน์ในภาพรวมต่อเศรษฐกิจของประเทศ

 
         (2.) การใช้วิศวกรจีนทั้งหมดเข้ามาทำงาน โดยยกเว้นให้ไม่ต้องขึ้นทะเบียนตาม พ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ. 2542 เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง

         ตอบ : ในการยกเว้น พ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ. 2542 มาตรา 45, 47 และ 49 คำสั่งคณะหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ ได้ระบุให้มีการอบรมและทดสอบตามความเหมาะสมเพื่อให้เกิดประโยชน์

         (3.) ไม่เชื่อมั่นในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของจีน เพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จีนยังเคยมีเหตุการณ์รถไฟตกราง

         ตอบ : รถไฟความเร็วสูงของประเทศจีนมีการดำเนินการมาแล้วถึงกว่า 20,000 กิโลเมตร และเป็นโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงขนาดใหญ่ที่สุดโดยมีมาตรฐานความปลอดภัยที่เป็นสากล หากเทียบสถิติการเกิดอุบัติเหตุต่อระยะทางการเดินรถรวมทั้งหมด จะมีสัดส่วนที่น้อยมาก ซึ่งไม่แตกต่างจากระบบที่ได้รับการพัฒนา
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คมนาคมแจงวุ่นใช้ ม.44 สร้างรถไฟไทย-จีน ทำไทยเสียหายยับ อัปเดตล่าสุด 19 มิถุนายน 2560 เวลา 15:37:44 27,337 อ่าน
TOP