
แฟนพันธุ์แท้ดาราศาสตร์ ชี้แจงละเอียดยิบ ความหมายของ "หมอกธุมเกตุ" หลังเกิดขึ้นในวันสำคัญของในหลวง ร.9 แท้จริงแล้วคือหมอกที่เกิดจากดาวหาง..
วันนี้ (15 ตุลาคม 2560) เพจเฟซบุ๊ก Spaceth.co คือกลุ่มคนหรือแฟนพันธุ์แท้ที่รักและชื่นชอบในข่าวสารด้านการสำรวจอวกาศ ดาราศาสตร์ และเทคโนโลยีอวกาศ ได้มีการออกมาอธิบายถึงความหมายที่แท้จริงของคำว่า "หมอกธุมเกตุ" หลังเกิดปรากฏการณ์ในวันที่ 13 ตุลาคม 2559 วันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รวมถึงวันที่ 13 ตุลาคม 2560 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปี ของการสวรรคตด้วย

โดยเนื้อหาทั้งหมดระบุว่า..
หมอกธุมเกตุ แท้จริงแล้วเป็นหมอกที่เกิดจากดาวหางปรากฏให้เห็นบนท้องฟ้า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 นั้นไม่ใช่หมอกธุมเกตุ
ทางทีมงาน Spaceth.co ได้ทำการสอบถามข้อมูลจากคุณ Amaresh Kalaputra ผู้ได้ทำการเขียนอธิบายคำ "ธุมเกตุ" ไว้ในกลุ่มเฟซบุ๊กภาษาและวรรณคดีสันสกฤต ได้ความว่าแท้จริงแล้วคำว่าธุมเกตนั้น ประกอบมาจากคำว่า ธูม แปลว่าควัน หรือไอน้ำ และคำว่าเกตุ หมายถึงดาวหาง ธง หรือเปลวไฟอันมีแสงสว่าง
ทางทีมงานได้สอบถามการอ้างอิงเพิ่มเติมจากสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้ข้อมูลมาว่า ธุมเกตุ หรือ ธูมเกตุ นั้น แปลว่า ไฟ, ดาวหาง, ดาวตก, สิ่งที่เป็นหมอกเป็นควันเกิดขึ้นในอากาศผิดธรรมดามีรูปคล้ายธง เป็นต้น
ดังนั้น ธูมเกตุ หรือ ธุมเกต มีความหมายว่า ดาวหางซึ่งหางของมันก็คือฝุ่นละอองหรือไอน้ำที่ได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์ปรากฏให้เห็นในขณะที่มันเคลื่อนที่เข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน โดยมนุษย์เราคุ้นชินกับการเห็นดาวหางมาในเวลาช้านาน และเป็นเรื่องราวปรากฏอยู่ในทุกวัฒนธรรมและเชื้อชาติ
ในเรื่อง "สี่แผ่นดิน" ก็ได้มีการเขียนเรื่องราวว่า มีดาวหางดวงใหญ่สว่างปรากฏให้เห็นบนท้องฟ้า นับว่าเป็นลางบอกเหตุร้าย ตรงกับช่วงที่คุณเปรมกลับจากวังแล้วบอกแม่พลอย ถึงข่าวพระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก่อนที่จะสวรรคตในไม่กี่วันถัดมา

คุณ Amresh อธิบายเพิ่มเติมว่า "หมอกธุมเกตุ" ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ในวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 นั้น เป็นการหยิบคำจากเรื่องสี่แผ่นดินมาใช้โดยไม่ได้ศึกษาถึงความหมายที่แท้จริงเสียก่อน ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดในที่มาของคำได้
สรุปได้ว่า ตามที่ได้มีการอ้างปรากฏการณ์หมอกธุมเกตุว่าเคยเกิดขึ้นครั้งเมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตนั้น หมายถึงลางบอกเหตุจากปรากฏการณ์บนท้องฟ้า มิใช่ปรากฏการณ์หมอกบดบังแสงบนพื้นดินตามที่เข้าใจกัน
ทีมงาน Spaceth.co ทำการวิเคราะห์เพิ่มเติมว่าเนื่องจากปรากฏการณ์ดาวหางและดาวตก อาจยังไม่เป็นที่เข้าใจและถูกจำแนกว่าเป็นคนละปรากฏการณ์กัน คำว่าธุมเกตุ ถึงถูกใช้ในการเรียกดาวหางด้วยเช่นกัน ทั้งที่ตามบริบทแล้ว ธุมเกต น่าจะนำมาใช้อธิบายปรากฏการณ์ผีพุ่งไต้, ดาวตก มากกว่า เนื่องจากมีคำที่บ่งบอกถึง ควันและการเผาไหม้
Spaceth.co ได้นำเรื่องราวนี้มาบอกเล่าก็เพื่อเตือนให้สังคมร่วมกันใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องโดยศึกษาข้อมูลก่อนการหยิบคำมาใช้โดยเฉพาะคำยากอันเป็นมรดกทางภาษาที่ทรงคุณค่าและสามารถบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ไว้ได้
ขอบคุณที่มาจากบทวิเคราะห์ กลุ่มเฟซบุ๊กภาษาและวรรณคดีสันสกฤต และพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน สำนักงานราชบัณฑิตยสภา
อ้างอิงตามพจนานุกรมจาก http://www.royin.go.th/dictionary/

ภาพและข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Spaceth.co, ชมรมคนรักพระมหากษัตริย์ของชาติไทย, Artit Neamnak